ปตท.สผ.ไล่ล่าหุ้นสัมปทานปิโตรเลียม

07 ก.ย. 2559 | 02:00 น.
ปตท.สผ.ไล่ซื้อแหล่งสัมปทานปิโตรเลียม หลังครม.ปลดล็อกยกเว้น ไม่ต้องผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนรัฐวิสาหกิจ ประเดิมซื้อหุ้นในแหล่งยาดานา ที่เมียนมา จากเชฟรอน 28.3% มูลค่า 4.55 หมื่นล้านบาท ตามจ่อด้วยแหล่งอาทิตย์ ในอ่าวไทยอีก 16 % และจากกลุ่มเชลล์ในแหล่งบงกชอีก 22.22 % พร้อมเปิดทางให้เข้าประมูลแข่งแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2565-2566

[caption id="attachment_94530" align="aligncenter" width="700"] โครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใน 11 ประเทศ ของปตท.สผ. โครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใน 11 ประเทศ ของปตท.สผ.[/caption]

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และบริษัทในเครือที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจัดตั้ง หรือร่วมทุน และกำกับดูแลบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจและการแข่งขันกับบริษัทชั้นนำของโลกในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากครม.อีกต่อไป

 ประเดิมซื้อหุ้นในยาดานา

ล่าสุดทราบว่าทางปตท.สผ.มีแผนที่จะเข้าซื้อหุ้นของบริษัท เชฟรอนฯ ที่ถืออยู่ในแหล่งยาดานาในสัดส่วน 28.3 % โดยเสนอสิทธิให้กับพันธมิตรร่วมทุนก่อน หลังจากที่มีการประการขายมาตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้เป็นต้นมา ซึ่งหากดำเนินการตามหลักเกณฑ์รัฐวิสาหกิจจะทำให้ปตท.สผ.ไม่สามารถเข้าเจรจาหรือซ้อหุ้นดังกล่าวได้ทัน จึงจำเป็นต้องปลดล็อกในส่วนของขั้นตอนการพิจารณา ที่จะต้องเสนอเรื่องไปยังกระทรวงพลังงาน ผ่านคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ก่อนมาจะเข้าสู่การพิจารณาของครม. ซึ่งจะทำให้แต่ละโครงการที่จะเข้าซื้อหุ้นหรือกิจการทำให้เสียเวลากว่า 6 เดือน-1 ปี ไม่ทันกับสถานการณ์ของการแข่งขันในตลาดโลกที่ต้องการขายหุ้นหรือกิจการออกมา

"ที่ผ่านมา ปตท.สผ.มีแผนลงทุนในแหล่งปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศอยู่แล้ว แต่บางเรื่องต้องรอเพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งอาจเกิดความล่าช้า ดังนั้น มติดังกล่าว จะทำให้ ปตท.สผ.เกิดความคล่องตัวในการลงทุนมากขึ้น อาทิ แหล่งยาดานา ในเมียนมาซึ่งทางผู้ถือหุ้นรายเดิมต้องการขายหุ้น ดังนั้นเมื่อเห็นว่าแหล่งยาดานายังพอมีศักยภาพและราคาหุ้นไม่แพงเกินไป และไม่มีความเสี่ยง เพราะเป็นแหล่งที่ผลิตอยู่แล้ว ทาง ปตท.สผ.ก็ต้องการซื้อหุ้นในส่วนนี้เพิ่มขึ้น แต่หากรอตามขั้นตอน อาจเกิดความล่าช้าไม่ทันการณ์ ก็จะเสียเปรียบคู่แข่งขันที่ต้องการได้หุ้นในส่วนนี้ไปเหมือนกัน"

 ยันคุ้มค่ามีสำรองอีก10ปี

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันแหล่งยาดานา ในเมียนมา สามารถจ่ายก๊าซได้ 650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเยตากุนจ่ายก๊าซได้ 450 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งกรณี ปตท.สผ. จะซื้อหุ้นจากเชฟรอนฯ ในแหล่งดังกล่าว เชื่อว่าจะมีความคุ้มค่า เนื่องจากพบว่าแหล่งยาดานายังมีปริมาณสำรองอยู่ได้อีกประมาณ 10 ปี เทียบกับเยตากุนที่คาดว่าจะหมดในอีก 4-5 ปีข้างหน้า

ดังนั้นหลังมีมติ ครม. เชื่อว่าจะทำให้ ปตท.สผ. สามารถตัดสินใจร่วมทุนได้รวดเร็วมากขึ้น เพราะบอร์ดสามารถอนุมัติได้โดยไม่ต้องผ่าน ครม. เหมือนก่อนที่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการนานนอกจากนี้ ปตท.สผ.เป็นผู้ถือหุ้นในแหล่งยาดานาอยู่แล้ว จึงทราบปริมาณสำรองเป็นอย่างดี หากนำมาคำนวณความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์แล้วก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าก๊าซในแหล่งเยตากุนจะหมด หากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ลงทุนคลังลอยน้ำก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) FSRU ที่เมียนมา 3 ล้านตัน ก็สามารถนำมาผสมเพิ่มค่าความร้อนในแหล่งยาดานา แล้วป้อนเข้าประเทศได้นานขึ้น

ส่วน ปตท.สผ.มีแผนร่วมทุนแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยเพิ่มหรือไม่นั้น ก็เป็นนโยบายของ ปตท.สผ. แต่พบว่าแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่เป็นแหล่งใหญ่ อาทิ แหล่งเอราวัณ แหล่งบงกช และแหล่งอาทิตย์ นอกนั้นเป็นแหล่งเล็กๆ ขณะที่การเข้าร่วมทุนแหล่งปิโตรเลียมในต่างประเทศของ ปตท.สผ. จะส่งผลดีต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศเช่นกัน เพราะหาก ปตท.สผ.สามารถร่วมทุนในแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น อาทิ โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ที่ปัจจุบัน ปตท.สผ.ถือหุ้น 8.5% หากในอนาคตมีโอกาสถือหุ้นเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นผลดีต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

 เปิดทางซื้อหุ้นแหล่งอาทิตย์เพิ่ม

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากปตท.สผ.จะเข้าซื้อหุ้นของเชฟรอนในแหล่งยาดานาแล้ว ยังมีความสนใจที่จะเข้าซื้อหุ้นในแหล่งอาทิตย์ แปลงบี14เอ-บี16เอ และแปลงจี8/50 กำลังการผลิต 117 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ที่เชฟรอนถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 16 % ภายหลังที่บริษัทแม่ของเชฟรอน ได้ประกาศขายหุ้นในแหล่งยาดานา ที่เมียนมาไปแล้ว ในมูลค่าราว 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 4.55 หมื่นล้านบาท(อัตราแกลเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ)

ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาบริษัทแม่เชฟรอนประสบปัญหาการขาดทุน จากภาวะราคาน้ำมันที่ตกต่ำ จึงพยายามที่จะลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลงมา และทยอยลดการลงทุนในประเทศแถบภูมิภาคนี้ เพื่อเป็นการถอนตัวออกจากแหล่งที่ไม่ใช่สินทรัพย์หลักของบริษัท และต้องการรักษาเงินสดอยู่ในมือไว้ โดยการนำเงินไปลงทุนในแหล่งที่มีศักยภาพหรือแหล่งขนาดใหญ่แทน ซึ่งหากการซื้อหุ้นสำเร็จจะทำให้ปตท.สผ.มีสัดส่วนถือหุ้นในแหล่งอาทิตย์เพิ่มขึ้นเป็น 86 % จากปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 80 %

นอกจากนี้ ด้วยภาวะราคาน้ำมันที่ยังตกต่ำต่อเนื่อง ไม่เพียงเชฟรอนยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา ค่อยๆ ถอนการลงทุนในภูมิภาคนี้ ยังมีบริษัท เชลล์ ที่ได้ประกาศขายหุ้นในแหล่งบงกช แปลงบี15-บี17 และแปลงจี12/48 ที่ถือหุ้นในนามบริษัท British Gas (BG) สัดส่วน 22.22% มูลค่าประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือราว 3.5 หมื่นล้านบาทด้วย

โดยเป็นการยืนยันจากนายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นขอซื้อหุ้นโครงการบงกชจาก British Gas (BG) ไปแล้ว หากการเจรจาซื้อหุ้นดังกล่าวประสบความสำเร็จ จะทำให้ ปตท.สผ.ถือหุ้นในแหล่งบงกชเพิ่มขึ้นเป็น 66.66% และทำให้กำลังการผลิตปิโตรเลียมของบริษัท เพิ่มสูงขึ้น

ช่วยปลดล็อกเข้าร่วมประมูล

แหล่งข่าวกล่าวเสริมอีกว่า ประกอบกับการปลดล็อกหลักเกณฑ์ดังกล่าว ยังเป็นการเตรียมการไว้สำหรับการเข้าประมูลแหล่งก๊าซบงกช ที่ปตท.สผ.ดำเนินการอยู่ รวมถึงแหล่งก๊าซเอราวัณ ของเชฟรอน ที่จะหมดอายุสัมปทานในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งปัจจุบันทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อยู่ระหว่างร่างหลักเกณฑ์การประมูลที่จะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ และจะสามารถประกาศเปิดประมูลได้ภายในเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากครม. โดยเฉพาะการสนใจซื้อหุ้นในแหล่งบงกชเพิ่มเติม จึงเป็นการยืนยันว่าปตท.สผ.จะเข้าประมูลสัมปทานแหล่งกงกชที่กำลังจะหมดอายุ รวมถึงการเปิดโอกาสให้สามารถเข้าประมูลแข่งกับเชฟรอนในแหล่งเอราวัณได้ด้วย

ส่วนเม็ดเงินในการเข้าซื้อหุ้นในแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมต่างๆ นั้น จากการพิจารณาสถานะทางการเงินของปตท.สผ.ยังมีความแข็งแกร่ง เห็นได้จากผลการดำเนินการในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิ 232 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 1,038 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังมีเงินสดในมือกว่า 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมที่จะลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจ หากเห็นโอกาส จากปัจจุบันมีปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยอยู่ที่ 325,257 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากการดำเนินการดำเนินงาน 38 โครงการใน 11 ประเทศ และล่าสุดได้ขยายการลงทุนในพื้นที่ที่มีความชำนาญและมีศักยภาพทางปิโตรเลียมสูงอย่างแปลงสำรวจ SK410B ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ "RESET REFOCUS RENEW" ที่วางไว้ โดย ปตท.สผ. เชื่อมั่นว่าแนวทางดังกล่าวจะทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการองค์กรให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนภายใต้วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันและสถานการณ์โลกที่ผันผวนในปัจจุบัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2559