รื้อ! 151 ก.ม. เอื้อตลาดทุน

14 เม.ย. 2560 | 06:36 น.
สำนักงานก.ล.ต.เล็งทบทวนกฎหมาย 151 ฉบับอำนวยความสะดวกเพิ่มความทันสมัยตลาดทุน เปิดรับฟังความเห็น
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ เปิดเผยว่า ตามที่พระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558 กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐต้องพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายทุก 5 ปี

สำนักงานได้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องและบุคคลทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายที่ครบกำหนดทบทวน โดยมีทั้งสิ้น 151 เรื่อง ผู้ที่ประสงค์จะแสดงความคิดเห็นสามารถดูรายชื่อประกาศที่ครบกำหนดทบทวนรวมถึงช่องทางการสอบถามได้ตามเว็บไซต์ของสำนักงาน

สำหรับกฎหมายที่มีการทบทวนแบ่งเป็น 7 ประเภท ได้แก่ ประกาศของ คณะกรรมการสำนักงานก.ล.ต. ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ประกาศสำนักงานก.ล.ต. กฎกระทรวง ประกาศกระทรวงการคลัง ประกาศนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและหนังสือเวียน โดยเปิดรับความคิดเห็นในวันที่ 6 เมษายน และ 19 เมษายน 2560 เท่านั้น ส่วนกฎหมายที่ทบทวนครั้งนี้ อาทิ การคำนวณราคาเสนอขายหลักทรัพย์และการกำหนดราคาตลาด เพื่อการพิจารณาการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ และเรื่องแนวทางพิจารณาเกี่ยวกับการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (บุ๊กบิวดิ้ง) และการกำหนดราคาเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนและบุคคลใดๆ และเรื่องข้อกำหนดพิเศษเกี่ยวกับการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติการเงินต่างประเทศ

ด้าน นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยกรณี คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ใช้ม.44 แก้ไขกฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ. บริษัทมหาชน มาตรา 100 กรณีผู้ถือหุ้นรวมหุ้นไม่น้อยกว่า 10% เข้าชื่อกันทำหนังสือขอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อใดก็ได้ นั้น ทุกอย่างเป็นดาบ 2 คม และมองว่าเป็นผลดี ต้องให้สิทธิผู้ถือหุ้นพิทักษ์สิทธิของตัวเองอย่างเป็นธรรม การปรับปรุงกฎหมาย เป็นความตั้งใจดี และมีเหตุมีผล ที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ส่วนข้อกังวลว่า ผู้ถือหุ้นรายย่อยใช้สิทธิใช้เสียงมากเกินไปแล้วก่อให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้น ก็ต้องนำมาใช้ก่อน

“ผู้ถือหุ้นทั้งส่วนใหญ่และส่วนน้อยถ้าไม่ใช้สิทธิใช้เสียงเรียกร้องความเป็นธรรม ก็จะทำให้กริ่งเกรงว่าเกิดความไม่เป็นธรรม ซึ่งจะทำอย่างไรให้ผู้ถือหุ้นพิทักษ์สิทธิของตัวเอง เพื่อประโยชน์ขององค์กร แม้จะมีภาระมากขึ้นบ้างก็ตาม” นางเกศรากล่าว

กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าบริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัว มีผู้ถือหุ้นใหญ่ ถือหุ้นจำนวนมาก ส่วนบริษัทจดทะเบียนของมืออาชีพ ก็จะไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ละคนถือหุ้นไม่มาก อาจจะไม่ถึง 10% ก็ต้องให้สิทธิเรียกร้อง แต่ไม่ใช่ว่าธุรกิจครอบครัวไม่ดี เนื่องจากการเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา ธุรกิจครอบครัวสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่า สามารถบริหารงานได้ดี สามารถผ่านพ้นวิกฤติมาได้ เพราะความรักองค์กร ให้กิจการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่มองหาผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว

“ตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการดูแลนักลงทุน เช่นกรณีการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ มีการบังคับห้ามขายหุ้น ล็อกหุ้น 55% ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้มาล้างมือแล้วออกไป การเข้าตลาดเข้ามาระดมทุน หากบริหารงานดี มีผลประกอบการเติบโต ก็จะมีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาลงทุน โดยไม่ต้องการเข้ามาบริหาร เนื่องจากไว้วางใจให้ผู้บริหารทำงานได้เต็มที่” นางเกศรากล่าว