คลังกระตุ้นเบิกจ่าย อัดเงินเข้าระบบ!!

15 เม.ย. 2562 | 07:26 น.


ระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากกว่าที่หลายฝ่ายคาด โดยเฉพาะในยุโรป จีน ขณะที่ สหรัฐฯ เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ไม่นานก็เริ่มเผชิญกับความไม่แน่นอน ซึ่งความเสี่ยงสำคัญอยู่ที่เศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะความกังวลที่มีต่อหนี้ภาคเอกชนของจีนที่มีสัญญาณเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่จะต้องพยายามรักษาระดับการเติบโตให้อยู่ที่ระดับ 6% เอาไว้ให้ได้ ความไม่แน่นอนดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายต้องปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลง และทำให้รัฐบาลหามาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ

ทั้งนี้ ภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท โดยเป็นรายจ่ายประจำ 2.26 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% จากปีงบประมาณ 2561 คิดเป็น 75.4% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน 660,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.1% คิดเป็น 22% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 78,200 ล้านบาท ลดลง 10% คิดเป็น 2.6% ของวงเงินงบประมาณ และที่ไม่ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังไว้ ส่วนประมาณการรายได้อยู่ที่ 2.55 ล้านล้านบาท และมีการตั้งวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลไว้ที่ 4.5 แสนล้านบาท เท่ากับปีงบประมาณ 2561 คิดเป็นสัดส่วน 2.6% ของจีดีพี


คลังกระตุ้นเบิกจ่าย อัดเงินเข้าระบบ!!
©kschneider2991

 

ผ่านไป 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ พบว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 - 28 ก.พ. 2562 พบว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 986,000 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 75,568 ล้านบาท หรือ 8.3% และสูงกว่าคาดการณ์ 22,476 ล้านบาท หรือ 2.3% โดยสาเหตุสำคัญมาจากการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรเพิ่มขึ้น 52,881 ล้านบาท หรือ 8.3% การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 22,054 ล้านบาท หรือ 34.2% และการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตเพิ่มขึ้น 16,222 ล้านบาท หรือ 7.4%
 


ขณะที่ การใช้จ่ายรัฐบาลช่วง 5 เดือน ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2561 - 28 ก.พ. 2562 พบว่า มีการใช้จ่ายแล้ว 1,555,530 ล้านล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 51.9% โดยแบ่งเป็น รายจ่ายประจำมีการใช้จ่ายแล้ว 1,252,458 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,353,569 ล้านบาท หรือคิดเป็น 53.2% ขณะที่ รายจ่ายลงทุน (กรณีไม่รวมงบกลาง) มีการใช้จ่ายแล้ว 303,072 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 556,888 ล้านบาท หรือคิดเป็น 54.4%

อย่างไรก็ตาม กรมบัญชีกลาง ระบุว่า ได้ติดตามความคืบหน้าในการใช้จ่ายเงินของส่วนราชการเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล เพื่อหวังจะกระตุ้นให้มีเม็ดเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และในช่วงไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2562 ตั้งเป้าหมายการใช้จ่ายงบประจำ 57% งบลงทุน 45% และการใช้จ่ายในภาพรวม 54% ซึ่งคาดว่า สิ้นไตรมาสที่ 2 จะมีการใช้จ่ายได้ดีมากขึ้นตามลำดับอย่างแน่นอน