บอร์ดแข่งขันสอบ ทอท. ผูกขาดประมูล "ดิวตี้ฟรี"

20 มี.ค. 2562 | 13:09 น.

บอร์ดแข่งขันสอบ ทอท. ผูกขาดประมูล "ดิวตี้ฟรี"
 

คณะกรรมการการแข่งขันขอข้อมูล ทอท. ตรวจเข้มประมูลดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน เข้าข่ายผูกขาดตลาดหรือไม่ ด้าน 'นิตินัย' ยันมีการแข่งขัน เปิดผลศึกษาไพร์มสตรีทฯ เคาะมูลค่าโครงรวมกว่า 4,600 ล้าน

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทางคณะกรรมการการแข่งขันฯ กำลังขอข้อมูลและรวบรวมรายละเอียดจาก ทอท. ในเรื่องนี้ โดยจะดูว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร กระบวนการ ขั้นตอน ที่จะเปิดประมูลมีการแข่งขันหรือไม่ หรือขัดกับข้อกฎหมายการแข่งขันทางการค้าหรือไม่ อย่างไร ซึ่งยังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่าจะมีการผูกขาดตลาด ทั้งนี้ แม้อำนาจหน้าที่ของ ทอท. สามารถทำได้ในเรื่องการประมูลดิวตี้ฟรีในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ดูแลในเรื่องนี้ แต่ทางคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าก็สามารถที่จะเข้าไปให้ข้อเสนอแนะได้ หากเห็นว่า มาตรการ หรือ นโยบาย ที่ดำเนินการทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด หรือมีพฤติกรรมครอบงำตลาด


บอร์ดแข่งขันสอบ ทอท. ผูกขาดประมูล "ดิวตี้ฟรี"
⇲ นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.


ด้าน นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ตามหลักเศรษฐศาสตร์ นิยามของคำว่า "ผูกขาด" หมายถึง มีผู้ประกอบการรายเดียว แต่ในความเป็นจริง ธุรกิจดิวตี้ฟรีก็ไม่ได้มีผู้ประกอบการรายเดียว แต่มีหลายราย อีกทั้งคำนิยาม การผูกขาด หมายถึง ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้ชี้นำตลาด ซึ่งก็ไม่มี เพราะดิวตี้ฟรีเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันกันในระดับโลก ที่ผ่านมา ธุรกิจดิวตี้ฟรีก็จัดว่าเปิดเสรีอยู่แล้ว ส่วนที่มองว่า ทอท. ผูกขาดเรื่องของเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรีจริง ๆ ก็ไม่ใช่ เพราะ ทอท. มีการเปิดประมูลเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรี ที่สนามบินภูเก็ตมาตั้งแต่ปี 2557

'ทอท.' ​แตะเบรก! ชะลอขายซองประมูล 'ดิวตี้ฟรี'


ก่อนหน้านี้ ทอท. ได้ว่าจ้าง บริษัท ไพร์มสตรีท ประเทศไทย จำกัด เป็นที่ปรึกษาการเปิดทีโออาร์ใน 2 สัญญาดังกล่าว ได้แก่ การจัดทำข้อกำหนดและรายละเอียดการให้สิทธิประกอบกิจการดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ และการบริหารโครงการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเลือกประมูลแบบสัญญาเดียว

ผลการศึกษาของไพร์มสตรีท ได้ประเมินมูลค่าโครงการไว้ว่า ทั้ง 2 สัญญา มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4,600 ล้านบาท แบ่งเป็น สิทธิประกอบการดิวตี้ฟรี มูลค่า 2,800 ล้านบาท และการบริหารโครงการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ (รีเทล) มูลค่า 1,800 ล้านบาท การตีมูลค่าของโครงการจะเป็นการคำนวณจากพื้นที่ ซึ่งให้เช่าพื้นที่ รวมกับค่าใช้จ่ายของเอกชนในการตกแต่ง และการสต๊อกสินค้าของเอกชนในช่วง 1 เดือน ใครชนะประมูลพิจารณาจากผู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด การตีมูลค่าโครงการในการเปิดประมูลรอบใหม่นี้สูงกว่าการประมูลที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งมีการตีมูลค่าการให้สิทธิประกอบการดิวตี้ฟรีอยู่ที่ 800 ล้านบาท


บอร์ดแข่งขันสอบ ทอท. ผูกขาดประมูล "ดิวตี้ฟรี"

ในส่วนของพื้นที่ที่จะนำมาเปิดประมูลในรอบใหม่นี้ ทั้ง 2 สัญญา มีการเปิดประมูลพื้นที่รวมกันราว 3.8 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) โดยเป็นพื้นที่ดิวตี้ฟรี ใน 4 สนามบิน อยู่ที่ 1.4 หมื่นตร.ม. เป็นพื้นที่ในสนามบินสุวรรณภูมิ 1 หมื่นตร.ม. พื้นที่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 อยู่ที่ 3,000 ตร.ม. และพื้นที่ในสนามบินภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ อยู่ที่ราว 1,000 ตร.ม. และพื้นที่รีเทล 2.4 หมื่น ตร.ม.

ขณะที่ นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ยืนยันว่า การเปิดประมูลดิวตี้ฟรีจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 หรือไม่ จะต้องมีการตีความเรื่องกฎหมายประกอบด้วย โดยคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) จะเป็นผู้พิจารณาตีความให้เกิดความชัดเจน

 

……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,454 วันที่ 21 - 23 มี.ค. 2562 หน้า 15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สมาคมค้าปลีกสอนมวย AOT ย้ำสัมปทานดิวตี้ฟรีต้องโปร่งใส ไม่ผูกขาด
จับตา 2 ปัจจัยเสี่ยง  คิงเพาเวอร์-ล็อตเต้ ชิงดำดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ


บอร์ดแข่งขันสอบ ทอท. ผูกขาดประมูล "ดิวตี้ฟรี"