หุ้นเด่นปี 2559

05 ม.ค. 2559 | 08:00 น.
[caption id="attachment_24729" align="aligncenter" width="600"] บมจ.ท่าอากาศยานไทย : AOT บมจ.ท่าอากาศยานไทย : AOT[/caption]

 

บมจ.ท่าอากาศยานไทย : AOT
ซื้อ : ราคาเหมาะสม 370 บ.

บล.ฟิลลิป ฯคาดว่า ผลการดำเนินงาน AOT ในปี 2559 จะยังเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากช่วงไตรมาส 1/59 คาดว่าจะเปิดใช้งานสนามบินดอนเมืองเทอร์มินัล 2 ที่ได้มีการปรับปรุง และจะเปิดใช้สนามบินภูเก็ตในส่วนที่ได้ปรับปรุงไปด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น

คงคำแนะนำ "ถือ" เนื่องจากให้ราคาเป้าหมายไว้ ที่ 339 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ AOT ในปี 2559 (ปิดงบในเดือนก.ย.59) คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว (ปิดงบในเดือนก.ย.58) ที่มีกำไรสุทธิ 1.87 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปี 2558 AOT มีรายการพิเศษ โดยมีการกลับรายการภาษีโรงเรือนจำนวน 2.8 พันล้านบาท แต่หากพิจารณาในส่วนของกำไรจากการดำเนินงาน ในปี 2559 จะเห็นได้ว่ามีการเติบโตต่อเนื่อง

บล.บัวหลวงฯ ประเมินผลประกอบการไตรมาส 1/59 (ต.ค.-ธ.ค.58) ของAOT น่าจะเติบโตแข็งแกร่งจากช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยวไทยและน่าจะเป็นปัจจัยหนุนราคาหุ้นในระยะสั้น นอกจากนี้การเติบโตเฉลี่ยต่อปีของกำไรหลักช่วงปี 2558-2560 คาดอยู่ที่ 21% น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนราคาหุ้นได้ แนะนำ "ซื้อ" ให้ราคาเป้าหมาย 370 บาทต่อหุ้น

ที่มา : บล.ฟิลลิปฯ ,บล.บัวหลวงฯ

[caption id="attachment_24733" align="aligncenter" width="600"] บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์: BH บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์: BH[/caption]

บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์: BH
ให้ราคาเหมาะสม 270 บ.

แม้เศรษฐกิจในประเทศจะชะลอตัว แต่คาดว่ากลุ่มการแพทย์จะรายงานการเติบโตของกำไรสุทธิที่ดี 21 %ในปี 2559 โดยคาดว่า BH จะรายงานการเติบโตของกำไรแข็งแกร่งที่ 26 % เทียบปี 2558 การเติบโตที่แข็งแกร่งของจะได้รับแรงผลักดันจากการเติบโตที่ของจำนวนผู้ป่วยชาวต่างชาติ ,ความเสี่ยงขาลงที่น้อยลงของผู้ป่วยในประเทศ และEBITDA มาร์จินที่สูงขึ้น ซึ่งเกิดจากการควบคุมต้นทุนที่ดี,การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยที่มีโรคซับซ้อนมากขึ้น

BH กำลังขยายเครือข่ายโรงพยาบาลดังนี้ 1. ปรับปรุงอาคารโรงพยาบาลที่มีอยู่(ซอยนานา ) เพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้ป่วย 2. เปิดคลินิกวินิจฉัยโรคในเมียนมาเพื่อส่งต่อผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ 3.การแล้วเสร็จของการก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่บนถนนเพชรบุรี ภายในปี 2563

ชู BH เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มโรงพยาบาล ให้ราคาเหมาะสม 270 บาท เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำในประเทศที่มี 1.การเติบโตของกำไรต่อหุ้น(EPS)ปี 2559 แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มที่ 26 %(เทียบกับ 20 % ของคู่แข่งในภูมิภาค) 2.มี EBITDA มาร์จินสูงที่สุดในกลุ่ม(เทียบกับคู่แข่งในภูมิภาคที่ 22 %) 3. มี ROE หรือผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นสูงที่สุดในกลุ่มที่ 31 % (เทียบกับ 16 % ของคู่แข่งในภูมิภาค และ 4. หุ้นมีมูลค่าที่ถูกที่สุดที่ PEG 1.3 เท่า ในปี 2559 (เทียบกับ 1.8 เท่าของคู่แข่งในภูมิภาค

ที่มา : บล.กสิกรไทยฯ

บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิกส์: KCE
ดาวจรัสแสงของกลุ่ม

KCE เป็นเสมือนดาวจรัสแสงกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนแผ่นพิมพ์วงจร (Printed Circuit Board:PCB) ประเภทยานยนต์ใหญ่เป็นลำดับ 6 ของโลก ถือว่าสามารถทำรายได้และกำไรได้มากอย่างสม่ำเสมอ ด้วยแรงผลักดันคือ การขยายกำลังการผลิตตอบสนองต่ออุปสงค์ใน PCBs ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงอัตรากำไรให้เพิ่มขึ้นได้ดี

คาดการณ์อัตราการเติบโตกำไรสดใส ปี 2559 เป็น 28% และปี 2560 เป็น 14% แผนการขยายไปยังโรงงานแห่งใหม่เป็นไปตามที่กำหนด นั่นคือ เฟส 1 และ 2 ได้แล้วเสร็จตั้งแต่ตุลาคม 2558 ขณะที่เฟส 3 จะสำเร็จปลายปี 2560 คิดเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตได้ประมาณ 62% จากเดิม เทียบกับกำลังการผลิตปี 2557 จึงคาดว่ารายได้งวดปี 2559 และปี 2560 จึงจะเพิ่มขึ้นตามมาในอัตรา 20% และ 13% ตามลำดับ อีกทั้งคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นในงวดปี 2559 และปี 2560 จะเพิ่มขึ้นเป็น 33% และ 33.3% ตามลำดับ เทียบกับปี 2558 ที่ 31.9%

ประเมินราคาหุ้นพื้นฐานเป็น 73 บาท ซึ่งประเมินด้วยพีอี เรโช ปี 2559 ที่ 15 เท่า ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยในอดีต สาเหตุที่ให้ส่วนเพิ่ม หรือพรีเมียม เพราะแนวโน้มอัตราการเติบโตกำไรปี 2559 ที่แข็งแกร่ง และอัตราส่วน PEG (P/E Per Growth) ก็อยู่ในระดับที่ต่ำเพียง 0.5 เท่า

ที่มา : บล.ดีบีเอสวิคเคอร์สฯ

บมจ.ช.การช่าง :CK
ให้น้ำหนัก"เท่าตลาด"

งานในมือรอรับรู้รายได้ หรือแบ็กล็อกของ CK เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 9.14 หมื่นล้านบาท หลังกิจการร่วมค้ (CK 70% : ช.ทวีก่อสร้าง 30%) แจ้งข่าวลงนามสัญญาจ้างโครงการรถไฟทางคู่ จิระ-ขอนแก่น มูลค่าโครงการ 2.3 หมื่นล้านบาท สามารถรองรับรายได้ในระดับ 3 หมื่นล้านบาทไปได้ 2-3 ปี

ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยฯคงคำแนะนำ "NEUTRALหรือให้น้ำหนักลงทุน"เท่ากับตลาด" ต่อหุ้น CK ที่ราคาเป้าหมายปี 2559 ที่ 30.60 บาท จากราคาปัจจุบันมีอัพไซด์จำกัด เมื่อเทียบกับประมาณการของฝ่ายวิจัยฯ และยังไม่มีแนวโน้มจะปรับประมาณการกำไรปกติของ CK ขึ้น จากที่แนวโน้มการได้งาน รวมถึงการเปิดประมูลงานภาครัฐยังไม่ได้มีสัญญาณว่าจะเร็ว หรือมากกว่าที่คาดไว้

ขณะที่ยังคงมุมมองที่คาดว่าCK มีแนวโน้มได้งานใหม่เพิ่มต่อเนื่องในช่วงปี 2559-2560 และคงมุมมองว่าบริษัทดังกล่าวมีแนวโน้มได้รับงานภาครัฐมากที่สุดในกลุ่ม จากศักยภาพที่พร้อม จากทั้งส่วนของโครงการน้ำบากมูลค่ากว่า 1.7 หมื่นล้านบาท รวมถึงโครงการภาครัฐที่มีแนวโน้มเปิดประมูลต่อเนื่องในช่วง 2559-2560 โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมูลค่ากว่า 1.1 แสนล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังมีแรงเสริมจากเงินลงทุนในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

ที่มา : บล.โนมูระ พัฒนสินฯ

[caption id="attachment_24731" align="aligncenter" width="600"] บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ : LH บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ : LH[/caption]

บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ : LH
เด่นสุดในกลุ่มอสังหาฯ

จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในปี 2559 รวมถึงตัวหนุนด้านภาษีอสังหาริมทรัพย์ในระยะสั้นจากรัฐบาล คาดว่าบริษัทที่อยู่อาศัย 9 แห่งที่อยู่ในการวิเคราะห์ของบล.กสิกรไทยฯ (ดูตารางประกอบ)จะมีการเติบโตของกำไรที่ดีในระดับ 10 %ในปี 2559 ในแง่มูลค่าหุ้นที่อยู่อาศัยทั้งหมดพบว่าราคามีการซื้อขายที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 5 ปีมาก

[caption id="attachment_24734" align="aligncenter" width="600"] ราคาเป้าหมายหุ้นอสังหาฯ ราคาเป้าหมายหุ้นอสังหาฯ[/caption]

ส่วนหุ้นแนะนำ เลือกLH เป็นหุ้นเด่นที่สุดในกลุ่ม เนื่องจากโดดเด่นในหลายด้าน โดยคาดว่าผลประกอบการจะดีขึ้นอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ไตรมาส 4/2558 ขณะที่รายการอื่น ๆ เช่น การขายสินทรัพย์ให้กับกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์(รีสท์) ในไตรมาส 4/58 และการประกาศลงทุนใหม่ เช่น ช็อปปิ้งคอมเพล็กซ์ใหม่ในพัทยา น่าจะเพิ่มความน่าตื่นเต้นให้กับราคาหุ้นในปี 2559 นอกจากนี้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2558-2559 ที่ 5.6- 6.6 % นั้นก็น่าดึงดูดใจ

ส่วนPS และSPALI ก็น่าสนใจ จากผลประกอบการที่ดูดีแม้จะในสถานการณ์ตลาดอ่อนตัว ทั้งนี้เนื่องจากการที่บริษัทเน้นในกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงล่างทำให้ได้ประโยชน์มากที่สุดจากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ

ที่มา : บล.กสิกรไทยฯ

บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา : CPN
ซื้อ: ราคาเป้าหมาย 61 บ.

CPN วางเป้ายอดขายต่อสาขา ( SSSG) เติบโต 3-4% ในปี 2559 จากเดิม 2-3% ในปี 2558 จากรายได้ค่าเช่าในรูปแบบส่วนแบ่งยอดขาย (Consignment Rental Income) ที่คิดเป็นสัดส่วน 34% ของพื้นที่ให้เช่ารวม และสัดส่วนส่วนลดที่ให้ผู้เช่าพื้นที่ที่ลดน้อยลง ฝ่ายวิจัยฯยังคงมีมุมมองบวกเกี่ยวกับอัตราค่าเช่าเฉลี่ยที่อาจปรับเพิ่มขึ้น (ประเมินเพิ่มขึ้นราว 5% ในปี 2559 จากเดิม 2.5% ในปี 2558) และการเปิดตัวหลังปรับปรุงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลปิ่นเกล้า (4% ของรายได้รวม) ซึ่งสัดส่วนราว 50% ของพื้นที่ให้เช่ารวมจะมีการปรับจากสัญญาเซ้งระยะยาวเป็นระยะสั้น

CPN วางแผนเปิดตัวห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ปี 2559 และนครราชสีมาช่วงต้นปี 2560 ซึ่งจำนวนโครงการเปิดตัวใหม่ในปี 2559 จะยังคงต่ำแต่เชื่อว่าการดำเนินงานสำหรับทั้งปีของห้างสรรพสินค้าทั้ง 3 แห่งได้แก่ ระยอง Westgate และ EastVille และการเข้าซื้อห้างสรรพสินค้าในภูเก็ตในปี 2558 จะช่วยหนุนกำไรให้เติบโตได้ในปี 2559 ประเมินรายได้ปี 2559 เติบโต 16% มากกว่าเป้าบริษัทที่ 14-15% หนุนประเมินกำไรสุทธิ 2559 ที่ 16% จากเดิม 15% ในปี 2558

CPN เป็นหุ้นเด่น ในกลุ่มคอนซูเมอร์ จากรายได้ค่าเช่าที่แข็งแกร่งท่ามกลางสภาพการบริโภคในประเทศที่อ่อนแอ ซึ่งยังไม่คาดว่าจะมีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญจนกระทั่งปี 2559 ให้ราคาเป้าหมาย 61.00 บาท อิงจากระดับพีอี เรโช ปี 2559 ที่ 28.4 เท่า

ที่มา : บล. อาร์เอชบี (ประเทศไทย) ฯ

บมจ.เมืองไทย ลิสซิ่ง : MTLS
ซื้อ: ราคาเป้าหมาย 30.60 บ.

ภาพรวมในช่วง 3 ปีข้างหน้าของMTLS ยังเป็นช่วงเวลาของการปูพรมเปิดสาขาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ตามที่ปักไว้ที่ 1,750 แห่ง ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่มาจากสาขาที่เปิดในปี 2558 ที่คาดไว้ 435 แห่ง ซึ่งจะทยอยสร้างกำไรมากขึ้นในปี 2559 ขณะที่แรงส่งปี 2560 เกิดจากแผนการเปิดสาขาในปี 2559 อีกไม่ต่ำกว่า 450 แห่ง และอีก 360 แห่งในปี 2560

จากแผนดังกล่าวจะขับเคลื่อนรายได้และกำไรเติบโตไม่ต่ำกว่า 50% จึงนำไปสู่การเพิ่มประมาณการและราคาหุ้นพื้นฐานปี 2559 เป็น 30.60 บาท แนะนำ"ซื้อ" ภายใต้คาดการณ์ ROE หรือผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นระยะยาวที่ 21.6% และการเติบโตระยะยาวที่ 11.5%

ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2558-2559 ขึ้น 6.9% และ 13.7% จากเดิม โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับเพิ่มสมมติฐานสินเชื่อสุทธิที่ประเมินไว้ต่ำไป และลด credit cost เนื่องจากประเมินไว้สูงไป ส่งผลให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2558-2559 เติบโตอย่างมีนัยสำคัญถึง 50.60% และ 40.60%
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 4/58 คาดว่ายังสามารถขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ ได้ต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของสินเชื่อในช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอยในปลายปี

ที่มา : บล.เอเซีย พลัสฯ

[caption id="attachment_24730" align="aligncenter" width="600"] บมจ.บางจากปิโตรเลียม:BCP บมจ.บางจากปิโตรเลียม:BCP[/caption]

บมจ.บางจากปิโตรเลียม:BCP
ลุ้นนิวไฮ 43.50 บ.

ด้วยมุมมองต่อผลประกอบการที่แข็งแกร่งในงวดไตรมาส 4/58 ของ BCP ประกอบกับกำไรที่โดดเด่นในช่วง 9 เดือนแรกเชื่อว่าจะเห็นกำไรสุทธิทั้งปี 2558 ปรับตัวสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึง 708% เทียบปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 5.7 พันล้านบาท จากฐานกำไรที่ต่ำในปี 2557 ที่ 712 ล้านบาท ก่อนที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอีก 7% ในปี 2559 และน่าจะให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่จูงใจอีกราว 5.0% ต่อปี

นอกจากนี้มีมุมมองเชิงบวกต่อความคืบหน้าล่าสุดในการจดทะเบียน BPCG ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วงต้นปี 2559 ขณะที่ BCP เปิดเผยว่ากำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเข้าซื้อหุ้นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 200 เมกะวัตต์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอัพไซด์ ที่รอความชัดเจนที่จะรวมเข้าไปในประมาณการและราคาเป้าหมายของฝ่ายวิจัยฯ

ในส่วนของราคาหุ้น BCP ยังคงมีแนวโน้มหลักอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น โดยเบื้องต้นคาดว่าจะปรับตัวขึ้นไปทดสอบเป้าหมายหลักที่ 36.50 บาทอีกครั้ง ซึ่งหากสามารถปิดเหนือระดับดังกล่าว บ่งบอกถึงการทำจุดสูงสุดใหม่ หรือนิวไฮ โดยมีเป้าหมายแรกเพื่อทดสอบนิวไฮเดิมที่ 39.75 บาท และมีเป้าหมายแรกของการทำ นิวไฮอยู่ที่ 43.50 บาท

ที่มา : บล.เอเซีย เวลท์ฯ

บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย :SCC
การขยายลงทุนอาเซียนเริ่มเห็นผล

SCC ลงทุนเพิ่มในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง จากอุปสงค์ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงเพราะการอุปโภคบริโภคต่อหัวประชากรอยู่ในระดับต่ำ ความได้เปรียบจากการเข้าไปลงทุนเป็นรายแรก และกลยุทธ์เครือข่ายไร้พรมแดนด้วยต้นทุนโลจิสติกส์ที่ถูกลงและความยืดหยุ่นที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กลยุทธ์การลงทุนในประเทศ เปลี่ยนมาเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้น

ทั้งนี้สัดส่วนยอดขายจากอาเซียนเพิ่มขึ้นสู่ 22% ของยอดขายทั้งหมด (จาก 12%) สนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายจากการดำเนินงานในอาเซียนเพิ่มขึ้นสู่ 10% ของยอดขายทั้งหมด (จาก 3%) และการส่งออกไปยังอาเซียนเพิ่มขึ้นสู่ 12% ของยอดขายทั้งหมด (จาก 9%) อนึ่ง ยอดขาย 27% จากอาเซียนมาจากอินโดนีเซีย, 27% มาจากเวียดนาม, 12% มาจากกัมพูชา, 11% มาจากเมียนมา, และ 23% มาจากประเทศอื่นๆ

ราคาหุ้น SCC ที่ปรับตัวลงต่ำกว่าตลาด เป็นโอกาสดีในการเข้าซื้อก่อนที่จะประกาศผลประกอบการไตรมาส 4/58 ที่ดีขึ้น (ไม่มีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและสินค้าคงคลัง และมีรายได้เงินปันผลตามฤดูกาล) และกำไรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในระยะยาวโดยได้รับปัจจัยหนุนจากวัฏจักรขาขึ้นของธุรกิจปิโตรเคมี รวมถึงยอดขายปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย และโรงงานปูนซีเมนต์ใหม่ในต่างประเทศที่จะได้รับการสนับสนุนจากการเติบโตของตลาดอาเซียนในปี 2558-2560 ณ ระดับราคาปัจจุบันราคาหุ้นSCC ดูน่าสนใจมากขึ้น โดยซื้อขายที่พีอี เรโช 13 เท่าในปี 2558 และ 11 เท่าในปี 2559 (ต่ำกว่าพี/อี เฉลี่ย 7 ปีที่ 14 เท่า)

คงคำแนะนำ "ซื้อ" ด้วยราคา เป้าหมายกลางปี 2559 ที่ 630 บาท

ที่มา : บล. บัวหลวงฯ

[caption id="attachment_24732" align="aligncenter" width="600"] บมจ.ธนาคารทหารไทย : TMB บมจ.ธนาคารทหารไทย : TMB[/caption]

บมจ.ธนาคารทหารไทย : TMB
ซื้อ: ราคาเหมาะสม 3.10 บ.

คงน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่"สูงกว่าตลาด"เนื่องจากราคาหุ้นในกลุ่มมีอัพไซด์ 10-31 % ต่อราคาเป้าหมายปี 2559 และอัตราผลตอบแทนเงินปันผล 2.9- 6.3 % สำหรับปี 2559-2560 ดังนั้นหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จึงเหมาะกับการลงทุนระระยาว

คาดว่าปี 2559 กำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์เติบโต 10 %และ 13 %ในปี 2560 มีแรงหนุนจากการตั้งสำรองที่ลดลง โดยกลุ่มธนาคารสามารถเพิ่มอัตราส่วนเงินกองทุน (capital ratio)แม้กำไรจะถูกกดดันจากการตั้งสำรองที่สูงเพื่อชดเชยคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลง ทั้งนี้งบดุลยังคงแข็งแกร่ง และยังรองรับหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ที่สูงขึ้นต่อเนื่องได้

ชู TMB เป็นหุ้นเด่น ให้ราคาเหมาะสม 3.10 บาท (ดูตารางประกอบ) เนื่องจากจะมีผลงานที่ดีกว่าธนาคารอื่นๆท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมและการเติบโตสินเชื่อที่แข็งแกร่ง ขณะที่การเติบโตรายได้ของกลุ่มธนาคารนั้นแทบจะทรงตัว โดยมองว่า TMB จะมีการเติบโตด้านกำไรสูงที่สุดในกลุ่มที่ 21 % ในปี 2559- 2560 ,การเติบโตด้านกำไรก่อนการตั้งสำรอง(PPOP)สูงที่สุดที่ 17 % ในปี 2559 เทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 1 % และมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังสามารถควบคุมได้ แม้จะคาดว่าเอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2559 เหมือนกับธนาคารอื่น ๆ

ที่มา : บล.กสิกรไทยฯ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,119 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2559