รบ.ประยุทธ์ ไต่เส้นวินัยการคลัง อัดงบฯขาดดุล-ดัน‘จีดีพี’

23 ก.พ. 2560 | 03:00 น.
แม้จะได้ข้อสรุปตัวเลข “เงินคงคลัง” ที่ลดฮวบ จากช่วงที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าบริหารประเทศเคยสูงถึง 4.96 แสนล้านบาท (ณ เดือน ก.ย.57) มา ณ สิ้นปี 2559 จะเหลือเพียง 7.49 หมื่นล้านบาทว่าไม่ได้เป็นตัวชี้ถึงความมั่นคงทางการคลังอย่างที่บางกลุ่มพยายามปลุกเร้ากระแส เพราะเงินคงคลังก็คือปริมาณเงินสดที่รัฐบาลถืออยู่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการสภาพคล่อง ซึ่งผันผวนขึ้นลงตลอด

อีกทั้งนายอภิศักดิ์ตันติวรวงศ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมากล่าวชัดเจนว่าเป็นนโยบายของตนเองที่ได้สั่งการให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ในปีงบประมาณนี้ไม่ให้กู้มาเก็บไว้ในรูปเงินคงคลังหรือฝากไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ซึ่งไม่มีดอกเบี้ยเพื่อประหยัดงบประมาณและจากการศึกษาของกรมบัญชีกลางก็เห็นว่าเงินคงคลังที่เหมาะสมควรอยู่ที่5หมื่น-1แสนล้านบาท

  มองต่างมุมงบขาดดุล

ข้อมูลและคำชี้แจงจากรัฐมนตรีคลังข้างต้นทำให้ประเด็นที่จะชี้ว่ารัฐบาลกำลังถังแตกโดยอิงจากตัวเงินคงคลังที่ลดลงจึงเป็นอันตกไปแต่ที่หลายฝ่ายโฟกัสอยู่ในขณะนี้คือการจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่ารายจ่ายและการดำเนินงบประมาณขาดดุลมายาวนานต่อเนื่องนับจากที่ใช้งบสมดุลในปี 2548-2549 โดยในปีงบประมาณ 2560 รัฐตั้งงบประมาณขาดดุลสูงถึง 5.53 แสนล้านบาท (บวกเพิ่ม 1.62 แสนล้านบาทจากเดิม 3.9 แสนล้านบาท )เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากพัฒนากลุ่มจังหวัดและหมู่บ้าน

นายอธิภัทร มุทิตาเจริญอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับวินัยการคลังเท่าที่ควรเห็นได้จากการที่รัฐขาดดุลงบประมาณเกือบ 10 ปีนอกจากนี้รัฐบาลยังใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI ) ซึ่งเป็นต้นทุนทางการคลังที่ซ่อนอยู่ไม่ปรากฏในดุลการคลัง

ด้านนายปรเมธีวิมลศิริเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)กล่าวกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่าการดำเนินงบประมาณขาดดุลยังเป็นสิ่งจำเป็นแม้ว่าเศรษฐกิจจะมีสัญญาณดีขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจีดีพีปี 2559โตได้ 3.2% แต่ไม่ควรวางใจที่จะลดหรือถอน (วงเงินงบประมาณ ) รัฐยังต้องเป็นตัวช่วยสำคัญในการดูแลเศรษฐกิจเขายืนยันการคลังรัฐบาลยังมั่นคงหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังต่ำปี 2559 ลดมาอยู่ที่ 42.19 % ต่ำกว่าต้นปี2559ที่อยู่ที่ 44.05% และก็ไม่ได้สูงเมื่อเทียบกับประเทศทั่วโลก

“ขาดดุลงบประมาณตัวเงินเพิ่มก็จริงแต่เทียบขนาดของเศรษฐกิจที่เพิ่มด้วยแล้วสัดส่วนต่อจีดีพีก็ไม่ได้สูงขึ้นนัก “ เขาย้ำอีกครั้ง

  กู้เพื่อการลงทุน

อย่างไรก็ดีเพื่อคลี่คลายข้อสงสัยเรื่องฐานการคลัง “ฐานเศรษฐกิจ”ได้สำรวจฐานะการคลังของประเทศพบว่ารัฐได้ตั้งวงเงินขาดดุลปีงบ2559 -2560 สูงถึง 3.9 แสนล้านบาทและ 5.52 แสนล้านบาทตามลำดับแต่ด้วยขนาดเศรษฐกิจสูงถึง 14.03 ล้านล้านบาทและ 14.87 ล้านล้านบาทตามลำดับด้วยแล้วทำให้สัดส่วนการขาด

[caption id="attachment_131716" align="aligncenter" width="311"] รบ.ประยุทธ์ ไต่เส้นวินัยการคลัง อัดงบฯขาดดุล-ดัน‘จีดีพี’ รบ.ประยุทธ์ ไต่เส้นวินัยการคลัง อัดงบฯขาดดุล-ดัน‘จีดีพี’[/caption]

ดุลงบต่อจีดีพีอยู่ที่ 2.8% และ 3.7% ตามลำดับต่ำกว่าปี 2554 ที่ขาดดุล 4.2 แสนล้านบาทแต่เมื่อเทียบ(ตัวเลขขาดดุล)ต่อจีดีพีสูงถึง 3.9 %

หากนำตัวเลขดังกล่าวแล้วมาพิเคราะห์ ร่วมกับ “กรอบความยั่งยืนทางการคลัง” คือเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ต้องไม่เกิน 60%, ภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกิน 15 % และสัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่องบประมาณอยู่ที่ 25% จะเห็นว่าช่วงการบริหารของรัฐบาลประยุทธ์ 3 ปี (2557-2559) ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เฉลี่ยอยู่ที่ 43 %, ภาระหนี้ต่องบประมาณเฉลี่ยที่ 7.73%ขณะที่รายจ่ายลงทุนต่องบประมาณมีแนวโน้มเพิ่มเกิน 20% ในปีงบประมาณนี้ (ตารางประกอบ)และตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ พบว่าแผน 5 ปี (2560-2564) สิ้นปี 2564 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จะอยู่ที่ 49.9%ส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณจะอยู่ที่ 10.8%

ตัวเลขและแนวโน้มข้างต้น ช่วยอธิบายถึงความจำเป็นที่รัฐบาล ต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อีกด้านหนึ่ง สัดส่วนการลงทุนสูงขึ้นเช่นกัน นัยหนึ่งคือกู้มาเพื่อลงทุน เปรียบเหมือนการไต่เส้นวินัยการคลัง เพื่อไปสู่จุดหมายจีดีพี สุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะออกหัวหรือออกก้อย...โปรดติดตาม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,238 วันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2560