ชงบอร์ดอีอีซีเคาะ "ไฮสปีด" ... 'ซีพี' ยอมถอย!!

15 เม.ย. 2562 | 05:32 น.

ชงบอร์ดอีอีซีเคาะ "ไฮสปีด" ... 'ซีพี' ยอมถอย!!



รฟท. ยัน! กรณีรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เจรจาจบแล้ว กลุ่มซีพีขอถอนออกทั้งหมด เดินหน้ายกร่างสัญญา ก่อนชงบอร์ดอีอีซีเคาะหลังสงกรานต์ มั่นใจ! รัฐบาลยึดตามทีโออาร์

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตามที่มีการนำเสนอข้อมูลผลการเจรจากับกลุ่มซีพีและพันธมิตร ยังมี 3 ข้อเสนอ ที่พยายามให้คณะกรรมการคัดเลือกบันทึกเสนอบอร์ดอีอีซีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ 1.ให้รัฐชำระเงินร่วมลงทุน 117,227 ล้านบาทตั้งแต่ปี 1-6 , 2.ซีพีผ่อนจ่ายค่าใช้สิทธิแอร์พอร์ตลิงค์ 10 ปี เริ่มปีที่ 2-12 พร้อมให้ดอกเบี้ยเพิ่ม 3% และ 3.จัดตั้งซิเคียวริตีฟันด์ (กองทุนฉุกเฉิน) มาซัพพอร์ตโครงการ โดยธนาคารไทยกับธนาคารไชน่าดีเวลลอปเมนท์ของจีน (CDB) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) นั้น ยืนยันว่า กลุ่มซีพียอมถอนข้อเสนอทั้งหมด


ชงบอร์ดอีอีซีเคาะ "ไฮสปีด" ... 'ซีพี' ยอมถอย!!
 

"หลังจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกจะเร่งสรุปรายละเอียดการร่างสัญญาและส่งอัยการตรวจ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการอีอีซีและนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่า ภายในเดือน เม.ย. นี้ ยืนยันว่า การนำเสนอในครั้งนี้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฯ เท่านั้น ไม่ใช่กลุ่มซีพีเป็นผู้กำกับอยู่เบื้องหลัง"

ด้าน แหล่งข่าวจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ รายหนึ่ง กล่าวว่า ร่างสัญญาที่จะต้องใช้ในการลงนามสัญญาต่อกันผ่านการพิจารณาจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว อาทิ สำนักงานอัยการสูงสุด และกลุ่มซีพีก็เห็นชอบแล้วในข้อความต่าง ๆ แต่หากมีการปรับเปลี่ยนโดยเป็นคำสั่งรัฐบาลให้ปฏิบัติ ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามภายใต้กรอบกฎหมายที่กำหนดเท่านั้น


ชงบอร์ดอีอีซีเคาะ "ไฮสปีด" ... 'ซีพี' ยอมถอย!!
 

"มั่นใจว่า ครม. และบอร์ดอีอีซีจะยึดตามข้อมูลผลการเจรจาที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ นำเสนอไปพิจารณา เนื่องจากเป็นโครงการมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท หาก ครม. หรือ บอร์ดอีอีซี กล้าปฏิบัตินอกเหนือไปจากทีโออาร์กำหนดจะตอบคำถามของผู้สนใจทั่วไปว่าอย่างไร ประกอบกับโครงการนี้หลายฝ่ายให้ความสนใจ จึงยังเชื่อว่า รัฐบาลจะยึดตามระเบียบกฎหมาย อีกทั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ล้วนมากจากหลายหน่วยงานของรัฐ ทั้งสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงบประมาณ ฯลฯ จึงกรองข้อมูลมาเป็นอย่างดีแล้วก่อนนำเสนอ ครม. ส่วนขั้นตอนสุดท้าย จะเอา-ไม่เอา จะเรียกกลุ่มบีทีเอสมาเจรจาหรือไม่นั้น ต้องรอรัฐบาลพิจารณาว่าจะมีคำสั่งอย่างไรต่อไป"
 


สำหรับเงื่อนไขที่ทางกลุ่ม CP ได้ยื่นข้อเสนอนอก TOR ได้แก่ 1.ขอขยายโครงการจากเดิม 50 ปี เป็น 99 ปี , 2.ขอให้รัฐอุดหนุนเงินโครงการตั้งแต่ปีแรกที่เปิดดำเนินการ รวมไปถึงการการันตีผลตอบแทน IRR 6.75% ต่อปี , 3.รัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุนในปีที่ 1-6 จากเดิมที่ต้องจ่ายในวันที่เปิดดำเนินการ , 4.สามารถลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่โครงการลงมาเหลือ 5% ได้ในอนาคต เนื่องจากบริษัทอาจนำโครงการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย , 5.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนปรนเพดานกู้เงินเครือ CP เนื่องจากปัจจุบัน CP ติดเรื่องเพดานกู้เงิน หรือ Single Lending Limit ของ ธปท. , 6.ขอให้รัฐบาลค้ำประกันการรถไฟแห่งประเทศไทย ถ้าหากมีปัญหาในภายหลัง , 7.ผ่อนชำระโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ 11 ปี ด้วยดอกเบี้ย 3% จากเดิมต้องจ่ายเงินทันทีถ้าหากรัฐบาลโอนโครงการให้ , 8.รัฐบาลต้องสนับสนุนจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ระดับ 4% ให้กับโครงการด้วย , 9.ขอชำระเงินค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชา เมื่อวันที่ถึงจุดที่มีผลตอบแทน , 10.ถ้าหากโครงการสนามบินอู่ตะเภาล่าช้า รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายด้วย และ 11.ห้ามการรถไฟฯ ทำธุรกิจ หรือ เดินรถแข่งขันกับเอกชน