"โลกล้อมไทย" จี้คลอดเลือกตั้ง!!

31 มี.ค. 2562 | 07:07 น.


ท่ามกลางความล่าช้าของการประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างเป็นทางการและเสียงร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งกลายเป็นกระแสกดดันให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลาออกทั้งคณะ เป็นที่น่าสังเกตว่า แรงกดดันจากต่างประเทศก็กำลังทำงานสอดประสานกันโดยไม่ได้นัดหมาย โดยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 มี.ค.) สหราชอาณาจักกร สหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเรียกร้องให้ กกต. ของไทย เร่งประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และตรวจสอบข้อร้องเรียนการทุจริตที่มีการรายงานเข้ามา

แถลงการณ์ที่ออกโดย นายมาร์ค ฟีลด์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกของอังกฤษ ซึ่งโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่การรายงานเกี่ยวกับปัญหาการทุจริตเลอกตั้งจะต้องนำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างว่องไว เป็นธรรม และโปร่งใส เพื่อเป็นหลักประกันความน่าเชื่อถือและควรประกาศผลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สอดคล้องกับแถลงการณ์ของ นางมายา โคซิยานซิค โฆษกฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ สหภาพยุโรป ที่ระบุว่า กำลังรอฟังประกาศผลการเลือกตั้งของไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งอยากให้ออกมาอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และรอให้การทุจริตการเลือกตั้งได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็วและโปร่งใส นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย โดยอุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ปีเตอร์ เฮย์มอนด์ ยังได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคาดหวังอยากเห็นผลการเลือกตั้งของไทยอย่างเร็วที่สุดเช่นกัน

 


จากมุมมองของคณะทำงานสังเกตการณ์การเลือกตั้งในภูมิภาคเอเชีย 2 กลุ่มองค์กร ได้แก่ กลุ่มเครือข่ายแห่งเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (The Asian Network for Free Elections : ANFRE) และมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (Open Forum for Democracy Foundation : P-Net) เห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีปัญหา โดย ANFRE ระบุว่า การเลือกตั้งของไทยแสดงให้เห็นถึงการขาดแคลนขั้นพื้นฐานทางประชาธิปไตยในกระบวนการเลือกตั้ง และถึงแม้รายงานระบุว่า การเลือกตั้งโดยรวมเป็นไปอย่างราบรื่น แต่กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเกินไปก็ทำให้มีบัตรเสียถึง 2.8 ล้านใบ ทางกลุ่มจึงขอให้ กกต. เปิดเผยผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชน

ขณะที่ อีกกลุ่ม คือ P-Net ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เป็นอิสระและไม่ยุติธรรมและยังชี้ถึงความล้มเหลว-ขาดการเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรอีกด้วย

มีการรายงานความไม่โปร่งใสและปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับการเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการแชร์คลิป ภาพ และเรื่องราวเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมาอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการนับและประกาศคะแนนของเจ้าหน้าที่ของ กกต. เช่น การขานชื่อพรรคที่ได้รับเลือกตั้งผิด ๆ ถูก ๆ ระหว่างการนับคะแนน การมีทหารมาเฝ้ายืนดูเพื่อนทหารด้วยกันกาบัตรเลือกตั้งภายในคูหา นอกจากนี้ ในบางหน่วยเลือกตั้งจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ถูกนับคะแนนยังมีมากกว่าจำนวนผู้ที่มาลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งในหน่วยนั้น ๆ อีกด้วย ความไม่ไว้วางใจการทำงานของ กกต. ที่ดำเนินการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้มีความเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ รวบรวมรายชื่อประชาชนเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งลาออกทั้งคณะ ซึ่งปรากฏว่า มีผู้ร่วมลงรายชื่อขับไล่ กกต. จำนวนมากกว่า 7 แสนคน นอกจากนี้ แฮชแท็กที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการโกงการเลือกตั้งครั้งนี้ เช่น #CheatingElection19 ยังกลายเป็นคำยอดฮิตติดอันดับต้น ๆ บนทวิตเตอร์

 


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,457 วันที่ 31 มี.ค. - 3 เม.ย. 2562 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'ศรีสุวรรณ' ตั้งโต๊ะล่าชื่อถอด "กกต." จ่อยื่น "ป.ป.ช." สัปดาห์หน้า
'สวนดุสิตโพล' ชี้! ประชาชนวิตก "เลือกตั้ง" ไม่โปร่งใส