บจ. แบกค่าเกษียณพุ่ง! ตั้งสำรองเพิ่ม 3 หมื่นล้าน รับ ก.ม.แรงงานใหม่

11 เม.ย. 2562 | 14:37 น.

บจ. แบกค่าเกษียณพุ่ง! ตั้งสำรองเพิ่ม 3 หมื่นล้าน รับ ก.ม.แรงงานใหม่



นักวิเคราะห์ประเมิน "กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ฉบับใหม่" ดันยอดเงินชดเชยเกษียณอายุ 400 วัน พุ่ง 3 หมื่นล้าน เผย 113 บจ. แบกภาระตั้งสำรองกว่า 1.4 แสนล้าน "ปตท.-การบินไทย-แบงก์กรุงไทย-บัวหลวง-เอสซีจี" ติดท็อปไฟว์

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 พ.ค. 2562 ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ของแรงงานไว้อย่างมากมาย หนึ่งในนั้น คือ การกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยหลังเกษียณให้กับลูกจ้างที่มีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป เพิ่มจาก 300 วัน เป็น 400 วัน ส่งผลให้บริษัทต้องตั้งงบเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับพนักงานที่เกษียณอายุเพิ่มขึ้น 30% โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พบว่า มีการจัดตั้งสำรองรายจ่ายเพื่อรองรับการจ่ายชดเชยให้กับพนักงานที่เกษียณอายุเพิ่มเติมในปีนี้ ราว 3 หมื่นล้านบาท


บจ. แบกค่าเกษียณพุ่ง! ตั้งสำรองเพิ่ม 3 หมื่นล้าน รับ ก.ม.แรงงานใหม่
©StartupStockPhotos
 

⁍ ตั้งสำรองกว่า 1.3 แสนล้าน

นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ฝ่ายวิจัยได้ประเมินบริษัทจดทะเบียน (บจ.) 113 บริษัท ที่อยู่ในการศึกษา ณ สิ้นปี 2561 ได้ตั้งสำรองเงินชดเชยหลังเกษียณสะสมรวมอยู่ที่ 137,935 ล้านบาท ในจำนวนนี้มี 14 บจ. ที่ได้ตั้งสำรองเงินชดเชยหลังเกษียณ 400 วัน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ เมื่อไตรมาส 4 ปี 2561 แล้ว เป็นวงเงินประมาณ 4 พันล้านบาท โดย บมจ.ธนาคารกรุงเทพ ตั้งสำรองส่วนนี้มากสุดถึง 2,500 ล้านบาท

ส่วนปีนี้ยังเหลือ บจ. ที่ต้องตั้งสำรองเพื่อชดเชยการเกษียณตาม พ.ร.บ.คุ้มครองกฎหมายใหม่ อีกประมาณ 23,132 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อกำไร บจ. ในปี 2562 ประมาณ 2.9% จากกำไรของ บจ. ในปีนี้ ที่ประเมินว่าจะอยู่ที่ 795,000 ล้านบาท โดยคาดว่า ส่วนใหญ่จะตั้งสำรองภายในไตรมาส 1-2 ปีนี้


บจ. แบกค่าเกษียณพุ่ง! ตั้งสำรองเพิ่ม 3 หมื่นล้าน รับ ก.ม.แรงงานใหม่
©GraphicMama-team
 

สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่มีภาระค่าใช้จ่ายผลประโยชน์หลังเกษียณ 5 อันดับแรก ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 23,313 ล้านบาท, บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 12,594 ล้านบาท, ธนาคารกรุงเทพ 8,364 ล้านบาท และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (เอสซีจี) 7,573 ล้านบาท

ด้าน นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัสฯ กล่าวว่า ผลจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ฉบับใหม่ ทำให้บริษัทต้องกันสำรองผลประโยชน์สำหรับพนักงานเกษียณเพิ่มขึ้น จากการสำรวจ 230 บจ. หรือคิดเป็น 90% ของมูลค่าตลาด (Market Cap) พบว่า รายจ่ายในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นในปี 2561-2562 รวม 29,488 ล้านบาท จำนวนนี้ได้มีการบันทึกค่าใช้จ่ายในปี 2561 แล้ว 3,261 ล้านบาท ที่เหลืออีก 26,227 ล้านบาท จะบันทึกเป็นรายจ่ายในปี 2562 ซึ่งจะส่งผลต่อกำไรของ บจ. ในปีนี้ ในจำนวนดังกล่าว

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)ฯ ระบุ ผลจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับใหม่ คาดว่า บจ. ส่วนใหญ่จะตั้งสำรองรายจ่ายชดเชยพนักงานหลังเกษียณในช่วงไตรมาส 1-2 ปีนี้ โดยจะกระทบต่อกำไรตลาดรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท


บจ. แบกค่าเกษียณพุ่ง! ตั้งสำรองเพิ่ม 3 หมื่นล้าน รับ ก.ม.แรงงานใหม่
 

⁍ 'บัวหลวง' ควักเพิ่ม 2.5 พันล้าน

ด้าน นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารได้กันสำรองสำหรับพนักงานที่จะเกษียณ หรือ เลิกจ้าง ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ฉบับใหม่ ไปแล้วเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา เห็นได้จากในไตรมาส 4 ปี 2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน 9,111 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,582 ล้านบาท หรือ 39.5% จากไตรมาส 3 ปี 2561 ที่มีค่าใช้จ่ายพนักงาน จำนวน 6,529 ล้านบาท สาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานเพิ่มขึ้น 2,582 ล้านบาท เพื่อรองรับประมาณการหนี้สินที่เพิ่มขึ้น จากการปรับค่าชดเชยกรณีพนักงานเกษียณและเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

 


⁍ พร้อมปฏิบัติตาม ก.ม.ใหม่

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน เอสซีจี กล่าวว่า การจ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง รวมถึงเกษียณอายุให้กับพนักงานที่ทำงานครบติดต่อกัน 20 ปีขึ้นไป ในอัตราไม่น้อยกว่าค่าจ้างสุดท้าย 400 วัน จากเดิมที่มีอัตราค่าชดเชยสูงสุด 300 วันนั้น เอสซีจีคาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะเป็นเรื่องปกติที่ทุกบริษัทต้องทำตามกฎหมาย เช่นเดียวกับเอสซีจีที่ให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงาน ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดขององค์กร โดยบริษัทจะตั้งสำรองค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยในเบื้องต้นยังไม่มีการปรับแผนใด ๆ ในการดูแลพนักงาน ซึ่งที่ผ่านมาจะดูแลด้านสวัสดิการของพนักงานดีอยู่แล้ว

ด้าน นางสาวดวงกมล เศรษฐธนัง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการเงินและบัญชี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีจีซี เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมปฏิบัติตาม โดยปัจจุบัน ในเครือมีพนักงานรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 6.1 พันคน บริษัทจะต้องมีการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพนักงาน 800 ล้านบาท เช่นเดียวกับที่ นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เผยว่า ปัจจุบัน ไออาร์พีซีมีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 5.1 พันคน และไม่ได้รับผลกระทบอะไร เดินหน้าปฏิบัติตามกฎหมาย โดยตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพนักงานตามกฎหมายแรงงาน ฉบับใหม่ ที่ 760 ล้านบาท


บจ. แบกค่าเกษียณพุ่ง! ตั้งสำรองเพิ่ม 3 หมื่นล้าน รับ ก.ม.แรงงานใหม่
⇲ ยอดพจน์ วงศ์รักมิตร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบริหารและพัฒนาศักยภาพองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
 

นายยอดพจน์ วงศ์รักมิตร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบริหารและพัฒนาศักยภาพองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บางจากมีพนักงานรวมทั้งสิ้น 1.45 พันคน ซึ่งประมาณ 40-50% เป็นพนักงานที่มีอายุงานเฉลี่ย 15-20 ปี ซึ่งบางจากพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ พร้อมทั้งดูแลพนักงานเป็นอย่างดี ส่วนการตั้งสำรองหรือรายละเอียดอื่น ๆ นั้น จะต้องมีการหารือภายในบริษัทอีกครั้ง


⁍ อสังหาฯ แห่จ้างเอาต์ซอร์ซ

นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับใหม่ มีผลกระทบกับบริษัทระยะสั้น จากพนักงานกลุ่มสูงอายุ ขณะโมเดลธุรกิจปัจจุบันส่วนใหญ่เน้นจ้างเอาต์ซอร์ซในแต่ละส่วนธุรกิจ ทำให้ช่วยลดภาระลงได้ บริษัทรายใหญ่ที่เปิดดำเนินกิจการมานานพนักงานไม่ไปไหน จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เช่น แลนด์แอนด์เฮ้าส์