ปิดปีแพะ‘หุ้น-ทอง’สิ้นแรง ดัชนีชี้ศก.หลุดเป้ายกขบวน /เตือนปี59ยังผันผวน

05 ม.ค. 2559 | 00:00 น.
เจาะตัวเลขจริงดัชนีชี้ศก.ไทยส่งท้ายปีแพะพลาดเป้าหมาย หุ้นติดลบ 14% หักปากกาเซียนที่คาดได้เห็น 1,700 จุด พานักลงทุนติดดอยสูงสุด 1,620 จุด นักวิเคราะห์เตือนรับมือปี 59 ผันผวนแรง 400 จุด ขณะที่สถานการณ์ราคาทองคำตลาดโลกปี 58 ปรับลง 9.13% ด้านเครื่องชี้ภาพศก. ตกเป้ายกขบวน ส่งออก 11 เดือนหดตัว 5.5% จีดีพีภาคอุตสาหกรรมต่ำกว่าเป้า

[caption id="attachment_24614" align="aligncenter" width="600"] ดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 2558 ดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 2558[/caption]

เศรษฐกิจไทยส่งท้ายปี 2558 บนคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีโตเฉียด 3.00% "ฐานเศรษฐกิจ" รวบรวมสรุปตัวเลขจริงเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญของปี 2558 อาทิ จีดีพีภาคอุตสาหกรรม ดัชนีภาคอุตสาหกรรม(MPI) มูลค่าส่งออก ดัชนีหุ้น ราคาทองคำ ฯลฯ

ตลาดหุ้นไทยปี 2558 ถือเป็นอีกปีที่หักปากกาเซียนชนิดไม่ไว้หน้า โดยให้ผลตอบแทนติดลบ 14 % เทียบจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2558 ปิดที่ระดับ 1,283.78 จุด นอกจากนี้หุ้นไทยยังปรับตัวลงต่ำกว่าตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะที่ระหว่างปีดัชนีปรับขึ้นสูงสุดหรือนิวไฮ ของปีที่ 1,620 จุด ในเดือนกุมภาพันธ์ และทำจุดต่ำสุดในเดือนธันวาคมที่ 1,261 จุดปลายเดือนธันวาคม

หุ้นไทยปี 2558 ไม่เป็นไปตามโพลล์นักวิเคราะห์ ที่คาดว่าจะได้เห็นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯปรับตัวขึ้นทำนิวไฮที่ระดับ 1,706 จุด ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยกดดันหลักมาจากภายนอก โดยเฉพาะการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ราคาน้ำมันดิบโลกที่ตกต่ำ 50% จากระดับสูงของปี 2558 (65 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลเมื่อ 5 พ.ค. 58)

นอกจากนี้ยังมี ปัจจัยลบในประเทศ ทั้งเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การประมูลคลื่น 4G (1800 และ 900 เมกะเฮิร์ต) ซึ่งมีการสู้กันด้วยราคาที่สูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้กว่า 1-2 เท่าตัว ถือเป็นปัจจัยกดดันต้นทุนดําเนินงานของทั้งอุตสาหกรรมมือถือ

แนวโน้มปี 2559 นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และนักลงทุนสถาบัน คาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยผันผวนสูง โดยให้กรอบการเคลื่อนไหวระหว่าง 1,098 -1,500 จุด และคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียน(บจ.)สามารถเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก หรือเติบโตได้ราว 10% ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวและผลจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จากงวด 9 เดือนแรกของปี 2558 บจ.ทั้งตลาดมีกำไรสุทธิรวม 4.6 แสนล้านบาท ลดลง 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปัจจัยลบหลักจากภายนอก คือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ปัจจัยเสี่ยงหลักในประเทศ คือ ปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยปี 2559 มีโอกาสแกว่งตัวผันผวนในกรอบที่กว้างขึ้นกว่า 400 จุด (จุดสูงสุด - จุดต่ำสุด) หรือคาดการณ์กรอบดัชนีที่ 1,100-1,500 จุด อ้างอิงอัตราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น(พีอี เรโช) ที่ 11-15 เท่า สาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยในปี 2559 ยังไม่อยู่ในช่วงภาวะขาลงแต่มองปี 2560 จะเป็นปีที่น่ากังวลอย่างแท้จริง เนื่องจากปัจจัยสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่จะเริ่มปรับตัวลดลง

ด้านสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของราคาทองคำตลอดทั้งปี 2558 ผันผวนตามการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากผลของกระแสคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด

นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด เปิดเผยว่า สรุปภาพรวมการเคลื่อนไหวของราคาทองตลาดโลกปี 2558 (ณ 25 ธ.ค.58) ปรับตัวลง 108.05 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ หรือปรับตัวลง 9.13% จากราคาเปิดในช่วงต้นปี2558 ที่ 1,183.55 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ โดยเหวี่ยงตัวในระดับ 260.35 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ หรือ 22% จากราคาเปิด

อย่างไรก็ตาม ราคาทองในประเทศปรับลงน้อยกว่าราคาทองคำในตลาดโลกค่อนข้างมาก โดยอ่อนตัวลงเพียง 150 บาทต่อบาททองคำ หรือประมาณ 0.81% เนื่องจากค่าเงินบาทในปี 2558 อ่อนค่าไปแล้วถึง 3.15บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 9.57% เพราะการแข็งค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับภาพรวมราคาทองคำในตลาดโลกปี 2559 หากราคาทำจุดต่ำสุดใหม่ที่ต่ำกว่า 1,046 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ มีโอกาสที่ราคาจะอ่อนตัวลงไปสู่บริเวณ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ โดยวายแอลจีประเมินกรอบความเคลื่อน ไหวราคาทองคำมีแนวรับที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ หรือ 17,500 บาทต่อบาททองคำ และแนวต้านอยู่ที่ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ หรือ 21,000 บาทต่อบาททองคำ

ดัชนีชี้เศรษฐกิจที่สำคัญอีกตัว คือ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือMPI ล่าสุด (29 ธ.ค. 58)สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงตัวเลข MPI โดยนายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ภาพรวมของดัชนีภาคอุตสาหกรรมหรือ MPI ขยายตัวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยทั้งปีคาดการณ์ว่าจะอยู่ในระดับ 0.0% ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นปี 2558 อยู่ที่ 3-4% อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 64% ลดจากจากปี 2557 เฉลี่ยอยู่ที่ 65% ส่งผลให้จีดีพีของภาคอุตสาหกรรมปี 2558 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.5 % จากที่ประเมินไว้ที่ 2-3% ส่วนปี 2559 คาดภาวการณ์ผลิตของภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งสศอ. คาดการณ์ MPI ปรับตัวอยู่ในระดับ 2-3% และจีดีพีภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 1.5-2.5%

ดัชนีชี้เศรษฐกิจที่สำคัญอีกตัวคือ มูลค่าการส่งออกของไทย กระทรวงพาณิชย์แถลงเมื่อ 28 ธันวาคม 2558 สรุป มูลค่าการส่งออก 11 เดือนแรก(ม.ค.-พ.ย. 58) มูลค่ารวม 1.97 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 5.5% ซึ่งจากที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกปี 2558 โตติดลบที่ 3% นั้น ตามเป้าหมายติดลบที่ 3% ในปี 2558 จะต้องส่งออกให้ได้ 2.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนว่าในเดือนสุดท้ายของปีจะต้องทำให้ได้ถึง 2.34 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงจะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งไม่มีทางทำได้อย่างแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,118
วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 – 2 มกราคม พ.ศ. 2559