เซตซีโร่ "ทีวีดิจิทัล-มือถือ" เปิดทางขับเคลื่อน 5G

14 เม.ย. 2562 | 09:50 น.

เซตซีโร่ "ทีวีดิจิทัล-มือถือ" เปิดทางขับเคลื่อน 5G



ม. 44 เซตซีโร่ "ทีวีดิจิทัล-ค่ายมือถือ" ผู้ประกอบการขอความชัดเจนเงื่อนไข กระบวนการ หวังใช้ประกอบการตัดสินใจจะเดินหน้าต่อหรือไม่ หลังเว้นค่าใบอนุญาตงวด 5-6 รวมกว่า 13,622 ล้านบาท พร้อมโปรฯ ฟรีค่ามัค ด้าน นักวิชาการชี้! แค่เปิดทางประมูล 5G

ในที่สุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ออก ม.44 แก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถคืนใบอนุญาตและยืดระยะเวลาชำระค่างวดได้ มีผลให้ผู้ประกอบการมือถือทั้ง 3 ราย ยืดชำระค่างวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย ออกไปถึง 10 งวดชำระ งวดละเท่า ๆ กัน ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลได้รับการยกเว้นการจ่ายค่าชำระใบอนุญาต
งวดที่ 5-6 ซึ่งรวมเป็นเงินทั้งหมดกว่า 13,622 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของยอดเงินประมูลทั้งหมด และที่ผ่านมา ได้มีการชำระเงินเข้ามาแล้วกว่า 60% หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 34,000 ล้านบาท รวมถึงผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้งหมดจะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐในการชำระค่า MUX


เซตซีโร่ "ทีวีดิจิทัล-มือถือ" เปิดทางขับเคลื่อน 5G
⇲ เขมทัตต์ พลเดช ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารทีวีดิจิทัล ช่อง MCOT HD และ MCOT Family และนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

 

นายเขมทัตต์ พลเดช ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารทีวีดิจิทัล ช่อง MCOT HD และ MCOT Family และนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ต้องขอบคุณที่ช่วยให้อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลสามารถเดินต่อไปได้ แต่ในอีกด้านก็ต้องการทราบความชัดเจนในด้าน 1.ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตกรณีที่ยกเว้นการชำระค่างวดที่ 5-6 นั้น ผู้ประกอบการยังต้องจ่ายดอกเบี้ยอีกหรือไม่ เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้พิจารณาความคุ้มค่า ว่า ควรจะดำเนินธุรกิจนี้ต่อ หรือ ควรคืนใบอนุญาต, 2.การเปิดช่องคืนใบอนุญาต กสทช. ควรต้องออกระเบียบให้ชัด เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้จัดเตรียมเอกสารถูก เนื่องจากมีระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีผลบังคับใช้

"กสทช. ต้องเร่งกระบวนการออกระเบียบข้อบังคับให้เร็ว เนื่องจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายต่าง ๆ จะได้พิจารณาความคุ้มค่าจะดำเนินธุรกิจนี้ต่อหรือไม่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมานักวิเคราะห์การลงทุนส่วนใหญ่มองว่า หากสามารถคืนใบอนุญาตได้จะมีช่องทีวีมากกว่า 5 ราย ที่ขอคืนช่อง เนื่องจากหากมองความคุ้มค่าและต้นทุน Fix Cost ต่าง ๆ อาทิ ค่างวดใบอนุญาต ค่าโครงข่าย และค่าบุคลากร ต่าง ๆ เหล่านี้ นับเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง เพราะหากเลือกทำธุรกิจนี้ต่อไปจะต้องดำเนินต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี"


เซตซีโร่ "ทีวีดิจิทัล-มือถือ" เปิดทางขับเคลื่อน 5G
⇲ สมชาย รังษีธนานนท์ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ไบรท์ ทีวี

 

ด้าน นายสมชาย รังษีธนานนท์ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ไบรท์ ทีวี กล่าวว่า มองว่าเป็นเรื่องที่ดี ในส่วนตัวมองว่า สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งเป็นเรื่องของเวลา วันนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก ในอุตสาหกรรมทีวีก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมา ต้นทุนของทีวีดิจิทัลมีต้นทุนราคาแพง ทั้งในด้านค่าสัมปทาน โครงข่ายอื่น ๆ ประกอบกับในเร็ว ๆ นี้ เทคโนโลยี 5G จะเข้ามา ส่งผลให้ผู้ประกอบการอยู่ลำบาก

"สถานการณ์การแข่งขันของอุตสาหกรรมทีวีในปัจจุบัน ไม่ได้แข่งเพียงแค่อุตสาหกรรมเดียวกันเท่านั้น แต่ยังแข่งขันกับสื่อออนไลน์ที่มีมากมายเต็มไปหมด ขณะเดียวกัน ต้นทุนที่ค่อนข้างแพง ประกอบกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในแต่ละเดือนนับว่าสูงลิ่ว อาทิ ค่าบุคลากร คอนเทนต์ ระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึงรายได้ที่เข้ามาไม่คุ้มค่าในบางช่อง เพราะช่องที่มีเรตติ้งลำดับท้าย ๆ ก็จะไม่ได้รับความสนใจและรายได้เข้ามา ขณะที่ 10 ช่องต้น ๆ ที่พอมีเงินทุนและเรตติ้งที่ดีก็จะมีรายได้จากโฆษณา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไบรท์ไม่มีนโยบายคืนช่อง เนื่องจากบริษัทเป็นช่องเล็ก ที่อาศัยเงินจากการผลิตคอนเทนต์และโฆษณาผ่านทางออนไลน์"


เซตซีโร่ "ทีวีดิจิทัล-มือถือ" เปิดทางขับเคลื่อน 5G
⇲ สืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการโทรคมนาคม ฝ่ายพัฒนานวัตกรรมฯ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

 

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการโทรคมนาคม ฝ่ายพัฒนานวัตกรรมฯ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ม.44 ที่มีคำสั่งออกมาเป็นการแก้ไข ทั้งเรื่องการคืนและขยายเวลาชำระค่างวดและช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลให้เดินหน้าไปได้ โดยใช้รายได้จากการประมูลคลื่นที่จะเรียกคืนจากกิจการโทรทัศน์ไปทำโทรคมนาคมมาชดเชย
 


รวมถึงต่อลมหายใจผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่หากจะขอยืดชำระหนี้ก็ต้องแลกกับการมาประมูลคลื่น 700 MHz และนำไปทำ 5G ตามนโยบายเร่งรัดของรัฐ ทั้งนี้ จะเห็นว่าจากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา หากภาครัฐไม่ทำอะไรสักอย่าง ปัญหาอาจขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ และการประมูลคลื่น 5G ก็คงไม่เกิด เนื่องจากเอกชนฟากโทรคมนาคมชะลอการลงทุน ทั้งนี้ ยังไม่รวมส่วนสุดท้ายในข้อ 16 ของประกาศ ที่ให้กระทรวงการคลังไม่ต้องคืนเงินที่ยืมไปจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมนับหมื่นล้าน เพื่อไปใช้ในการพัฒนาประเทศก่อนหน้านี้

ขณะที่ รศ.ดร.พิสิฐ บุญศรีเมือง อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า มีทั้งเรื่องบวกและลบ ถ้าในด้านบวกเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ หากรัฐไม่เข้ามาดูแลเกิดปัญหาการจ้างงานกระทบทั้งระบบ ส่วนผลทางลบกรณีนี้มีหลายมุมมอง ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลต้องถูกตั้งคำถามว่า ทำไมต้องช่วยเหลืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมและบรอดแคสติ้ง เพราะระบบสัมปทานไม่ได้มีเฉพาะอุตสาหกรรมนี้เท่านั้น

 


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,461 วันที่ 14 - 17 เม.ย. 2561 หน้า 01+11

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"หุ้นทีวี-มือถือ" เฮ! BEC เด้ง 10%
"ทีวีดิจิทัล" จ่อคืน 4-5 ราย หลัง คสช. ออก ม.44