ชงการบ้านรัฐบาลใหม่! เร่ง 4FTA ใหญ่ ฟื้นท่องเที่ยว

01 เม.ย. 2562 | 11:05 น.

ชงการบ้านรัฐบาลใหม่! เร่ง 4FTA ใหญ่ ฟื้นท่องเที่ยว



เอกชนชงการบ้านรอรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนประเทศสู้เศรษฐกิจโลกขาลง เร่งเจรจา 4 เอฟทีเอใหญ่ "ไทย-อียู, ไทย-อังกฤษ, ซีพีทีพีพี, อาร์เซ็ป" นำทัพเอกชนลุยเจรจาขยายการค้า-การลงทุน จี้ฟื้นเชื่อมั่น สานต่ออีอีซี ขจัดคอร์รัปชัน ดันมาตรการภาษี ดึงนักท่องเที่ยว

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2562 ที่ 3.5% ลดลงจากปีที่ผ่านมา ที่ขยายตัว 3.7% จากปัจจัยหลัก คือ สงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ (จีดีพี) พึ่งพาการส่งออกสัดส่วนเกือบ 70% ขณะที่ ปีนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์เมื่อกลางเดือน ก.พ. จีดีพีไทยปี 2562 จะขยายตัวได้ที่ 4.0% แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับคาดการณ์ขยายตัวจีดีพีลงมาอยู่ที่ 3.8% โดยคาดการส่งออกจะขยายตัวที่ 3% (จากเดิมคาดจะขยายตัวได้ที่ 3.8%)
 


ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ตั้งเป้าหมายการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ในช่วงปี 2562-2566 ที่ปีละ 1 แสนล้านบาท หรือ รวมทั้งสิ้น 5 แสนล้านบาท ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ ซึ่งจะมีส่วนเพิ่มการเติบโตของจีดีพีประเทศอีก 2% ต่อปี (1% จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และอีก 1% จากการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย) แต่จากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยหลังการเลือกตั้งที่ภาพยังไม่ชัดเจนว่า ขั้วใดจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และหลังจากนี้จะมีความยืดเยื้อ หรือ มีความไม่สงบเกิดขึ้นตามมาหรือไม่ จากหลายสถานการณ์ยังไม่น่าไว้ใจ ส่งผลถึงนักลงทุนทั้งไทยและเทศต่างชะลอรอดูสถานการณ์และความชัดเจน แต่อีกด้านหนึ่ง ภาคเอกชนผู้ส่งออกฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังคงต้องเดินหน้าทำธุรกิจต่อเนื่อง และรอเวลารัฐบาลใหม่มาช่วยอีกแรง


⁍ เร่งถก 4 เอฟทีเอใหญ่

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภาคเอกชนหวังจะได้รัฐบาลใหม่มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปโดยเร็ว ซึ่งในส่วนของผู้ส่งออกมีหลายเรื่องที่รอรัฐบาลใหม่มาช่วยผลักดัน เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ที่สำคัญ ได้แก่ การฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2557 จากเหตุผลอียูอ้างประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเวลานี้ อียูได้บรรลุความตกลงเอฟทีเอแล้วกับเวียดนามและสิงคโปร์ รอเพียงการมีผลบังคับใช้ ไทยจะเสียเปรียบ (การค้า 2 ฝ่าย ไทย-อียู ไม่รวมอังกฤษ ปี 2561 มีมูลค่า 1.29 ล้านล้านบาท)

ต่อมา คือ การเตรียมแผนเจรจาเอฟทีเอกับอังกฤษ หลังถอนตัวออกจากอียู (เบร็กซิท) ซึ่งอังกฤษเป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ของไทยในยุโรป (การค้าไทย-อังกฤษ ปี 2561 มีมูลค่า 2.26 แสนล้านบาท) การเตรียมการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่ 11 ประเทศสมาชิกเดิม ได้ให้สัตยาบันและข้อตกลงมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2561 ซึ่งใน 11 ประเทศนี้ มีเพียง 2 ประเทศ ที่ไทยยังไม่มีเอฟทีเอด้วย ได้แก่ แคนาดาและเม็กซิโก แต่อนาคตคาด 11 ประเทศสมาชิก จะหันมาทำการค้า การลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้น หากไทยไม่เข้าร่วมจะเสียเปรียบการแข่งขัน

"นอกจากนี้ รัฐต้องเร่งเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP หรือ อาเซียน +6) ที่เป็นตลาดใหญ่ของไทย (การค้าไทย-RCEP ปี 2561 มีมูลค่า 9.67 ล้านล้านบาท สัดส่วน 60% ของไทยค้ากับโลก) เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น ช่วยลดความผันผวนจากตลาดนอกกลุ่ม ขณะเดียวกันยังรอรัฐบาลใหม่ในการนำทัพเอกชนเดินทางไปเจรจากระชับความสัมพันธ์และเพิ่มมูลค่าการค้ากับต่างประเทศ และขอให้ช่วยดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่แข็งค่ามากจนเสียเปรียบคู่แข่งขัน สานต่อโครงการอีอีซี"

 


⁍ ดันภาษี ดึงท่องเที่ยว

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า นอกจากการเจรจาเอฟทีเอในกรอบต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว เรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ระดับ 400 บาทต่อวัน (จากปัจจุบันอยู่ระดับ 308-330 บาทต่อวัน) ตามที่พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้ หากปรับขึ้นจริงในระดับดังกล่าว ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคงตายกันหมด เสนอให้รัฐบาลใช้อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จะยุติธรรมกับทุกฝ่าย

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจยังไม่มีผลกระทบหลังการเลือกตั้งแต่อย่างใด แต่ควรเร่งจัดตั้งรัฐบาลให้รวดเร็ว เพราะจะเกิดคำถามจากนักลงทุนต่างชาติว่า ประเทศไทยได้จัดการเลือกตั้งไปแล้ว แต่ทำไมถึงยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนเรื่องที่อยากฝากถึงรัฐบาลใหม่ คือ ความต่อเนื่องของนโยบายที่ได้วางไว้ รวมถึงการขจัดคอร์รัปชันที่ยังเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล

นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ต้องเร่งฟื้นความเชื่อมั่นให้เกิดกับทุกฝ่าย เพื่อให้ทุกอย่างสามารถเดินหน้าต่อไปได้ สิ่งที่อยากให้รัฐบาลเร่งผลักดันมาตรการภาษีและนักท่องเที่ยว เพราะในธุรกิจค้าปลีกเรื่องของนักท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่ ภาษีจะเป็นตัวเอื้อทำให้เกิดการช็อปปิ้ง ช่วยให้เกิดการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นและเกิดเงินหมุนเวียนในทุกกลุ่มธุรกิจตามไปด้วย


……………….


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,457 วันที่ 31 มี.ค. - 3 เม.ย. 2562 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"สินค้าเกษตร" เฮ! 'พาณิชย์' เผย FTA ดันมูลค่าส่งออกปี 61 โตขึ้นกว่า 245%
อพท. ดึงชุมชน-เอกชนร่วมสร้างท่องเที่ยวยั่งยืน

บทความน่าสนใจ :
เที่ยว "สงกรานต์" ททท. คาดสะพัด 2.04 หมื่นล้าน
พาณิชย์ลุย FTA เต็มสูบหลังเลือกตั้ง