ออมสินรื้อใหญ่ระบบปล่อยกู้ ลดอำนาจอนุมัติสินเชื่อ 'ระดับภาค/เขต/สาขา'

08 ม.ค. 2559 | 00:30 น.
ธนาคารออมสินลดอำนาจอนุมัติสินเชื่อ "ระดับภาคเ/เขต/สาขา เจอกันถ้วนหน้า ซีอีโอ "ชาติชาย"เตรียมหาช่องอุดต้นทุนเพิ่มจากการนำเงินเงินเข้ากองทุนแบงก์รัฐทั้งปีนี้ 3.7พันล้านบาท-ตั้งเป้าสินเชื่อโต 6% พร้อมรับลูกค้าเออีซี

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ถึงความคืบหน้าการเข้ามากำกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(SFIs)ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ว่า รอบแรกประจำปีธปท.เข้ามาแล้วซึ่งธนาคารออมสินได้มีการปรับตัวไปแล้ว โดยทุกเรื่องยังอิงกรอบปฎิบัติเช่นเดิมที่ธปท.เคยวางกรอบไว้จึงไม่เป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวอะไรมาก เพียงแต่ในส่วนธปท.จะกำกับมากขึ้นโดยให้แบงก์รัฐเสนอเรื่องไหนที่อยากจะให้ผ่อนปรนบ้าง เช่น เรื่องการกำกับตามนโนยบายรัฐ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ยังดำเนินการค่อนข้างน้อย อย่างการปล่อยสินเชื่อให้ผู้มีรายได้น้อยหรือพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าผู้มีรายได้ปานกลางและธุรกิจ เหล่านี้จะขอให้ยืดหยุ่นบ้าง โดยเฉพาะในเกณฑ์กันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญแต่โดยรวมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารออมสินนั้นกระจายตัวอยู่แล้ว ขณะที่ในส่วนของสินเชื่อข้าราชการครูนั้น เป็นนโยบายของรัฐที่รวมหนี้มาอยู่กับออมสินในหลายปีก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ธปท.รับทราบและดูแลเป็นพิเศษ และมีความเข้าใจอยู่แล้วจึงมีการกำกับที่แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ตามภายใต้การกำกับดูแลของธปท.จะมีผลต่อเงินกองทุนหรือไม่นั้น ผู้อำนวยการออมสินกล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารออมสินมีการสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอย่างเพียงพอ โดยมีสำรองส่วนเกิน ประมาณ 9 พันล้านบาท หลังธปท.เข้าดูแลโดยมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอส)อยู่ที่ 11.4% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 11.1% จึงไม่มีประเด็นเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปี 2559 นั้น ธนาคารยังตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อที่ระดับ 6% (ไม่รวมกลุ่มที่อยู่อาศัย) คิดเป็นเม็ดเงินใหม่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้นายชาติชาย ยังได้กล่าวถึงภาระต้นที่เพิ่มขึ้นในปี 2559 ว่าทั้งปีธนาคารออมสินต้องนำส่งเงินจำนวน 3.7 พันล้านบาท จากปีที่ผ่านมานำส่งเพียงครึ่งเดียวที่ 1.7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.30ก.ย.58) เรื่องให้แบงก์รัฐนำส่งเงินตามพระราชบัญญัติ(พรบ.)กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐพ.ศ.2558ในอัตรา 0.18% ของเงินฝาก

" กรณีเงินนำส่งดังกล่าวถือเป็นต้นทุนของแบงก์ออมสิน ซึ่งก็มีศักยภาพในการบริหารต้นทุนจากรายได้ส่วนหนึ่งที่มาจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น บัตรเดบิต บัตรเครดิตเพิ่มข้น บริการร้านค้า หรือเพิ่มสินเชื่อเพื่อให้มีรายได้เพิ่ม ขณะเดียวกันเราตั้งเป้ากำไรสุทธิไว้ที่ 1.7 หมื่นล้านบาท รวมทั้งจะมีรายได้ส่วนหนึ่งจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และที่สำคัญซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่องคือ การบริหารจัดการต้นทุน บริหารความเสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมานั้นสามารถทำได้ดี ซึ่งปรับลดลงเหลือ 52%จากเป้าเดิมคาดว่าจะลดได้ 55-59%"

ต่อข้อถามคืบหน้าแก้ไขปัญหาหนี้ข้าราชการครูนั้น ปัจจุบันมูลหนี้เฉพาะครูประมาณ 5แสนล้านบาท หากรวมหนี้หนี้ชพค. รวมจำนวน 4.7 แสนล้านบาท ซึ่งหนี้เหล่านี้จะปรับลดลงต่อปีประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท ส่วนแนวทางคงจะมีการหารือกระทรวงศึกษาธิการให้มีการร่วมมือกันมากขึ้นซึ่งกรณีครูที่มีภาระหนี้มากอาจจะมีผลต่อการเลื่อนวิทยะฐานะ ซึ่งส่วนนี้จะช่วยกันกำกับโดยอนาคตอาจจะรวมหนี้ไปอยู่กับสหกรณ์และทางธนาคารออมสินจะอำนวยสินเชื่อให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ย 4-5% หรือกรณีรีไฟแนนซ์หนี้ออกไปทั้งก่อนอาจจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยแต่เบื้องต้นยังหารือกันไม่ถึง 10 สหกรณ์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันธนาคารออมสินมีวงเงินที่ปล่อยกู้สหกรณ์จำนวน 3 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ที่ผ่านมาธนาคารได้ปรับเปลี่ยนอำนาจการอนุมัติสินเชื่อ โดยปรับลดอำนาจการอนุมัติสินเชื่อระดับภาคเหลือวงเงิน 20 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 50 ล้านบาท ,ระดับเขตอนุมัติที่วงเงิน 10 ล้านบาทและสาขาวงเงินอนุมัติ 3ล้านบาท สำหรับส่วนกลางอำนาจอนุมัติวงเงิน 50-100 ล้านบาทโดยเป็นสินเชื่อขนาดเล็กวงเงินต่ำกว่า 100ล้านบาท บอร์ดบริหารวงเงินอนุมัติ 250-500 ล้านบาทและบอร์ดใหญ่ตั้งแต่ 500ล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้ในส่วนของการพัฒนาบุลากรคืบหน้าถึง 3 หมื่นคนจากเป้าจะทำเพียง 1.5 หมื่นคน โดยในส่วนของพนักงานได้ยกระดับศักยภาพในการให้บริการโดยสอบซิงเกิลไลเซนต์จำนวน 1.7 พันรายซึ่งเพิ่มขึ้น 1.5 พันรายจากเดิมมีเพียง 100 รายเท่านั้น

ดังนั้นในแง่ของความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ตลาดเออีซีนั้น ธนาคารออมสินจึงโฟกัสไปในจุดที่รัฐบาลอยากให้ส่งเสริม เช่น ธุรกิจเอสเอ็มอีในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 5-6 จังหวัดซึ่งตั้งอยู่ตะเข็บชายแดน ซึ่งธนาคารออมสินมีความพร้อมที่จะสนับสนุนเอสเอ็มอีในพื้นที่เหล่านั้นให้มีการลงทุน ซึ่งมีฮับสินเชื่อกระจายในพื้นที่ทั่วประเทศครอบคลุม 18 แห่ง

ขณะเดียวกัน ยังพร้อมให้บริการส่วนบุคคล หรือประชาชนในเออีซีโดยมีสาขาทุกจังหวัด ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่จะเป็นธนาคารประชาชนแห่งเออีซี คือ ไม่ได้บริการเฉพาะประชาชนคนไทยอย่างเดียวแต่สามารถให้บริการประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในไทย เช่น เปิดบัญชีกับออมสิน เพียงแสดงหลักฐานแหล่งที่อยู่ /แหล่งที่ทำงาน (Work permit ) ซึ่งเอทีเอ็มธนาคารออมสินเป็นภาษาอังกฤษและเมียนมาร์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559