BA ปัด 'จุฬางกูร' เมินซื้อหุ้น NOK

07 เม.ย. 2562 | 05:17 น.


"จุฬางกูร" ยังขายหุ้นนกแอร์ไม่ออก "หมอเสริฐ" ปฏิเสธซํ้ารอย AAV "หทัยรัตน์ จุฬางกูร" เตรียมอีก 3 พันล้าน ให้กู้เสริมสภาพคล่อง หลังได้ไฟเขียวที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น 25 เม.ย. นี้ ไม่เช่นนั้นต้องเพิ่มทุนรอบ 4 ผู้บริหารนกแอร์ เร่งแผนหยุดขาดทุน หาเส้นทางบินใหม่สร้างรายได้

การเข้าซื้อหุ้นนกแอร์ของกลุ่มจุฬางกูรกำลังเป็นภาระอย่างหนัก นับแต่เข้าซื้อหุ้น NOK เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2558 จำนวน 3 ล้านหุ้น มีราคาซื้อขายปิดที่ 10.30 บาท คิดเป็นมูลค่า 30.9 ล้านบาท เทียบกับ ณ วันที่ 3 เม.ย. 2562 ราคาหุ้นปิดที่ 2.26 บาท พบว่า ลดลง 8.04 บาท หรือ 78.05% โดยล่าสุด กลุ่มจุฬางกูรถือหุ้น NOK ทั้งหมด 2,095.78 ล้านหุ้น หรือ 67.42% หากเทียบกับราคาปิดล่าสุด 2.26 บาท คิดเป็นมูลค่า 4,736.47 ล้านบาท หรือ แบกภาระขาดทุนแล้ว 4,705.57 ล้านบาท


BA ปัด 'จุฬางกูร' เมินซื้อหุ้น NOK
 

การขาดทุนบักโกรกจากราคาหุ้นในนกแอร์ แถมยังถูกการบินไทยเมินเพิ่มทุนรอบล่าสุด (เพิ่มทุนครั้งที่ 3) แล้วยังต้องปล่อยเงินกู้ให้นกแอร์ร่วม 3 พันล้านบาท เพื่อประคองสภาพคล่อง เพื่อไม่ต้องเพิ่มทุนเป็นครั้งที่ 4 ที่จะยิ่งเป็นภาระ โดยระหว่างนี้ กลุ่มจุฬางกูรวิ่งเสนอขายหุ้นนกแอร์ที่ถืออยู่ 67.42% ออกไป โดยเสนอขายหุ้นกับ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV แต่ไม่บรรลุข้อตกลง เมื่อกลุ่มจุฬางกูรกำหนดเงื่อนไขว่า ถ้าเปิดให้ AAV เข้ามาดิวดิลิเจนซ์แล้ว จะต้องลงนามการซื้อขายในทันที ขณะที่ AAV ต้องการเข้าไปดูสถานะของกิจการอย่างละเอียดก่อน เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมในการลงทุน

ไม่เพียงเท่านี้ กลุ่มจุฬางกูรยังเจรจาขายหุ้นให้กับ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ด้วย แต่เมื่อไม่นานมานี้ ทาง BA ได้ตอบปฏิเสธไปแล้ว แม้นกแอร์จะมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 18.8% ดึงดูดให้ธุรกิจสายการบินสนใจในการต่อยอดธุรกิจ แต่เมื่อลงลึกสถานะการเงินของ NOK มีภาระต้องสะสางอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องของการเช่าเครื่องบินและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ที่ยังมีคดีค้างกับ ลุฟท์ฮันซา เทคนิค

เมื่อยังขายหุ้นไม่ได้กลุ่มจุฬางกูรก็ต้องแบกภาระต่อ โดยในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ในวันที่ 25 เม.ย. 2562 ของ NOK จะมีการขออนุมัติผู้ถือหุ้นเพื่อกู้ยืมเงินจาก นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร ผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 22.15% ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว วงเงิน 3 พันล้านบาท เป็นไปตามมติบอร์ดนกแอร์ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2562 ที่ขอเพิ่มวงเงินกู้เพิ่มอีก 2 พันล้านบาท จากเดิมที่มีจำนวน 1 พันล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานทั่วไป ในช่วงเวลาที่เงินทุนหมุนเวียนติดลบ ไม่เช่นนั้น อาจจำเป็นต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกครั้ง ซึ่งจะยิ่งทำให้เป็นภาระกับกลุ่มจุฬางกูรเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะแน่นอนว่า การบินไทยคงไม่เพิ่มทุน ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหุ้นของการบินไทยที่ถืออยู่ 15.94% ลดลงไปอีก

จากการดำเนินธุรกิจของ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ที่ขาดทุนต่อเนื่องติดต่อกันมากว่า 5 ปีแล้ว (ปี 2557-2561) จนมีภาระขาดทุนสะสมรวมกันกว่า 8.66 พันล้านบาท การดำเนินธุรกิจของ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ปีนี้ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องจับตา เพราะบริษัทจะต้องเร่งทำแผนฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมามีกำไรให้ได้ เพื่อที่กลุ่มจุฬางกูรจะได้ขายหุ้นออกไปได้


BA ปัด 'จุฬางกูร' เมินซื้อหุ้น NOK


ด้าน นายประเวช องอาจสิทธิกุล ประธานกรรมการบริหารและรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ Nok เปิดเผยว่า การขายหุ้นของนกแอร์เป็นเรื่องของผู้ถือหุ้น แต่ขณะนี้ บริษัทต้องหยุดขาดทุนภายในปีนี้ให้ได้ก่อน และต้องหยุดการขาดทุนติดต่อกันถึง 3 ไตรมาส ให้ได้ภายในปี 2563 การขายหุ้นตอนนี้ถือว่าไม่เหมาะ อีกทั้งการดำเนินธุรกิจของนกแอร์ยังเดินได้ตามปกติ โดยไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง และมีกระแสเงินสดเพียงพอ ซึ่งล่าสุด บริษัทได้เงินเพิ่มทุนจำนวน 2,300 ล้านบาท ในการปรับแผนการบริหารงาน และยังมีรายได้การขายตั๋วเครื่องบินเข้ามาวันละราว 40 ล้านบาท หรือ เฉลี่ยเดือนละ 1,200 ล้านบาท

นกแอร์จะหยุดการขาดทุนด้วยการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ต่อเนื่อง โดยได้ปรับปรุงฝูงบินใหม่เพื่อลดค่าใช้จ่ายและปรับเส้นทางบินต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมและสร้างรายได้เพิ่ม โดยก่อนหน้านี้ ได้ยกเลิกการใช้งานเครื่องบินรุ่น ATR 2 ลำ ปัจจุบัน นกแอร์มีเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 16 ลำ และอากาศยานแบบ Q400-8 จำนวน 8 ลำ โดยไม่มีนโยบายเลิกจ้างนักบิน แต่จะให้ไปฝึกบินเครื่องโบอิ้ง 737

มีการยกเลิกเที่ยวบินชั่วคราวบางเส้นทางบิน อย่าง นครพนม ร้อยเอ็ด น่าน ช่วงเข้าโลว์ซีซัน ซึ่งปรับลดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้โดยสารและเป็นการลดต้นทุน ขณะเดียวกันก็มีแผนจะเพิ่มเที่ยวบินและเปิดเส้นทางบินใหม่ด้วยเช่นกัน โดยมีแผนจะเปิดบินเส้นทางดอนเมือง-ฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ในราวไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ที่มีความนิยมมากขึ้น รวมทั้งร่วมมือกับไทยกรุ๊ป ซึ่งประกอบด้วย สายการบินไทยสมายล์ การบินไทยและนกแอร์ โดยได้หารือถึงการนำเครื่องบินของนกแอร์ไปให้บริการในเส้นทางสุวรรณภูมิ-เกาะสมุย เพื่อรองรับผู้โดยสารของการบินไทยที่ต้องการเดินทางต่อไปยังเกาะสมุย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการราวกลางปีนี้ เป็นต้น

 


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,459 วันที่ 7 - 10 เม.ย. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'จุฬางกูร' ส่ง 'วุฒิภูมิ' นั่งบอร์ดนกแอร์
เบื้องลึก AAV ล้มดีลซื้อหุ้นนกแอร์ "จุฬางกูร" ตั้งเงื่อนไขรับไม่ได้