พฤกษารุกชิงเหนือคู่แข่ง ดึง PMC นวัตกรรมคุมต้นทุนซื้อที่ดินยันปิดโครงการ

07 ม.ค. 2559 | 23:00 น.
บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS นับเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายแรกที่นำเรื่องของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างสำเร็จรูปพรีแคสต์เข้ามาใช้ก่อสร้างที่อยู่อาศัยในปี 2547 เพื่อช่วยลดระยะเวลาและควบคุมมาตรฐานการก่อสร้าง ซึ่งในช่วงแรกยังไม่ได้รับการตอบรับ แต่ด้วยวิสัยทัศน์ในการมองตลาดทำให้ในเวลาต่อมา ผู้ประกอบการต่างหันมาสร้างที่อยู่อาศัยแบบพรีแคสต์ เพราะมีต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้น ในขณะที่พฤกษาเองก็ได้ชื่อว่ามียอดขายสูงที่สุด เนื่องจากสามารถผลิตสินค้าได้รวดเร็ว ส่งผลให้บริษัท ถูกจับตามองมาโดยตลอดในฐานะผู้นำตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย

จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการนำเรื่องนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารงานด้านต่างๆ และในปี 2557 ได้ประกาศก้าวสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรมแบบองค์รวมเต็มรูปแบบ ส่งผลให้นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงเห็น พฤกษา มีเรื่องของการนำนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 นวัตกรรมที่ พฤกษา นำมาใช้ในการทำงานคือ PMC (Project Management Control)

  PMC ลดระยะเวลาสร้างคอนโดฯ

ต่อเรื่องนี้นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในแต่ละปีราคาบ้านจะปรับตัวสูงขึ้นปีละประมาณ 7% ตามการปรับขึ้นของราคาที่ดิน หากบริษัทไม่มีการนำเรื่องนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการบริหารก็จะทำให้ไม่สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยในระดับกลาง-ล่างได้ ดังนั้นบริษัทจึงต้องให้ความสำคัญกับระบบการก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันใช้ระบบการก่อสร้างแบบ Pruksa REM ( Pruksa Real Estate Manufacturing)ส่งผลให้รอบธุรกิจ นับตั้งแต่การจอง-การโอน (Business Cycle Time) ในส่วนของโครงการแนวราบลดลงเหลือเพียง 81 วัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับบริษัท แต่เพิ่มคุณภาพให้กับงานก่อสร้าง ขณะที่ลูกค้าก็จะได้บ้านราคาไม่แพง เพราะรายได้ลูกค้าตามไม่ทัน เงินเดือนเพิ่มปีละ 5-6% แต่ราคาบ้านปรับขึ้น 7-10% อีกทั้งยังมีปัจจัยเรื่องค่าครองชีพที่สูงตาม ถ้าสามารถควบคุมให้ราคาขึ้นแค่ 2-3% ลูกค้าก็สามารถซื้อได้

นอกจากเรื่องของ Pruksa REM แล้ว ล่าสุดบริษัทยังได้นำเรื่องของ PMC (Project Management Control) เข้ามาบริหารงานคอนโดฯ เพื่อร่นเวลาการก่อสร้างโครงการ ตั้งแต่การซื้อที่ดินจนปิดโครงการ ในเรื่องของกระบวนการจัดซื้อที่ดินต้องซื้อในราคาไม่แพง เช่น หากต้องการซื้อที่ดิน 1 แปลงต้องมีผู้ขายหลายรายเข้ามาเสนอราคา เพื่อให้ได้ราคาที่บริษัทต้องการ รวมถึงการว่าจ้างคู่ค้าที่มีคุณภาพ เมื่อเวลาสั้นลงก็ลดค่าใช้จ่ายลง มีประสิทธิภาพในการบริหารงานมากขึ้น

“ตอนนี้เราใช้เวลาก่อสร้างอาคาร 8 ชั้น 6-8 เดือน จากเดิมใช้เวลา 1 ปี ถ้า 30 ชั้น ปกติใช้เวลาก่อสร้างเกือบ 2 ปี แต่อาจเหลือเพียง 1.5 ปี เป็นการช่วยชดเชยราคาค่าก่อสร้างและที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น ถ้าเราไม่ทำอะไรที่อยู่อาศัยก็จะขึ้นปีละ 7% โดยประมาณ แต่ถ้าเราทำแบบนี้อาจจะขึ้นแค่เพียง 2-3% ได้ อนาคตอาจนำมาใช้กับทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว เราเริ่มมาได้กว่า 1 ปี ทำให้คุณภาพบ้านดีขึ้นตลอดเวลา”

 เน้นสร้างที่อยู่อาศัยมาตรฐานสูงขึ้นลดร้องเรียน

ปัจจุบันบริษัทมีปัญหาการร้องเรียนหลังโอนเฉลี่ย 2 เรื่องต่อหลังถือเป็นปกติ ซึ่งบริษัทได้ไปดำเนินการแก้ไข ขณะที่ยอดโอนบ้านปี 2558 อยู่ที่ 1.9 หมื่นหน่วย จะมีร้องเรียนบ้างก็เป็นเรื่องปกติ ซึ่งบริษัทได้เร่งสร้างมาตรฐานงานก่อสร้างให้สูงขึ้น โดยถือเป็นนโยบายหลักของบริษัทที่มุ่งเน้นมาตั้งแต่กลางปี 2558 และจะเริ่มชัดเจนในปี 2559 เช่น เรื่องเสาเข็ม โดยปกติโครงการทั่วไปจะใช้เข็มที่ไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) นับตั้งแต่กลางปี 2558 เป็นต้นมา บริษัทได้เปลี่ยนคุณภาพของเสาเข็มกับซัพพลายเออร์ ต้องเป็นเข็มที่มีมอก. แม้ว่าจะมีราคาแพงขึ้น 10% เพื่อลดข้อร้องเรียนของลูกค้า เพื่อให้บ้านแข็งแรงขึ้นให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ตามมาตรฐานที่กระทรวงอุตสาหกรรมรับรอง แม้ว่าเสาเข็มจะอยู่ใต้ดินก็ตามแต่บริษัทก็คำนึงถึงคุณภาพและความแข็งแรงของตัวบ้าน

นอกจากนี้ บริษัทมีการปรับมาตรฐานวัสดุอื่นๆ สูงขึ้นเช่นกัน เช่น สุขภัณฑ์ เลือกซัพพลายเออร์ที่มีแบรนด์น่าเชื่อถือและมีชื่อเสียง มีดีไซน์ เพื่อให้ถูกใจลูกค้า เช่น แบรนด์ คอตโต้ โตโต้ และโคลเลอร์ ขณะที่หลอดไฟมีการปรับเปลี่ยนให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น ประหยัดไฟ หลอดแบบเดิมที่ไม่ประหยัดไฟก็เลิกใช้ เปลี่ยนเป็นหลอดประหยัดไฟทั้งหมด แม้ว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้น 5-10% แต่ในระยะยาวแล้วถือว่าคุ้ม โดยบ้านระดับกลางขึ้นไปใช้หลอดไฟฟิลิปส์ ปกติสินค้าเหล่านี้จะทำให้ต้นทุนเพิ่มประมาณ 20% แต่มีการสั่งสินค้าปริมาณมาก และให้ทางซัพพลายเออร์ช่วยลดราคาลง ทำให้ลูกค้าได้สินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559