‘แกร็บ’ระดมทุน5หมื่นล้าน‘ซอฟต์แบงก์’ แกนนำนักลงทุนร่วมลงขัน

30 มี.ค. 2560 | 14:00 น.
กลุ่มบริษัทแกร็บฯ ผู้ให้บริการแอพเพื่อการขนส่งส่วนบุคคลชั้นนำของอาเซียน เตรียมระดมทุนสำหรับปี2560 เป็นเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 52,500 ล้านบาท) เพี่อขยายธุรกิจใน 7 ประเทศ เผยกลุ่มซอฟต์แบงก์ยักษ์ใหญ่ลงทุนในธุรกิจไฮเทคของญี่ปุ่น เตรียมลงขันรายเดียว 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 35,000 ล้านบาท)

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก อ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกับปฏิบัติการณ์การระดมทุนครั้งล่าสุดของแกร็บ รายงานว่ากลุ่มที่คาดว่าจะร่วมลงทุนในการระดมทุนรอบใหม่ของแกร็บนอกจากซอฟต์แบงก์ แล้ว จะบริษัทลงทุนรายอื่นอาทิ ไทเกอร์โกเบิล แมเนจเม้นท์ และ จีจีวี แคปิตอล

แหล่งข่าวระบุว่าลงก้อนใหญ่ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์จะได้จากบริษัทซอฟต์แบงก์ ญี่ปุ่นโดยตรง หรือกองทุนซอฟต์แบงก์วิชั่นฟันด์ ซึ่งเป็นกองทุนของซอฟต์แบงก์ แต่ที่แน่ ๆ คือเงินทุนที่จะระดมได้ครั้งนี้นับเป็นทุนก้อนใหญ่ที่สุดที่วิสาหกิจหรือสตาร์ตอัพของอาเซียนที่สามารถระดมได้

บลูมเบิร์กชี้ ว่าแกร็บ เป็นสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์น ของอาเซียนที่มีความโดดเด่นมากเนื่องจากในเดือนกันยายนปีที่แล้วสามารถระดมทุนได้ 750 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 26,250 ล้านบาท) ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์ของสตาร์ตอัพ ของอาเซียนเช่นกัน โดยในปีที่แล้วมีการประเมินมูลค่าของแกร็บ อยู่ที่ 3,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 105,000 ล้านบาท)

แกร็บเป็นสตาร์ตอัพที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2555 โดยนายแอนโทนี่ ตัน ทายาทของผู้จัดจำหน่ายรถยนต์นิสสันในประเทศมาเลเซีย โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนเริ่มแรกจากซอฟต์แบงก์และบริษัทร็อคเก็ตอินเตอร์เน็ตจากเยอรมนี ทุนสนับสนุนครั้งแรกมีมูลค่า 340 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 11,900 ล้านบาท) และต่อมาเติบโตเป็นสตาร์อัพระดับ ยูนิคอร์น ซึ่งเป็นระดับที่มีมูลค่าธุรกิจเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 35,000 ล้านบาท) รายแรกของอาเซียน

ล่าสุดแกร็บ สามารถขยายตลาดให้บริการแอพเรียกรถยนต์และมอเตอร์ไซค์เพื่อการขนส่งคนและสินค้าส่วนบุคคลครอบคลุม 7 ประเทศสมาชิกอาเซียน คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์และเมียนมาโดยตลาดเมียนมาเป็นตลาดล่าสุดที่แกร็บ เริ่มเปิดให้บริการเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่เมืองย่างกุ้งโดยนอกธุรกิจ แอพเรียกยานยนต์เพื่อการขนส่งส่วนบุคคลแกร็บยังขยายเข้าธุรกิจฟินเทคด้วย

บลูมเบิร์กระบุว่า แกร็บ เร่งระดมทุนใหม่ทั้งที่ระดมทุนไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วเพื่อขยายงานทิ้งห่างคู่แข่งอีก 2 รายคืออูเบอร์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแอพเรียกรถที่ใหญ่ที่สุดในโลกและ โก-เจ็ค ผู้บริการแอพเรียกรถและมอเตอร์ไซค์รายใหญ่ของอินโดนีเซีย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ แกร็บ ได้ขยายธุรกิจเข้าสู่บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์แข่งกับโก-เจ็ค ในประเทศอินโดนีเซีย ด้วย

การระดมทุนของแกร็บ สอดคล้องกับแนวทางการทำธุรกิจของบริษัท แอพเรียกรถทั่วโลก ซึ่งนิยมแข่งขันกันอย่างหนัก โดยยอมขาดทุนเพื่อครองตลาดให้ได้มากที่สุด และเน้นความสามารถในการระดมทุน เพื่อหาเงินมาหนุนการรุกครองตลาดโดยไม่ต้องห่วงเรื่องสภาพคล่อง

ผู้เชี่ยวชาญ ธุรกิจเทคโนโลยี การขนส่งระบุว่าธุรกิจแอพเรียกรถรายใหญ่ 3 รายของเอเชียคือ ดีดีฉูชิ่งของจีน โอลาของอินเดียสามารถระดมทุนได้มากกว่าแกร็บ เนื่องจากมีขนาดตลาดใหญ่กว่า โดยเมื่อสิ้นสุดปี 2559 ปรากฏว่า ดีดีฉูซิ่ง ระดมทุนได้ 2,959 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 90,825 ล้านบาท) โอลาระดมทุนได้ 1,976.8 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 69,188 ล้านบาท) ขณะที่แกร็บระดมได้ 1,080 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 37,800 ล้านบาท)

บลูมเบิร์ก ระบุว่าก่อนหน้าการระดมทุนครั้งใหม่นี้ แกร็บ ได้ประกาศว่าจะลงทุน 700 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 24,500 ล้านบาท) ในประเทศอินโดนีเซียในช่วง 4 ปีเริ่มตั้งแต่ปีนี้ เป็นการลงทุนเพื่อแข่งกับโก-เจ็ค ชิงตลาดซึ่งมีประชากร 260 ล้านคน โดยอินโดนีเซียมีสัดส่วนประชากรและขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของแกร็บ

ในปีที่แล้วตลาดของแกร็บ ในอินโดนีเซียขยายตัวถึง 600 % ทำให้นายตัน นายใหญ่ของแกร็บประกาศเพิ่มพนักงานทางด้านวิจัยและพัฒนา 800 คนเพื่อทำงานในศูนย์อาร์แอนด์ดี 6 แห่งของแกร็บในอินโดนีเซียภายใน 2 ปี และยังได้เตรียมเงินลงทุนตั้งศูนย์วิจัยใหม่ในบังกะลอว์ของอินเดียและโฮจิมินห์ซิตี เตรียมเงินไว้แห่งละ 100 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3,500 ล้านบาท) อีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,248
วันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2560