ปรากฏการณ์เด่น ‘ท่องเที่ยว’ปีวอก

06 ม.ค. 2559 | 10:00 น.
เปิดศักราชปีวอก อะไรจะเป็นปรากฏการณ์เด่นที่เกิดขึ้นในปีนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้จับประเด็นน่าสนใจมานำเสนอ

[caption id="attachment_24960" align="aligncenter" width="600"] ดีเดย์เปิดประมูลสุวรรณภูมิเฟส 2 ดีเดย์เปิดประมูลสุวรรณภูมิเฟส 2[/caption]

1. ดีเดย์เปิดประมูลสุวรรณภูมิเฟส 2

ในที่สุดโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 เพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนเป็น 60 ล้านคน จะเข้าสู่กระบวนการเปิดประมูลได้ในปีนี้ ภายใต้เป้าหมายพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2562 ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติกรอบเงินงบประมาณราว 6.2 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบที่ใช้สำหรับเป็นค่าก่อสร้างอยู่ที่ 4.9 หมื่นล้านบาท และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน ) หรือ ทอท.ปรับลดวงเงินในส่วนนี้ลงไปได้ราว 6 พันล้านบาท

โดยการเปิดประกวดราคา จะมีทั้งหมด 7 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 งานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น B2 ชั้น B1 และชั้น G) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานโครงสร้าง และงานระบบหลัก) สัญญาที่ 2 งานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น 2-4) และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานระบบย่อย) สัญญาที่ 3 งานจ้างก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก อาคารสำนักงานสายการบิน และที่จอดรถด้านทิศตะวันออก

สัญญาที่ 4 งานจ้างก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค สัญญาที่ 5 งานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) สัญญาที่ 6 งานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS) (ขาออก) และสัญญาที่ 7 งานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้จะมี 3 สัญญาที่จะสามารถเปิดประมูลได้ก่อน คือ สัญญาที่ 1 มูลค่าราว 1.2 หมื่นล้านบาท สัญญาที่ 4 มูลค่า 2.56 พันล้านบาท และสัญญาที่7 มูลค่า 1.2 พันล้านบาท ที่จะเปิดประกวดราคาได้ในราวเดือนมีนาคม - เมษายน ปี2559 เพื่อให้เริ่มงานก่อสร้างได้ในเดือนมิถุนายน 2559 ส่วนอีก 4 สัญญาที่เหลือ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด รวมถึงคำนวณวงเงินงบประมาณและจัดทำรายละเอียดของสัญญาที่ 2, 3, 5 และ 6 เนื่องจากมีการแยกสัญญาการจ้างก่อสร้างใหม่ โดยสัญญาที่ 5 ได้ถูกแยกออกมาจากสัญญาที่ 2 และสัญญาที่ 6 ได้ถูกแยกออกมาจากสัญญาที่ 2 และ 3 เพื่อให้การจัดหาผู้รับเหมามีประสิทธิภาพ ซึ่งหากดำเนินการจัดทำรายละเอียดเสร็จ จะเริ่มทยอยประกวดราคา เพื่อให้เริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2559

ต่อเรื่องนี้นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ตามกรอบเวลาการเฟส 2 สนามบินสุวรรณภูมิ จะใช้เวลาในการดำเนินการทั้ง 42 เดือน โดยจะใช้เวลา 9 เดือนในการจัดหาผู้รับจ้าง ใช้เวลา 33 เดือนในการก่อสร้าง และ อีก 2 เดือนจะเป็นเรื่องของการทดสอบระบบเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการ

[caption id="attachment_24958" align="aligncenter" width="500"] จัดแถวธุรกิจการบิน-สนามบินไทย จัดแถวธุรกิจการบิน-สนามบินไทย[/caption]

2.จัดแถวธุรกิจการบิน-สนามบินไทย

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสำหรับแวดล้อมด้านการบินของไทยในปีนี้ คือ นักบินของไทย จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ เพื่อออกใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก Air Transport Pilot License หรือ ATPL ให้กับนักบินของแต่ละสายการบิน และการถูกตรวจสอบของสายการบินต่างๆ ถึงการทบทวนการออกใบอนุญาตผู้ดำเนินการเดินอากาศ(AOC) หรือ Re-certification ที่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ เพราะถือเป็น 2 เรื่องหลักที่ต้องดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns - SSC) เพื่อนำไปสู่การปลดธงแดงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือICAO จากกรณีไทยสอบตกในโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Programme : USOAP) ของ ICAO ที่แสดงถึงการกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนของประเทศไทยที่ไม่เป็นไปตามาตรฐานสากล

ดังนั้นทั้ง 41 สายการบิน จึงต้องเตรียมความพร้อม เพื่อให้สามารถได้รับAOC และดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ตามมาตรฐานฉบับใหม่ในการออก AOC ของ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)ที่จะเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งก็ถือเป็นการสกรีนให้การดำเนินธุรกิจการบินที่เคยดำเนินการอยู่เดิม และสายการบินที่จะขอจัดตั้งใหม่ในอนาคต เป็นสายการบินที่มีคุณภาพ ที่การันตีได้ว่าต้องผ่านมาตรฐาน ภายใต้กฎเกณฑ์ในการออกใบอนุญาตอย่างชัดเจน ที่เป็นกติกาให้เจ้าหน้าที่ยึดปฏิบัติ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ไม่ใช่เป็นการใช้ดุลยพินิจเหมือนในอดีต หรือการถูกการเมืองแทรกแซง และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ กพท. จากเดิมที่กรมการบินพลเรือน หรือ บพ.ในอดีต อาจมีเรื่องความโปร่งใสที่เป็นคำถามอย่างมาก

อย่างไรก็ตามไม่เพียงการแก้ไขเรื่องที่ไทยสอบตกในโครงการ USOAP เท่านั้น แต่ในปีนี้ รัฐบาล กพท.และสนามบินต่างๆของไทย ยังต้องเตรียมความเรื่องมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในสนามบิน เพื่อรองรับการตรวจสอบในโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยสากลโดยวิธีการเฝ้าตรวจตราอย่างต่อเนื่อง The Universal Security Audit Programme Continuous Monitoring Approach (USAP- CMA) ที่เป็นอีกหนึ่งของโครงการของICAO ที่จะเข้ามาตรวจสอบในปี 2560

ทำให้การเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการ USAP - CMA จะเน้นใน 8 องค์ประกอบ คือ 1.กฎหมายหลักด้านการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน 2.แผนการรักษาความปลอดภัยการบินและกฎระเบียบข้อบังคับ 3.องค์กรผู้มีอำนาจของรัฐด้านการรักษาความปลอดภัยการบินและความรับผิดชอบขององค์กร 4.คุณสมบัติและการฝึกอบรมบุคลากร 5.การจัดให้มีเอกสารและแนวทางเทคนิค เครื่องมือ และข้อมูลสำคัญด้านการรักษาความปลอดภัย 6.หน้าที่การับรองและการให้ความเห็นชอบ 7.การควบคุมคุณภาพ และ 8.การแก้ไขข้อกังวลด้านการรักษาความปลอดภัย ที่ กพท.ต้องมีการเตรียมความพร้อม

เนื่องจากส่วนใหญ่การตรวจสอบของโครงการนี้จะเข้ามาตรวจสอบการกำกับดูแลของ กพท. พร้อมทั้งสุ่มตรวจสอบท่าอากาศยานในประเทศ ทั้ง 28 แห่งของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) รวมทั้งท่าอากาศยานของเอกชนอีก 3 แห่ง และของการท่าอากาศยานอีก 6 แห่งของ ทอท. ซึ่งหลักๆ จะมีการเตรียมปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องใหม่ของ ICAO ส่วนใดที่บกพร่อง กพท.จะต้องแจ้งข้อบกพร่องให้แต่ละสนามบินได้ทราบ เพื่อแก้ไข

เช่น ปัจจุบันยังพบว่าท่าอากาศยาน 28 แห่งของ ทย. ยังไม่มีการออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะเหมือนกับสนามบินของ ทอท. และเอกชน ดังนั้น ทย.จะต้องเร่งยื่นขอใบรับรองจาก กพท.เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลในการดำเนินงานเป็นสนามบินสาธารณะ ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าว ก็จะยกระดับสนามบินทุกแห่งในไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และถือเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะหากมีสนามบินของไทย ถูกติงเรื่องของความไม่ปลอดภัยในการรักษาความปลอดภัย จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยอย่างมีนัยสำคัญทันที

 3. เปิด 32 ตำแหน่งงานรับเออีซี

การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ในปีนี้ ไม่เพียงสร้างโอกาส ของการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้ยุทธศาสตร์ "อาเซียน คอนเนคต์" (ASEAN Connect) พัฒนาท่องเที่ยวเชื่อมโยง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับทวิภาคี ส่งเสริมให้ไทยกับประเทศคู่ค้าเที่ยวกันเอง, ระดับอาเซียนฟอร์อาเซียน (ASEAN for ASEAN) ดึงนักท่องเที่ยวชาติอาเซียนมาเที่ยว และระดับอาเซียนฟอร์ออล (ASEAN for All) เพื่อโปรโมตนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก อาทิ ร่วมกับกัมพูชา ผ่านแคมเปญ "ทู คิงดอมส์ วัน เดสติเนชัน" โปรโมตตลาดท่องเที่ยวร่วมกันที่กำหนดไว้ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง-ตราด-เกาะกง-สีหนุวิลล์-กัมปอต-พนมเปญ-กรุงเทพฯ และเส้นทางกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-ปอยเปต-พระตะบอง-เสียมราฐ-พนมเปญ-กรุงเทพฯ เท่านั้น

การเปิดเออีซี ยังกลายเป็นปัจจัยบวกด้านการท่องเที่ยวของปี 2559 ที่จะเอื้อในขยายตลาดการท่องเที่ยวในอาเซียน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเพิ่มขึ้น เพราะอาเซียน มีประชากรรวมกัน 600 ล้านคน โดยเฉพาะการขยายตัวของเศรษฐกิจใน 3 ประเทศอาเซียน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มีประชากรรวมกันสูงถึง 400 ล้านคน ซึ่งแม้ไทยจะมีคู่แข่งมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสในการขยายตลาดการท่องเที่ยว

อีกทั้งยังมีเรื่องของการเคลื่อนย้ายแรงงาน ที่จะมีการเปิด 32 ตำแหน่งงานในสาขาที่พักและการเดินทาง ได้แก่ 9 ตำแหน่งงานใน 2 สาขาสำหรับ ทราเวล เซอร์วิส คือ ทราเวล เอเยนต์ และทัวร์โอเปอเรเตอร์ และ 23 ตำแหน่งงาน ใน 4 แผนก สำหรับโฮเทลส์ เซอร์วิส คือ พนักงานต้อนรับส่วนหน้า(ฟรอนต์ ออฟฟิศ) แม่บ้าน Food Production และการบริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่ประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน ที่มีคุณสมบัติตามความตกลงยอมรับว่าด้วยคุณสมบัติบุคลากรวิชาชีพด้านการท่องเที่ยวอาเซียน สามารถทำงานในตำแหน่งเหล่านี้ใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยวของไทย และเป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยไปทำงานในอาเซียนได้ด้วยเช่นกัน

[caption id="attachment_24961" align="aligncenter" width="500"] สนามบินภูเก็ต เปิดใช้อาคารระหว่างประเทศ สนามบินภูเก็ต เปิดใช้อาคารระหว่างประเทศ[/caption]

 4.สนามบินภูเก็ต เปิดใช้อาคารระหว่างประเทศ

การเพิ่มศักยภาพการรองรับของสนามบินที่มีส่วนสำคัญต่อการขยายช่องทางการเข้าถึงด้านการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ คือ การพัฒนาของสนามบินภูเก็ต ซึ่งมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ หลุมจอดอากาศยาน 10 หลุมจอด และมีการก่อสร้างสะพานเทียบเครื่องบิน 4 หลุมจอด ระบบเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานทางท่อ และระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องนั้น ขณะนี้โครงการมีความคืบหน้า 85% ขณะเดียวกัน ทอท. ยังได้เตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการ โดยแต่งตั้งคณะทำงานเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสาร สนามบินภูเก็ตหลังใหม่ เพื่อให้เปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนพฤษภาคม 2559 เพื่อขยายศักยภาพการรองรับของสนามบินภูเก็ตเพิ่มจาก 6.5 ล้านคนต่อปี เป็น 12.5 ล้านคนต่อปี

การทยอยทดสอบ ในเดือนมกราคม 2559 - 13 กุมภาพันธ์ 2559 จะเป็นการทดสอบทุกระบบร่วมกัน (Trial Phase 1) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการให้บริการแบบไม่เต็มรูปแบบ (Soft Opening) เที่ยวบินแรกในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 หลังจากนั้น จะมีการทดสอบทุกระบบร่วมกัน (Trial Phase 2) อีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าหากมีการย้ายเที่ยวบินระหว่างประเทศไปให้บริการยังอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่จะมีความสมบูรณ์และให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

[caption id="attachment_24959" align="aligncenter" width="600"] ธุรกิจบีทูบี ออนไลน์มาแรง ธุรกิจบีทูบี ออนไลน์มาแรง[/caption]

 5. ธุรกิจบีทูบี ออนไลน์มาแรง

ในด้านแวดวงธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว ไม่เพียงกระแสการขายผ่านบีทูซีเท่านั้นที่ถูกนำมาเป็นกลยุทธ์ในการส่งเสริมการขาย แต่การต่อยอดธุรกิจในการทำตลาดแบบบีทูบี จะเป็นแนวโน้มที่มีการขยายตัวอย่างมากในปีนี้ เห็นได้จากการปฏิรูปรูปแบบการให้บริการของเชนโรงแรมดังอย่าง แอคคอร์ โฮเทลส์ โดยจะเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมอิสระ(โรงแรมที่ไม่ได้ใช้เชนในการบริหาร)เข้ามาเสนอขายห้องพักผ่าน www.accorhotels.com โดยภายในปี 2559 โดยตั้งเป้าที่จะบรรจุโรงแรมให้ได้มากถึง 1 หมื่นแห่งบนเว็บไซต์ใน 300 เมืองหลักทั่วโลก หรือเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่า

ขณะที่ผู้ประกอบการของไทยเอง มีการพัฒนาระบบไอที เพื่อผลักดันการขายในแบบบีทูบี อย่างการเปิดตัวของบริษัท ซีเอสเค คอนเนค จำกัด ที่ดำเนินการขายระบบ Channel Manager และ Hex system มาใช้กับโรงแรม ที่บริหารเอง เพื่อขยายฐานลูกค้าตลาดออนไลน์ ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานด้านการขายให้กับฝ่ายขาย ลดระยะเวลาในการทำงานด้านเอกสาร และการคำนวณราคาที่เหมาะสม เพราะตัวระบบจะเปรียบเทียบราคาขายของคู่แข่ง เพื่อทำให้การโค้ดราคาขายห้องพักผ่านทราเวลเอเยนต์ออนไลน์ต่างๆ ทำรายได้ให้โรงแรมเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่การดำเนินธุรกิจของ Tiaptour.com ที่รวบรวมโปรแกรมนำเที่ยว จากบริษัทนำเที่ยว มานำเสนอ เพื่อรองรับแนวโน้มการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) ที่กำลังเป็นกระแสนิยม ซึ่งจะดึงผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยวชื่อดังจำนวน 55 แห่ง อาทิ ควอลิตี้ เอ็กเพรส เพื่ออัพเดตโปรแกรมท่องเที่ยวทุกเส้นทางในต่างประเทศมานำเสนอ โดยปัจจุบันมีข้อมูลโปรแกรมทัวร์ในต่างประเทศมากกว่า 500 โปรแกรม เป็นต้น ซึ่งต่อไปจะมีโมเดลในลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,119 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2559