เปิด 21 วาระ ‘ร้อน’ ปฏิรูปด่วนเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก

06 ม.ค. 2559 | 03:00 น.
หลังมีคำสั่งตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ขึ้นมารับช่วงขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อจากที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สนช.) ได้สรุปไว้ โดยสปท.จัดกระบวนทัพภายในแล้วเสร็จ และนัดหมายให้กรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปแต่ละด้าน รวม 11 คณะ เสนอร่างแผนการปฏิรูปต่อที่ประชุมสปท.เมื่อวันที่ 21-23 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รวบรวมเป็น"แผนแม่บทขับเคลื่อนการปฏิรูป" และจะเริ่มเห็นการลงมืออย่างเป็นรูปธรรมนับแต่ปี 2559 นี้เป็นต้นไป

"ฐานเศรษฐกิจ"คัด 21 วาระปฏิรูปของกรรมาธิการ (กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ สปท. ที่จะเร่งดำเนินการใน 6 เดือนแรก จาก"กรอบการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ" (หน้า1-5) ในร่างแผนการปฏิรูปของกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ (หน้า 154 หน้า) ที่ที่ประชุมใหญ่สปท.ให้ความเห็นชอบแล้ว เพื่อเป็นคู่มือประชาชนเกาะติดการปฏิรูปมาเสนอดังนี้

[caption id="attachment_24665" align="aligncenter" width="500"] การขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจระยะที่ 1 การขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจระยะที่ 1[/caption]

จากยุทธศาสตร์หลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจทั้ง 4 ด้านข้างต้น ในระยะที่ 1 ของการขับเคลื่อนการปฏิรูป (6 เดือนแรก) จะประกอบด้วย 21 วาระ ซึ่งเป็นวาระปฏิรูปและวาระพัฒนาที่ สปช. ได้เสนอไว้เดิม โดยจำแนกตามยุทธศาสตร์แต่ละด้านที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการปฏิรูป ได้ดังนี้

 1.ยุทธศาสตร์การก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

1.1 ปฏิรูปกฎหมายแข่งขันทางการค้า (เศรษฐกิจอุตสาหกรรมและบริการ)

การปฏิรูปด้านกฎหมายการแข่งขันทางการค้า มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงกติกาในการประกอบธุรกิจ ให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เสมอภาคเท่าเทียมกัน และเสริมสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุน และความมั่นใจให้กับผู้ประกอบธุรกิจในประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศ

1.2 การสร้างสังคมผู้ประกอบการ(เศรษฐกิจอุตสาหกรรมและบริการ)

ในการยกระดับประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานการค้ามูลค่าสูง เพื่อโครงสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ ซึ่งต้องขยายบทบาททางการค้า จากเดิมที่เน้นการส่งต่อสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางที่มีมูลค่าต่ำ ไปสู่การผลิตสินค้ามูลค่าสูง การเพิ่มบทบาทในการเป็นผู้จัดจำหน่าย ภายใต้การออกแบบและตราสินค้าของตนเอง และการเป็นผู้จัดหาและจำหน่ายสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตได้ในอาเซียนและภูมิภาคอื่น รวมทั้งการสร้างสรรค์มูลค่า(Value Creation) ในภาคบริการสาขาต่าง ๆ

1.3 การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว (เศรษฐกิจอุตสาหกรรมและบริการ)

มุ่งเน้นการไปสู่เป้าประสงค์ 3 ประการหลัก คือ การบูรณาการงานด้านการท่องเที่ยวเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนอย่างทั่วถึง (Inclusive) เพื่อเพิ่มการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว

1.4 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ (เศรษฐกิจอุตสาหกรรมและบริการ)

การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน มีความจำเป็นต้องตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทาน(Supply Chain) และจะต้องร่วมมือกันพัฒนา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดยการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ จะต้องบูรณาการให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งในส่วนของการไหลของข้อมูล(Information Flow) การไหลของสินค้าและบริการ(Physical Flow of Goods and Services) และการไหลของเงิน (Financial Flow)

1.5 การเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ASEAN Hub (เศรษฐกิจอุตสาหกรรมและบริการ)

การจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้นั้น จะต้องส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งนวัตกรรม ส่งเสริมการสร้างทรัพยากรมนุษย์ เพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมหลักในปัจจุบัน และอุตสาหกรรมเป้าหมายในระยะยาว ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ นอกจากนี้ รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาการศึกษาอย่างพอเพียงและต่อเนื่อง ตลอดจนการปรับปรุงหลักสูตรวิชาชีพ/อาชีวศึกษา

1.6 การปฏิรูปเศรษฐกิจด้านการเกษตร (เศรษฐกิจเกษตร)

ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรประมาณ 147 ล้านไร่ ประกอบด้วยครัวเรือนภาคเกษตรประมาณ 5.71 ล้านครัวเรือน มีประชาชนอยู่ในครัวเรือนประมาณ 23.7 ล้านคน และมีแรงงานภาคเกษตร (ปี2558)จำนวน 11.99 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ของแรงงานทั้งระบบ แต่สถานะของเกษตรกรกลับมีความยากจนมีหนี้ครัวเรือนสูง เป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการมีต้นทุนการทำการเกษตรสูง จึงเป็นเรื่องที่ต้องการการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน

1.7 การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) (เศรษฐกิจกระแสใหม่)

ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมรู้จักใช้ระบบสื่อสารข้อมูลและสารสนเทศ และรู้จักสร้างรายได้ที่ดีขึ้นกว่าเดิมโดยการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานในทุกรูปแบบ เศรษฐกิจดิจิตอลและสังคมดิจิตอลจึงกลายเป็นเป้าหมายที่จำเป็นของประเทศไทยเพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคม ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสู่ภาวะดิจิตอลในหลาย ๆ ด้าน

1.8 ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ Outward Investment (เศรษฐกิจการเงินการคลัง)

ความท้าทายและข้อจำกัดของโครงสร้างเศรษฐกิจทำให้ประเทศไทยต้องก้าวสู่สากล ซึ่งการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศถือเป็นแนวทางที่จะช่วยยกระดับรายได้และสนับสนุนความยั่งยืนทางการค้า ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนจึงต้องร่วมกันปฏิรูปในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ การเสาะหาและการเข้าถึงตลาด การเข้าถึงทรัพยากร การรักษาประสิทธิภาพการผลิต เป็นต้น

 2. ยุทธศาสตร์การลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ

2.1 การปฏิรูประบบการเงินระดับฐานราก (เศรษฐกิจการเงินการคลัง)

เนื่องจากระบบสถาบันการเงินต่างประสบปัญหา ในการลงไปให้บริการแก่ประชาชนในชนบทที่ห่างไกลอย่างทั่วถึง จึงเกิดเป็นช่องว่างสำคัญในการให้บริการทางการเงินของประเทศ ที่ทำให้ประชาชนในส่วนของฐานรากไม่สามารถออม และไม่มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุน นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในเชิงโอกาส รายได้ และเศรษฐกิจ

2.2 การปฏิรูประบบเกษตรพันธะสัญญาให้เป็นธรรม (เศรษฐกิจการเงินการคลัง)

การที่ระบบเกษตรพันธะสัญญาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีภาครัฐมุ่งเน้นการทำหน้าที่เป็นกลไกในการสนับสนุน ให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรเข้าสู่ระบบเกษตรพันธะสัญญา แต่ละเลยบทบาทหน้าที่ในการกำกับตรวจสอบ และควบคุม รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร ขาดการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่ม จึงทำให้โครงสร้างของระบบขาดความสมดุล จึงจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง

2.3 การประกันภัยพืชผล (เศรษฐกิจการเงินการคลัง)

ภาคเกษตรกรรมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับประชากรจำนวนมาก แต่กลับประสบความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดเดาได้ ส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ บางครั้งความเสี่ยงดังกล่าวอาจส่งผลร้ายแรงให้เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ดังนั้น การประกันภัยพืชผลจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงดังกล่าวได้

2.4 การจัดตั้งธนาคารที่ดิน (เศรษฐกิจการเงินการคลัง)

เกษตรกรจำนวนมากของไทยประสบปัญหาที่ดินทำกินที่รุนแรงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และในระดับประเทศเกิดการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่เต็มศักยภาพ

2.5 เศรษฐกิจเชิงสังคม (Social Economy) (เศรษฐกิจกระแสใหม่)

เป้าหมายสำคัญคือการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนทุกระดับในสังคมอย่างองค์รวมทั้ง 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม (Tripple-bottom-line) โดยพยายามจะมองบทบาทของการพัฒนาเศรษฐกิจในมุมที่สร้างสรรค์(Creative Capitalism) และไปควบคู่กับการพัฒนาสังคม ในรูปแบบใหม่ของการประกอบการสังคม (Social entrepreneurship)

 3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สปช.ไม่ได้มีการเสนอไว้ แต่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) จะนำเรื่องการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาพิจารณา และนำเสนอในระยะถัดไป

 4.ยุทธศาสตร์การสร้างความยั่งยืนทางการคลังและการเงิน

4.1 การปฏิรูประบบและโครงสร้างภาษีอากร (เศรษฐกิจการเงินการคลัง)

แม้ระบบภาษีของไทยจะมีการปรับปรุงมาเป็นระยะ ๆ แต่เป็นการปรับปรุงเฉพาะเรื่องเป็นรายชนิดภาษี ประกอบกับประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีอากรของไทยยังสามารถพัฒนาต่อไปได้ อีกทั้งกฎหมายภาษีอากรในปัจจุบัน มีข้อจำกัดที่จะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจเอกชนสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ นอกจากนี้ ภาษีอากรยังสามารถใช้เป็นเรื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำได้ ดังนั้น การขับเคลื่อนการปฏิรูปเรื่องนี้จึงมีความสำคัญมาก

4.2 การปฏิรูปด้านการคลังและระบบงบประมาณ (เศรษฐกิจการเงินการคลัง)

ในด้านการคลัง ต้องปฏิรูประบบการกำกับดูแลด้านรายจ่ายให้มีความสมดุล โดยยึดหลักไม่รั่วไหล คุ้มค่า และยืดหยุ่น ส่วนด้านงบประมาณ ต้องสร้างระบบให้สามารถตรวจสอบได้ว่า งบประมาณไปลงพื้นที่ใดและจำนวนเท่าใด และงบประมาณที่ลงไปในพื้นที่ ต้องสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และช่วยบรรเทาความเหลื่อมล้ำ

4.3 การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ (เศรษฐกิจการเงินการคลัง)

รัฐวิสาหกิจถือเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศเพราะเป็นผู้ดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐบาล แต่รัฐวิสาหกิจบางแห่งยังขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและความโปร่งใส อีกทั้งต้องพิจารณาขจัดอุปสรรคด้านต่าง ๆ ที่บั่นทอนความสามารถ และต้องจัดระบบบริหารใหม่ โดยให้มีหน่วยงานกำกับดูแลที่ชัดเจน

4.4 การปฏิรูประบบการออมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย (เศรษฐกิจการเงินการคลัง)

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชากรในวัยทำงานมีแนวโน้มลดลง อัตราการแบกรับคนสูงวัยต่อคนทำงานเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ระบบการออมจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของคนสูงวัยในอนาคต จึงต้องปฏิรูประบบการออกให้ทั่วถึงและครอบคลุมคนทุกกลุ่ม

4.5 การปฏิรูประบบประกันสุขภาพ (เศรษฐกิจการเงินการคลัง)

การปฏิรูประบบประกันสุขภาพ สามารถแบ่งได้เป็นด้านการป้องกัน ทั้งในระดับประเทศและชุมชนท้องถิ่น และต้องสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนควบคู่ไปด้วย และอีกด้านหนึ่งคือ การรักษาพยาบาล ต้องปฏิรูประบบการรักษาพยาบาล ระบบการสนับสนุน และระบบการกำกับดูแล

4.6 การปฏิรูปสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (เศรษฐกิจการเงินการคลัง)

การดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ผ่านมาเริ่มมีความเสี่ยง มีการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนหรือแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ ในบางกรณีมีการแทรกแซงทางการเมืองทำให้ขาดประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการดำเนินงาน ดังนั้น การให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมาช่วยกำกับดูแล จึงเป็นแนวทางหนึ่งของการปฏิรูปเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความโปร่งใส

4.7 การปฏิรูประบบสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน (เศรษฐกิจการเงินการคลัง)

การปฏิรูปสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน ต้องพิจารณาถึงแนวทางการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อมาทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนการกำกับดูแล

4.8 การปฏิรูปความรู้พื้นฐานทางการเงิน (เศรษฐกิจการเงินการคลัง)

การให้ความรู้พื้นฐานทางการเงินแก่ประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคนไทยจำนวนมากยังขาดความรู้ทางการเงิน และไม่สามารถบริหารการเงินส่วนบุคคลและครอบครัวได้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการดำรงชีพ

 มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

“ภาพรวมของประเทศต่อจากนี้ หากเป็นไปตามทิศทางตามที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้วางไว้ เชื่อว่าการเมืองจะเป็นไปตามธรรมชาติมากขึ้น การทุจริตน้อยลง การตรวจสอบเพื่อขจัดการทุจริตจะมีมากขึ้นกลไกในทางการเมืองจะเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยกรรมาธิการจะทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และส่วนรวม หากมีพรรคการเมืองออกมาคัดค้านในสิ่งที่คิดว่าเสียประโยชน์ ยอมรับว่าอาจจะส่งผลต่อการออกเสียงทำประชามติ แต่เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่น่าจะเข้าใจและยอมรับในผลของการทำประชามติ”

 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรฐั มนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)

“แผนงานการบริหารราชการแผ่นดินในปี 2559-2560 จะเน้นเรื่องการจัดทำงบประมาณ ทั้งเรื่องของงบประมาณรายจ่ายประจำงบลงทุนและงบกลาง ที่ต้องสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูป และแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศรวมถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวโดยปีหน้าจะมีการวัดผลสัมฤทธิ์การทำงาน ตามกรอบงบประมาณ ตลอดจนแผนงานที่มีอยู่ หากโครงการใดไม่เป็นไปตามแผนต้องมีการทบทวน หรือหยุดการดำเนินการในโครงการนั้นๆ และหาโครงการใหม่มาทำแทน”

ศ.เกียรติคุณ ร.อ.ดร.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

“ทิศทางปีหน้า ปี 2559 จะทำงานร่วมกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่มีความจำเป็นในการปฏิรูป โดย นายกรัฐมนตรีกำชับให้ สปท.ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขร่างกฎหมายสำคัญ อาทิ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ร่าง พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม เป็นต้น และตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการนํ้าในภาวะวิกฤติ ยืนยันว่าจะดำเนินการแผนการปฏิรูปให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว มั่นใจว่าปี 2559 นี้จะเป็น “ปีแห่งการปฏิรูป”

 พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

“ปี 2560 สนช.มีแผนลงพื้นที่พบประชาชนเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนในทุกๆ ด้าน เมื่อมีประเด็นปัญหาในร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ซึ่ง สนช.ที่ลงพื้นที่จะต้องทำหน้าที่ในการชี้แจงร่วมกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วยอย่างไรก็ตามเชื่อว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะสามารถร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนพอใจได้มากที่สุด เพื่อให้การร่างรัฐธรรมนูญผ่านการจัดทำประชามติ แต่ต้องไม่ทิ้งหลักการสากล และร่างตามนโยบายของ “คสช.” เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศได้ หากประชามติไม่ผ่าน จะเป็นหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,119 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2559