เก็งกำไรหุ้น‘สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น’ บลจ.กรุงศรี ชู PASSIVE FUND จับจังหวะลงทุน

03 เม.ย. 2560 | 04:00 น.
บลจ.กรุงศรีฯ ชี้ ‘ทรัมป์’ กดดันตลาดหุ้นผันผวน มองโอกาสหากำไรระยะสั้น 3-6 เดือน ผ่าน PASSIVE FUND หุ้นสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ต้นทุนถูก แนวโน้มตลาดสดใส

นายเกียรติศักดิ์ ปรีชาอนุสรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายลงทุนทางเลือก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงศรี จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท มองแนวโน้มตลาดหุ้นสหรัฐฯและตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังเติบโตได้ดี แต่ในระหว่างปีจะมีความผันผวนจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงแนะนำนักลงทุนที่ต้องการหาโอกาสเพิ่มผลตอบแทนระยะสั้น 3-6 เดือน ผ่านกองทุนประเภท Passive Fund ซึ่งเน้นผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงจากตลาดหุ้นทั้ง 2 แห่ง เนื่องจากต้นทุนค่าธรรมเนียมต่ำกว่ากองทุนที่มีกลยุทธ์บริหารเชิงรุกหรือ Active Fund อีกทั้งยังจับจังหวะการเข้าลงทุนและการทำกำไรได้ง่ายผ่านการขึ้นลงของดัชนี

ปัจจุบันบลจ.กรุงศรีฯ นำเสนอ 2 กองทุนใหม่ มีนโยบายลงทุนผ่านกองทุนอีทีเอฟที่ลงทุนผ่านกองทุนหลักในต่างประเทศที่อ้างอิงดัชนี S&P 500 ตลาดหุ้นสหรัฐและดัชนีนิกเกอิของญี่ปุ่น โดยปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเกือบทั้งจำนวน หากนักลงทุนไม่ชอบการจับจังหวะลงทุน บลจ.กรุงศรีฯมีกองทุนหุ้นสหรัฐฯและหุ้นญี่ปุ่นลงทุนผ่านกองทุนหลักต่างประเทศบริหารในเชิงรุก เหมาะลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป

นายเกียรติศักดิ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวชัดเจนก่อนทรัมป์เข้ามาเป็นประธานาธิบดี ดังนั้นหากนโยบายทรัมป์ไม่เป็นอย่างที่ตลาดคาดหวังทั้งหมดก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันนโยบายของทรัมป์หลายๆ ด้านจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะการลดภาษีนิติบุคคลจาก 35% เหลือ 15% ทำให้บริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯมีกำไรมากขึ้น

“แม้ที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐฯขึ้นมารับข่าวจนทำให้สัดส่วนราคาต่อกำไร (พี/อี) ซื้อขายที่ระดับ 18 เท่า ซึ่งไม่ถูก แต่ยังไม่แพงมากถ้าเทียบค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 17 เท่า แต่จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เติบโตจึงมีโอกาสที่พี/อีจะขยับไปซื้อขายที่ 20 เท่า หรือมีอัพไซด์ 9% จากปัจจุบัน ในทางกลับกันมองขาลงมีประมาณ 4% จึงหาจังหวะทยอยลงทุนได้ช่วงตลาดย่อตัว” นายเกียรติศักดิ์ กล่าว

นางสาวฉัตรแก้ว เกราะทอง ผู้อำนวยการฝ่ายลงทุนทางเลือก บลจ.กรุงศรีฯ กล่าวว่า พื้นฐานเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นจากนโยบายอาเบะโนมิกส์ที่เริ่มเห็นผล โดยเฉพาะตัวเลขเงินเฟ้อค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น รวมทั้งการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาด การเข้าซื้อหุ้นของธนาคารกลางญี่ปุ่นและกองทุนบำนาญญี่ปุ่นส่งผลดีต่อตลาดหุ้น ประกอบกับผลสำรวจผู้จัดการกองทุนทั่วโลกกว่า 80% มอง 12 เดือนข้างหน้ากำไรบจ.จะดีขึ้นจึงเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้นญี่ปุ่น

นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินเยนซึ่งสัมพันธ์กับตลาดหุ้นญี่ปุ่นในทิศทางเป็นขาขึ้น รวมทั้งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับเงินเยนเป็นปัจจัยบวกต่อบจ.ในญี่ปุ่นทำให้กำไรเพิ่มขึ้น ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น จากปัจจุบันเงินเยนเทียบดอลลาร์อยู่ที่ 110 หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้และดอลลาร์แข็งค่าขึ้นทำให้เยนอ่อนแตะ 120 เยน กำไรบจ.จะโตเท่าตัว ถ้าเยนแข็งแตะ 100 เยน กำไรจะไม่เติบโตหรือไม่ขาดทุน

สำหรับราคาหุ้นญี่ปุ่นปัจจุบันไม่ถูกและไม่แพงจนเกินไป ปัจจุบันดัชนี 19,000 จุด พี/อี 17.8 เท่า เทียบค่าเฉลี่ยในอดีต 17.5 เท่า โดยมองว่า 12 เดือนข้างหน้าดัชนีมีโอกาสแตะ 20,000 จุด ซึ่งมีอัพไซด์ประมาณ 9.8%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,249 วันที่ 2 - 5 เมษายน พ.ศ. 2560