กลยุทธ์สร้างอาณาจักรซีพีเอฟ ของซีอีโอ...อดิเรก ศรีประทักษ์

10 ม.ค. 2559 | 00:30 น.
"ทุกโอกาส มีความเสี่ยง"...นี่คือหลักคิดของ "อดิเรก ศรีประทักษ์" กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่ทำหน้าที่ขยายอาณาจักรซีพีเอฟให้เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุด ซีอีโอท่านนี้บอกเลยว่า การขยับรายได้ไปสู่ 7 แสนล้านบาท ในอีก 5 ข้างหน้าไม่ใช่เรื่องยาก จากฐานที่ซีพีเอฟมีอยู่ และกลยุทธ์หลักที่จะทำให้ ซีพีเอฟเดินหน้าไปสู่เป้าหมายคือ การเป็นครัวของโลก ดังนั้นเส้นทางธุรกิจของซีพีเอฟ จึงยึดมั่นกลยุทธ์หลัก 3 ประการ คือ

1.การสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจใน 3 ด้าน คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจ การขยายพื้นที่ทำมาหากินให้มากขึ้น และเติบโตโดยการซื้อหรือควบรวมธุรกิจ

2. มุ่งเน้นการสร้างความเป็นเลิศ ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ รูปแบบธุรกิจสมัยใหม่ เพื่อให้ได้ต้นทุน และคุณภาพที่แข่งขันได้ และ 3. การสร้างบุคลากรที่เก่ง ที่ดีให้อยู่กับองค์กร โดยเฉพาะการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ ผู้นำรุ่นใหม่

เรื่องการขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ถือเป็นวิสัยทัศน์หลักอย่างหนึ่งของ ซีอีโอท่านนี้ แต่ในทุกการลงทุนหรือการขยายพื้นที่ทำมาหากินออกไป ต้องคำนึงถึง "โอกาส และความเสี่ยง" ไปพร้อมๆ กัน เพราะในทุกโอกาสมีความเสี่ยง การลงทุนในประเทศใหม่ๆ "อดิเรก" จึงต้องศึกษาอย่างรอบคอบ และไม่ทุ่มลงไปทีเดียวโครมใหญ่ แต่เป็นการลงทุนทีละเล็กทีละน้อย ทดสอบตลาดก่อนว่า มันใช่จริงอย่างที่เขามองเห็นหรือไม่ ถ้าใช่จึงค่อยลงทุนเพิ่ม หรือถ้าไม่ใช่ ก็จะไม่ทำให้เจ็บตัวมาก

"เวลาที่ผมไปประเทศใหม่ๆ ผมจะลงทุนแบบระมัดระวัง ทุกๆ โอกาส มันจะแฝงด้วยความเสี่ยง ความผิดพลาด คุณจะทำอะไรก็ตาม อย่ามองเลิศ ต้องมองความเสี่ยงด้วย ถ้าผมเสี่ยงเล็ก เสี่ยงหาย มันก็เสี่ยงหายเล็ก แต่ถ้าเล็กสำเร็จ ค่อยขยายใหญ่ นี่คือวิธีคิด...เราประเมินได้ เพราะเรามีตัวเลขออกมาทุกเดือน ยอดขายโตไหม กำไรเป็นอย่างไร ขาดทุนเป็นอย่างไร"

สิ่งที่ซีอีโอท่านนี้กำหนดทิศทางไว้ กำลังเดินหน้าไป จากธุรกิจอาหารรายได้ของซีพีเอฟ 65% มาจากต่างประเทศ และต่างประเทศที่เข้าไปลงทุน ก็เป็นประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วกว่าประเทศไทย เพราะฉะนั้น เมื่อเศรษฐกิจในประเทศไม่ดี อัตราความเสี่ยงของซีพีเอฟที่จะได้รับผลกระทบจึงไม่มากนัก ซีพีเอฟเดินหน้าไปในตลาดอาเซียนตั้งแต่ 30-40 ปีที่แล้ว และขณะนี้เขากำลังมองไปที่แอฟริกา ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย

"เราคิดก่อน ต้องทำก่อน นี่คือวิธีวิสัยทัศน์...รัสเซียเราไปซื้อธุรกิจหมู ไก่เนื้อ เราเห็นโอกาสนี้ตั้งแต่ 6-7 ปีที่แล้ว เพราะรัสเซียขาดแคลนเนื้อสัตว์ เราลงทุนไปเป็นหมื่นล้านแล้ว ตอนนี้ผมไปเซอร์เวย์ที่เคนยา และตั้งใจจะลงทุนที่นั่น แต่ไปดูแล้วแทนซาเนีย มันใหญ่กว่า มีคนตั้ง 53 ล้านคน มีพื้นที่กว่า 9 แสนตารางกิโลเมตร พื้นที่ใหญ่กว่าไทยเท่าตัว คนน้อยกว่า ความต้องการไก่เนื้อสูงมาก" และตอนนี้ซีพีเอฟก็ขยายการลงทุนแล้วที่แทนซาเนีย และกำลังศึกษาทั้งเอธิโอเปียและเคนยาต่อ เพราะ "อดิเรก" มองว่า แอฟริกา ซึ่งมีอยู่กว่า 50 ประเทศ มีประชากรกว่า 1,200 ล้านคน จะสามารถเป็นฐานใหม่ที่แข็งแรงของซีพีเอฟได้ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า รวมถึงออสเตรเลีย ที่กำลังลงทุนด้านโรงงานเนื้อแกะ และเนื้อวัว และประเทศในแทบยุโรป อย่างโปแลนด์ ซึ่งมีโอกาสในการลงทุนสูง เพราะความต้องการไก่เนื้อสูงมาก ราคาก็ดี

"อดิเรก" แสดงความคิดเห็นว่า ประเทศในแถบแอฟริกาตะวันออก มันยังเวอร์จิน ถือเป็นสนามการแข่งขันที่ไม่ยาก ต่างจากแอฟริกาใต้ที่เหมือนยุโรป ประเทศแบบนี้จะมีคู่แข่งเยอะ และเป็นคู่แข่งที่แข็งแรง การทำตลาดจะยากกว่า

การเลือกประเทศที่จะเข้าไปขยายการลงทุน "อดิเรก" เน้นเรื่องของโอกาสทางการตลาด และนโยบายของรัฐบาลที่ต้องเปิดรับนักลงทุน เช่น ไก่ราคาแพง เป็นประเทศที่ผลิตไก่ไม่ได้ นี่คือโอกาสของซีพีเอฟ และรัฐบาลต้องสนับสนุน เช่น เอธิโอเปีย มีการเสียค่า VAT หากจะลงทุนเรื่องอาหารสัตว์ ทางซีพีเอฟก็ต้องเข้าไปเจรจาให้รัฐบาลช่วยระงับ VAT ซึ่งรัฐบาลของเขาก็เห็นด้วย เพราะต้องการให้คนเข้าไปลงทุน และนั่นคืออีกหนึ่งกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจของซีอีโอท่านนี้ ที่ไม่เลี่ยงปัญหา และเน้นการแก้ปัญหาให้ถูกต้อง

ซีอีโอซีพีเอฟ ทิ้งท้ายว่า การลงทุนในแอฟริกายังไม่เร่งรีบ จะเริ่มต้นจาก 2-3 ประเทศก่อน เพราะประเด็นสำคัญคือการสร้างคนให้เข้ากับวัฒนธรรมที่นั่นได้ ซึ่งกลยุทธ์ของซีพีเอฟ คือ การสร้างความเป็นเลิศ สร้างสังคม สร้างคน พัฒนาคนของซีพีเอฟ ซึ่งมีทักษะเรื่องของเทคนิคัล ไปสร้างตลาดที่โน่น ควบคู่กับการสร้างงานให้คนท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน และนั่นคือการตอกย้ำกลยุทธ์หลัก ตามวิสัยทัศน์ของผู้นำของซีพีเอฟท่านนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559