รีดภาษีบีบผู้ออกหุ้นกู้ร่วมจ่าย บลจ.กสิกรฯ ชี้แบงก์เข้มปล่อยกู้ระดมทุนจำกัด

22 มิ.ย. 2560 | 03:15 น.
บลจ.กสิกรฯ ประเมินรัฐเก็บภาษีผลตอบแทนตราสารหนี้ของกองทุน เกิดการต่อรองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย มองเศรษฐกิจปัจจุบันแบงก์ระมัดระวังมากขึ้นเอกชนระดมทุนยาก จำใจจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นช่วยผู้ลงทุน

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่าแนวคิดการเก็บภาษีจากกองทุนที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ ภายใต้เศรษฐกิจปัจจุบันซึ่งธนาคารมีความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ ทำให้เอกชนต้องหาแหล่งเงินทุนในตลาดตราสารหนี้ บริษัทผู้ออกอาจต้องยอมแบกรับภาษีที่รัฐจะจัดเก็บร่วมกับผู้ลงทุนในกองทุนรวม

[caption id="attachment_166006" align="aligncenter" width="443"] วศิน วณิชย์วรนันต์ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)กสิกรไทย จำกั วศิน วณิชย์วรนันต์ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)กสิกรไทย จำกัด[/caption]

“ในภาวะที่ดอกเบี้ยสูงนักลงทุนวิ่งหาเงินฝาก ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีแบงก์ไม่ต้องการระดมเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อ ทำให้ความต้องการลงทุนตราสารหนี้ยังมีแม้ถูกหักภาษีก็ยังสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก จึงมองผลกระทบจะอยู่ที่ดีมานด์และซัพพลาย ผู้ลงทุนต้องยอมรับผลตอบแทนที่น้อยลงหรือบริษัทผู้ออกตราสารหนี้อยากระดมทุนก็ต้องยอมจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งต่างประเทศก็มีการต่อรองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย” นายวศิน กล่าว

ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมาสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC)หารือร่วมกับกรมสรรพากรและสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กระทรวงการคลัง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการเก็บภาษีตราสารหนี้ของกองทุนทุกประเภท โดยคลังจะนำสิ่งที่หารือไปพิจารณา การเก็บภาษีจากผลตอบแทนบนตราสารหนี้ ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนในกองทุนไม่ต้องถูกหักภาษีและไม่ต้องยื่นภาษีประจำปีโดยจะเก็บเฉพาะตราสารหนี้ในประเทศ ส่วนกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในต่างประเทศมีการเสียภาษีในต่างประเทศไปแล้ว จึงไม่เก็บอีกเพราะทำให้เกิดความซํ้าซ้อนรวมทั้งการเก็บภาษีจะไม่คิดย้อนหลังในช่วงเวลาที่ลงทุนไปแล้ว

นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทยฯ เปิดเผยว่า การเก็บภาษีจากกองทุนตราสารหนี้ของภาครัฐอาจลดลงไปมากกว่าครึ่งจากที่รัฐคาดการณ์ไว้ เนื่องจากกองทุนตราสารหนี้ทั้งระบบประมาณ 3 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกองทุนตราสารหนี้ที่กำหนดอายุการลงทุน (เทอมฟันด์) ซึ่งลงทุนต่างประเทศ มากถึง 90% ขณะที่กองทุนตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิดทั่วไปซึ่งมีการลงทุนในตราสารหนี้เฉพาะในประเทศเฉลี่ยประมาณ 20-30%ทำให้เม็ดเงินที่คาดว่ารัฐจะได้จากภาษีไม่มากอย่างที่มองไว้

อย่างไรก็ตามสมาคมเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว แต่หากรัฐยังคงเก็บภาษีในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 บลจ.ไม่สามารถดำเนินการได้ทันเพราะต้องใช้เวลาวางระบบ ดังนั้นรัฐคงต้องแก้กฎหมายและขึ้นอยู่ว่าจะผลักดันได้ทันตามกำหนดหรือไม่ ซึ่งคลังจะนำไปพิจารณาและคงต้องรอผลสรุปต่อไป

“ผลกระทบต่อกองทุนตราสารหนี้ในประเทศผลตอบแทนคงลดลงเพียงเล็กน้อย แต่ยังสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ส่วนกองทุนเปิดทั่วไปก็ลดลงน้อยขึ้นกับสัดส่วนการลงทุน อย่างไรก็ตามนักลงทุนอาจต้องขยับลงทุนในกองทุนผสมมากขึ้น รวมถึงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสมํ่าเสมอจากกระแสเงินสดที่กองทุนได้รับมาจากค่าเช่า” นายชัชชัยกล่าว

อย่างไรก็ตามบลจ.กสิกรไทยฯ ประเมินว่า การเก็บภาษีไม่น่าจะทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนรวมลดลง เพราะตั้งแต่ต้นปีกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศเติบโตค่อนข้างมากกว่ากองทุนในประเทศ ที่นักลงทุนยังกลัวการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวม 5 เดือนแรกเติบโตแตะ 4.8 ล้านล้านบาท โดยบลจ.กสิกรไทยฯมีสินทรัพย์ 9.8 แสนล้านบาท คิดเป็น 20% ของตลาดโดยกองทนุ ตราสารหนี้ยงั เติบโตได้ดีและบริษัทมีแผนผลักดันกองทุนให้เติบโตตามเป้าหมายทุกช่องทาง โดยเฉพาะการเข้าสู่ดิจิตอลการซื้อขายกองทุนจะสะดวกขึ้น โดยไตรมาส 3 จะเปิดตัวแอพพลิเคชันซื้อขายกองทนุบนมือถือส่วนลูกค้ายังคงยึดแนว Dream Growth Goal เสนอแนวทางให้ลูกค้าไปสู่เป้าหมาย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,272 วันที่ 22 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560