'ทาทา สตีล'พลิกขาดทุน 46 ล้าน ยอดขายลด-ราคาเหล็กวูบ

26 ก.ค. 2560 | 11:23 น.
"ทาทา สตีล" แจ้งงบไตรมาส 1 ขาดทุน 46 ล้านบาท เหตุราคาเหล็กลดลง ยอดขายลดฮวบ 85% จากงวดปีก่อนและลดลง 20% จากไตรมาสก่อนหน้า

บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TSTH แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2560 ขาดทุนสุทธิ 46.09 ล้านบาท ขาดทุน 0.01 บาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 216.47 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.03 บาท

นายจารีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2561 (เม.ย.-มิ.ย.2560) ราคาเหล็กลดลงจากไตรมาส 4/2559 (ม.ค.-มี.ค.2560) ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการบริโภคที่ลดลง รวมถึงความเชื่อมั่นของตลาดโดยรวมในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนยังไม่ค่อยดีนัก ความต้องการเหล็กในประเทศจีนยังคงแข็งแกร่ง เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้มีการดึงวัตถุดิบเข้าสู่ประเทศจีนที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งแร่เหล็กและถ่านหินทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้เพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบทำให้ราคาเศษเหล็กยังคงมีราคาสูงในระหว่างไตรมาสและมีผลกระทบต่อผลต่างราคาขายและวัถตถุดิบในด้านลบ อย่างไรก็ตามในด้านบวกมีปริมาณการส่งออกเหล็กจากจีนที่ลดลงอย่างมาก ช่วยให้ปริมาณการขายเหล็กลวดของบริษัทในตลาดภายในประเทศสูงขึ้น 36%

บริษัทมียอดขายในไตรมาส 1/2561 จำนวน 276,000 ตัน ต่ำกว่าไตรมาส 4/2560 (ม.ค.-มี.ค.2560) และไตรมาส 1/2560 อยู่ที่ 20% และ 85% ตามลำดับ โดยมียอดขายสุทธิ 4,608 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาส 4/2560 อยู่ที่ 21% และใกล้เคียงกับไตรมาส 1/2560 (เม.ย.-มิ.ย.2556) สาเหตุหลักเกิดจากความเชื่อมั่นในตลาดและความต้องการบริโภคชะลอตัวลง เนื่องจากฤดูกาลมรสุม รใมทั้งความผันผวนของราคาวัตถุดิบในตลาดต่างประเทศมีผลต่อความเชื่อมั่นของตลาด ส่งผลให้ลูกค้าจำนวนมากเลื่อนการตัดสินใจซื้อ และความต้องการของตลาดที่อ่อนแอ การเปลี่ยนแปลงของราคาของเศษเหล็กและเหล็กในต่างประเทศส่งผลกระทบอย่างมากต่อราคาเหล็กในประเทศ

นอกจากนี้บริษัทมีขาดทุนก่อนภาษีในไตรมาส 1/2561 จำนวน 34 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 4/2560 มีกำไรก่อนภาษีเงินได้ (ก่อนหักรายการค่าใช้จ่ายพิเศษ) 233 ล้านบาท สาเหตุหลักจากปริมาณขายที่ลดลงและกำไรส่วนเกินที่ลดลงจากราคาขายสินค้าที่ลดลงควบคู่ไปกับราคาเศษเหล็กที่สูงขึ้น โดยบริษัทมี EBITDA ในไตรมาส 1/2561 ต่ำกว่าไตรมาส 4/2560 และไตรมาส 1/2560 อยู่ที่ 66% และ 73% ตามลำดับ สาเหตุหลักจากผลกระทบของปีมาณขายที่ลดลงและกำไรส่วนเกินที่ลดลง