‘ค้าปลีก’ติดลบหนักชงรัฐคลอดแผนใหม่ดูดเงินนักช็อปไทย/เทศ

07 ม.ค. 2559 | 04:00 น.
กำลังซื้ออ่อนแอ/เศรษฐกิจซบ พ่นพิษกลุ่มทุนค้าปลีกเติบโตติดลบครั้งแรกในรอบ 20 ปี สมาคมผู้ค้าปลีกไทยชงรัฐคลอดมาตรการกระตุ้นระลอกใหม่กลางปีหน้าช่วงโลว์ซีซัน มั่นใจกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้รากหญ้าหมุนเวียนทางอ้อมจากการจ้างงานและการค้าชุมชน พร้อมเสนอแผนดูดเงินนักท่องเที่ยวต่างชาติแข่งสิงคโปร์ ฮ่องกง ชี้อานิสงส์มาตรการลดหย่อนภาษีดันอุตสาหกรรมค้าปลีก 3.2 ล้านล้านบาทโตทะลุ 3.05% เพิ่มขึ้นจากเดิม 2.8%

นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ปี 2558 ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ที่ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกไทยทั้งรายเล็ก กลาง ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และผู้ประกอบการรายย่อยที่จำหน่ายสินค้าแบรนด์ไทยและนำเข้าจากต่างประเทศ ประสบปัญหาการเติบโต

ชะลอตัวและติดลบ โดยมีปัจจัยหลักมาจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ และการจับจ่ายหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจที่ลดลง ขณะที่การลงทุนของผู้ประกอบการยังต้องมีต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2 – 4 หมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ล่าสุด (5 มกราคม 2559) สมาคมยื่นข้อเสนอต่อภาครัฐในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในปี 2559 โดยมีเป้าหมายกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยรวมเพื่อให้เกิดการใช้จ่าย และการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย การเร่งรัดการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ให้ดำเนินไปตามแผนงานที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟทางคู่ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการเศรษฐกิจดิจิตอล ฯลฯ ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ในกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางลงล่าง ทั้งเกษตรกร และผู้ใช้แรงงงาน เป็นต้น

การสนับสนุนให้มีการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้ส่วนบุคคลรอบ 6 เดือน เพื่อให้ผู้เสียภาษีที่หักลดหย่อนภาษีรับคืนเงิน ซึ่งจะมีรายได้กลับมาหมุนเวียนจับจ่ายอีกครั้ง ถือเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในอีกทาง ส่วนกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางถึงสูง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างแข็งแรง ควรกำหนดให้มีมาตรการต่างๆ ที่จะมากระตุ้นการจับจ่ายเช่นเดียวกับ มาตรการช็อปเพื่อชาติ , การลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ เป็นต้น ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวจะกระจายไปยังต่างจังหวัด สร้างรายได้ในท้องถิ่น ทำให้ชุมชนซึ่งมีกำลังซื้ออ่อนแอเข้มแข็งขึ้น

"ระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายนเป็นช่วงโลว์ซีซันของทุกธุรกิจ เพราะเป็นฤดูฝนใกล้เปิดภาคเรียน จำนวนนักท่องเที่ยวก็ลดลง การจับจ่ายใช้สอยโดยรวมจึงลดลงตามไปด้วย หากรัฐบาลมีมาตรการออกมาช่วยกระตุ้นสร้างความเชื่อมั่น ปลุกบรรยากาศการจับจ่ายและการลงทุนทั้งจากภาคการท่องเที่ยว โรงแรม และค้าปลีกเชื่อว่าจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จาก 2 มาตรการที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดเม็ดเงิน 1.36 แสนล้านบาท ผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ และลดหย่อนภาษี ที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในทุกระดับชั้นส่งผลให้การจับจ่ายเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย"

ด้านมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์เดียวที่ช่วยผลักดันการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้นนั้น รัฐบาลควรพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าในกลุ่มลักชัวรีแบรนด์ เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น ขณะเดียวกันกำหนดมาตรการทางภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ จุดขายทันที หรือจะเป็นการใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0% สำหรับชาวต่างชาติที่ซื้อสินค้าในวงเงินขั้นต่ำที่กำหนด ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับเงินคืนภาษี และมีเงินกลับไปใช้จ่ายหมุนเวียนต่อ นอกจากนี้รัฐบาลควรเปิดเสรีร้านค้าปลอดภาษีทั้งในสนามบิน และพื้นที่ค้าปลีกนอกสนามบิน ซึ่งจะทำให้มีจุดจำหน่ายสินค้าที่เพิ่มขึ้น และการเลือกซื้อสินค้าสะดวกขึ้น รัฐบาลก็จะได้รายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น

"มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อต้องมีทั้งแบบระยะยาว คือ การลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ส่วนระยะสั้นจะเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจะเห็นผลได้ใน 3-6 เดือน ซึ่งนักท่องเที่ยวถือเป็นฟันเฟืองสำคัญ และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ขณะเดียวกันจะพบว่า แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่เม็ดเงินในการจับจ่ายกลับเท่าเดิม คือเฉลี่ย 5 พันบาทต่อคนต่อวัน โดยมีค่าใช้จ่ายหลักได้แก่ โรงแรม/ที่พัก , อาหารและช็อปปิ้ง ซึ่งการช็อปปิ้งมียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 1.4 พันบาทต่อคนต่อวัน ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง ที่มียอดช็อปปิ้งสูงกว่า 2 เท่าตัวและ 4 เท่าตัวตามลำดับ ดังนั้นการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจ่ายเงินซื้อสินค้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มหรืออื่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ"

ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมค้าปลีกในปี 2558 คาดว่าจะมีการเติบโต 3.05% เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่คาดไว้ 2.8% หรือประมาณ 0.3% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่รัฐบาลออกมาตรการลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทเมื่อซื้อสินค้าและบริการระหว่างวันที่ 25 – 31 ธันวาคม 2558 ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศและมีมู้ดในการจับจ่ายสูงขึ้น โดยพบว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่มีการจับจ่ายเพิ่มขึ้น 20% หรือประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวม 1.25 แสนล้านบาทในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์กีฬา แฟชั่นเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องหนัง และสินค้าอุปโภคบริโภค

ขณะที่อุตสาหกรรมค้าปลีกในปี 2557 มีมูลค่ารวมราว 3.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) 70% และธุรกิจค้าปลีกแบบสมัยใหม่ (Modern Trade) 30% โดยในปี 2559 คาดว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 3.2-3.5% จากปี 2558

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559