ผวากำแพงภาษีสหรัฐฯ ฉุดส่งออก

16 ก.พ. 2560 | 13:00 น.
นโยบายโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและสะเทือนถึงไทยอย่างไรเพื่อประเมินผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)สะท้อนมุมมองและประเมินผลต่อเศรษฐกิจไทยก่อนที่สศช.จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจปี 2559 และคาดการณ์แนวโน้มในปี 2560 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้

นายปรเมธี กล่าวว่า สหรัฐฯช่วงนี้มีการเปลี่ยนแปลง 2 ด้านที่มาด้วยกัน แต่แตกต่างจากเดิมอย่างสุดขั้ว คือเรื่องของพื้นฐานวัฏจักรเศรษฐกิจและเรื่องการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีของสหรัฐฯในเรื่องเศรษฐกิจค่อนข้างชัดเจนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯที่เคยค่อนข้างตกต่ำจนทำให้เศรษฐกิจโลกขยายได้น้อย หลังเกิดวิกฤติซับไพรม์ปี 2551 จนต้องอัดฉีดคิวอี ทำให้อัตราดอกเบี้ยตกต่ำกันทั่วโลกได้เริ่มมาสู่จุดเปลี่ยนเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐ ฯแข็งแรงขึ้นธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)เปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น อัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับเพิ่ม

วัฏจักรพื้นฐานเศรษฐกิจที่เปลี่ยนมาพร้อมประธานาธิบดีคนใหม่ “โดนัลด์ ทรัมป์”ที่มีนโยบายบริหารแตกต่างอย่างสุดขั้วในการยึดผลประโยชน์ของสหรัฐฯเป็นหลัก โดยเตรียมพร้อมที่เปลี่ยนแปลงนโยบายหลายๆอย่างที่จะแตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นความเสี่ยงที่ไม่มีใครแน่ใจได้ 100% มาตรการที่ออกมาอะไรจะเกิดขึ้น เกิดเต็มรูปแบบหรือผลกระทบมากมายแค่ไหน

ทั้งนี้นโยบายทรัมป์ ในเรื่องของความไม่แน่นอน มีทั้งด้านที่เป็นบวกและเป็นลบ มาตรการที่เป็นบวกก็คือนโยบายและมาตรการช่วยส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ฯ เช่นการลดภาษีการเพิ่มการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน
นโยบายที่เป็นลบ คือนโยบายการค้าจากการที่สหรัฐฯหันมาเน้นเรื่องการปกป้องการค้า นโยบายการค้าเสรี ในกรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP ที่ยกเลิกไปแล้วเมื่อสหรัฐฯถอนตัวก็คือจบประเทศที่คาดหวัง TPP จะช่วยให้เกิดการค้าของโลกมากขึ้น เศรษฐกิจจะโตขึ้นมีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้นก็ไม่ได้รับประโยชน์

มาตรการตั้งกำแพงภาษี( Border Adjustment Tax : BAT )ที่จะเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศมาสหรัฐฯ เพื่อจะดึงดูดให้เกิดการผลิตหรือย้ายฐานการผลิตมาประเทศสหรัฐฯ นโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกรวมถึงประเทศซัพพลายเออร์ที่ส่งสินค้าไปสหรัฐฯ เป็นความเสี่ยงที่คนรอดูอยู่ว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือใช้เข้มงวดขนาดไหนเพราะนโยบายส่วนนี้อาจไปผิดระเบียบองค์การการค้าโลก ( WTO)ส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมของสหรัฐฯเอง

“ผลกระทบต่อการค้าไทยจะมากน้อยแค่ไหนไทยส่งออกไปสหรัฐฯเป็นสัดส่วนกว่า 11%และเปอร์เซ็นต์การส่งออกของไทยไปประเทศอื่นๆที่ส่งต่อไปสหรัฐฯอย่างไทยส่งชิ้นส่วนไปจีนและส่งต่อไปสหรัฐฯเชื่อมโยงกับการค้าหลายภาคส่วนของโลก ยังประเมินยากอยู่แต่หากสหรัฐฯดำเนินนโยบายกีดกันการค้า ไทยจะกระทบเหมือนกัน”

ส่วนความเสี่ยงสถานการณ์การเมืองโลกที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบของนโยบายทรัมป์ เลขาฯสศช.กล่าวว่า สหรัฐฯยังเป็นประเทศมหาอำนาจมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เป็นผู้ซื้อรายใหญ่และมีความเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆทางด้านความมั่นคงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆดังนั้นประเทศส่วนใหญ่พยายามจะลดผลกระทบหรือด้วยการหาทางออกที่เป็นบวกกับสหรัฐฯไม่ว่าจีน ญี่ปุ่นหรือใครพยายามเริ่มคุยเริ่มเจรจากับสหรัฐฯเพื่อลดผลกระทบ

นายปรเมธี กล่าวถึงการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจจริงปี 2559และแนวโน้มในปี 2560 ที่จะแถลงในต้นสัปดาห์หน้าว่ารอบนี้ปัจจัยที่นำมาคำนวณยังเป็นความเสี่ยงบนสมมติฐานคือเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ขยายตัวดีขึ้นและสมมติฐานบนปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายทรัมป์ที่มากขึ้นแต่ยังประเมินได้ยากว่าจะเกิดขึ้นเร็วช้าขึ้นอยู่กับว่าจะทำจริงได้เมื่อไร และจะบังคับใช้กับทุกประเทศหรือบางประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,236 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ 2560