2บิ๊กนิคมพร้อมลุยเปิดพื้นที่รับทุนไฮเทคในอีอีซี

22 ก.พ. 2560 | 08:00 น.
ทันทีที่รัฐบาลประกาศนโยบายผลักดันให้เกิด โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor Development )หรืออีอีซี หนึ่งในยุทธศาสตร์การลงทุนของประเทศ ที่ภาครัฐคาดหวังว่าจะมาเป็น"ยาแรง"ในการปลุกการลงทุนรอบใหม่ ทำให้ชื่อของ2 นิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ ถูกโฟกัสถึงมากที่สุดเพราะอยู่ในพื้นที่อีอีซี กลุ่มแรกคือบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด(มหาชน)หรือAMATA ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ที่จังหวัดชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ จังหวัดระยอง กลุ่มถัดมาคือบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA (กลุ่มเหมราชเดิม)ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมกระจายอยู่ในพื้นที่อีอีซีมากถึง 9 แห่ง

"ฐานเศรษฐกิจ"สัมภาษณ์พิเศษ2 ผู้บริหาร นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHA และนายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด AMATA ถึงการออกมาประกาศความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่รองรับการลงทุน และสะท้อนถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซีนับจากนี้ไป

  WHAประกาศความพร้อม

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHA เปิดประเด็นโดยเกริ่นถึง โครงสร้างธุรกิจว่ามี 4 กลุ่มหลักคือ โลจิสติกส์,นิคมอุตสาหกรรม ,สาธารณูปโภคและพลังงาน และดิจิตอล แพลตฟอร์ม ทั้ง4 กลุ่มธุรกิจคืออนาคต โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมที่คุณสวัสดิ์( สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ผู้ก่อตั้ง)สร้างขึ้นมาเมื่อ30 ปีก่อนนั่นคือพื้นฐาน และอนาคตคือดิจิตอล อีโคโนมี ซึ่งทั้งสี่กลุ่มนี้จะซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน ในพื้นที่ลงทุน

โครงสร้างธุรกิจของ WHA จะเชื่อมโยงกับนโยบายอีอีซีของรัฐบาลที่ระบุไว้ในแผนว่า จะเกิดการลงทุนทั้งหมด 1.5 ล้านล้านบาทภายใน5 (ปี2560-2564) โดยเงิน 7 แสนกว่าล้านมาจากเงินลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อีก 9 แสนกว่าล้านมาจากภาคเอกชน และการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือพีพีพีด้วย กระทั่งล่าสุดบอกจะเพิ่มเป็น2ล้านล้านบาท ฉะนั้นตามแผนจะมีทั้งรางเดี่ยว รางคู่ ไฮสปีดเทรน การขยายถนน การลงทุนในสนามบินอู่ตะเภา การลงทุนท่าเรือท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มาบตาพุดเฟส 3 รวมถึงจุดเสม็ด ภาพเหล่านี้คือโลจิสติกส์ที่เกิดขึ้นครบวงจร เห็นภาพอีคอมเมิร์ซ โลกแห่งอนาคต ต่อไปสนามบินอู่ตะเภาจะกลายเป็นศูนย์กลางของฮับเรื่องอี-คอมเมิร์ซ กระจายไปทั่วภูมิภาคนี้ เหมือนอย่างที่อาลีบาบาสนใจ สำรวจนิคมอุตสาหกรรมดูหลายแต่ก็ เป็นเพียงการมาสำรวจพื้นที่ของอาลีบาบารอบแรกๆ โดยมั่นใจว่าอาลีบาบาจะใช้ไทยเป็นฐานแน่ๆ เพียงแต่กำลังดูว่าจะลงทุนตรงไหน

เมื่อตรงนี้พร้อมในแง่การลงทุน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลก็ต้องมาลงทุน หรือคลัสเตอร์กลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะคลัสเตอร์ยานยนต์จะต้องมาอยู่กับWHA อยู่แล้ว เพราะเรามีผู้ประกอบการกลุ่มนี้ถึง200กว่ารายในพื้นที่ และส่วนหนึ่งก็เป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ในกลุ่มยานยนต์อยู่แล้ว

"พอปลุกพื้นที่อีอีซีสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นแน่นอน ขณะที่กลุ่ม WHA มีที่ดินอยู่ในมือราว 1 หมื่นไร่ มีทั้งที่อยู่ระหว่างพัฒนาและที่พัฒนาแล้ว เหล่านี้เป็นที่ดินที่เราได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอแล้ว และได้รับอีไอเอแล้วโดยอยู่ใกล้สนามบินอู่ตะเภา และอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อลูกค้าต้องการก็พร้อมขายได้ทันที ขอให้เอาเงินและเอาใจ และเอาคนมาเราก็พร้อมขาย"

ส่วนรายได้นั้น เดิมตั้งเป้าไว้เมื่อต้นปี2559 ว่าจะมียอดขายรวมทั้งกลุ่มWHAอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการปิดงบปี2559เฉพาะขายที่ดินเราตั้งเป้าว่าทุกปีจะขายได้ราว 1,000 ไร่ พอมา ปี2560 เฉพาะเดือนแรกเราขายที่ดินได้แล้ว 400 กว่าไร่ ดังนั้นยอดขายทั้งปี2560น่าจะดีกว่าปี2559 ที่กำลังจะประกาศผลดำเนินงานเร็วๆนี้

 ลั่นยืนอยู่บนสปริงส์บอร์ด

ด้านนายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท AMATA กล่าวถึงการเตรียมการของธุรกิจพัฒนาที่ดินเพื่อรองรับนโยบายอีอีซีที่รัฐประกาศ โดยมองภาพได้2ระยะคือ ระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นเป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ภาครัฐจัดเตรียมไว้ให้นักลงทุน เพียงแต่ว่านักลงทุนจะต้องอยู่ในกติกาที่ภาครัฐวางไว้ เช่น เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้ามายใหม่หรือNEW S Curveเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า ใช้แรงงานน้อย ใช้เทคโนโลยีมาก ซึ่งนโยบายรัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว

"ผมมองว่านโยบายส่งเสริมพื้นที่อีอีซีนั้น เท่ากับว่าเรายืนอยู่บนสปริงส์บอร์ด แม้ไม่พร้อมทั้งหมดแต่ก็พร้อมกว่าจุดอื่นๆในประเทศไทย มีระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่นน้ำ ไฟฟ้า โทรศัพท์ ถนนอยู่แล้ว เพียงแต่ปรับอีกนิดหน่อยเท่านั้น"

กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท AMATA ตั้งข้อสังเกตว่า วันนี้คู่แข่งเรามีมากขึ้น เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และในอนาคตเมียนมาก็จะมาแรง ฉะนั้นในเออีซี 10 ประเทศมีคู่แข่งเรา4 ประเทศ ส่วนสิงคโปร์ มาเลเซียไม่นับว่าเป็นคู่แข่ง เมียนมาน่ากลัวเพราะมีทางออกไปสู่ยุโรปนั่นก็คืออันดามัน วิ่งไปเอเชียใต้ ซึ่งมีอินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา ออกไปยุโรปได้เลย ฉะนั้นเขาจะได้เปรียบตรงนั้น ส่วนเวียดนามก็จะเชื่อมแปซิฟิก เหมือนอ่าวไทยของเราก็จะไปเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิก นโยบายรัฐจึงต้องหามาตรการชิงโอกาสดึงทุนเข้ามา

ส่วนระยะยาวคือ การที่รัฐวางเงินลงทุนในพื้นที่อีอีซี1.5 ล้านล้านบาทเพื่อเข้ามายกมาตรฐานระบบโครงสร้างพื้นฐาน ยกมาตรฐานเมืองใหม่ คือทำให้เหมาะสมมากขึ้น เช่นการมีรถไฟความเร็วสูงมาถึงตรงนี้ถามว่าคนที่มาทำงานที่ชลบุรี ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีจากกทม. มาถึงนิคมอมตะนคร(ชลบุรี) ฉะนั้นเมื่อแผนการทำงานทั้งระยะสั้นระยะยาวชัดเจนมากขึ้น จะเริ่มเห็นภาพการลงทุน

สำหรับกลุ่ม AMATA อมตะมีพื้นที่ที่ยังไม่พัฒนากว่า 10,000 ไร่ (รวมที่ชลบุรีและระยอง) มีความได้เปรียบตรงที่อยู่ใกล้สนามบินและกทม. และใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง มองว่าพื้นที่อีอีซีจะเป็นการต่อยอดขึ้นไปสู่อุตสาหกรรมที่ไฮเทค โดยรัฐบาลมองเห็นฐานที่จะเด้งไปสู่สปริงส์บอร์ด เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับประเทศ

ส่วนรายได้หลักของกลุ่มอมตะวันนี้ธุรกิจขายที่ดินลดลงเหลือสัดส่วน 60%(เดิม 80%)และธุรกิจบริการ 40% และวางเป้าหมายในอนาคตธุรกิจบริการจะโตถึง 80% เนื่องจากเราต้องการความมีเสถียรภาพของรายได้เพราะที่ผ่านมารายได้โดยปีนี้ตั้งเป้ายอดขายเฉพาะที่ดิน 1,000 ไร่ต่อปีสูงกว่าปีก่อน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,238 วันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2560