10 เทรนด์ไอทีซีปี 2016

07 ม.ค. 2559 | 00:00 น.
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติประจำของทุกปีที่บริษัทวิจัยสำนักต่างๆ รวมถึงกูรูวงการไอทีจะออกมาวิเคราะห์แนวโน้มของเทคโนโลยี ปี 2559 นี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรมาติดตามกัน

"ดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชัน"ไฮไลต์

ค่ายแรกเป็นของไอดีซีประเทศไทย ที่เผยการคาดการณ์ 10 แนวโน้มสำคัญของภาคธุรกิจและภาคเทคโนโลยีของประเทศไทยในปี 2559 ที่จะกำหนดการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชัน ของประเทศไทย ประกอบด้วย

1. ดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชัน ภายในสิ้นปี 2560 กว่าครึ่งขององค์กรในประเทศไทยจะเริ่มกระบวนการดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชัน โดยดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชัน จะเป็นปัจจัยหลักในการผลักดันการลงทุนทางไอทีขององค์กรในปี 2559 เป็นต้นไป โดยดิจิตอลทรานส์ฟอร์มเมชันนั้นเป็นการนำเทคโนโลยีแพลตฟอร์มรุ่นที่ 3 นำมาพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของผู้บริโภค และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น ไอดีซีเชื่อว่ากลยุทธ์ทรานส์ฟอร์เมชันจะมุ่งเน้นไปที่ความชำนาญด้านดิจิตอลทั้งในเรื่องของความสัมพันธ์ การปฏิบัติงาน และสินค้าหรือบริการที่มีฐานมาจากข้อมูล

องค์กรแห่ลงทุนคลาวด์

2. คลาวด์จะกลายเป็นการลงทุนพื้นฐานทางด้านไอที ภายในปี 2561 การลงทุนด้านคลาวด์จะมีสัดส่วนเป็นอย่างน้อย 1 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายด้านไอทีทั้งหมด และภายในปี 2563 นั้น 30% ของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไอทีทั้งหมดจะเกี่ยวข้องกับคลาวด์ ในขณะที่สัดส่วนของคลาวด์จะสูงถึง 30-35% ของค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ เซอร์วิส และเทคโนโลยีทั้งหมด

ในปี 2559 นั้นองค์กรต่าง ๆ มีความจำเป็นจะต้องพัฒนาขีดความสามารถในการใช้งานบริการผ่านคลาวด์ โครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีแพลตฟอร์มรุ่นที่ 3 หรือดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชันในเชิงธุรกิจนั้นจะเกิดขึ้นได้ยาก หากไม่มีคลาวด์เป็นพื้นฐาน ซึ่งหมายความว่าองค์กรเหล่านั้น จะต้องเพิ่มการใช้บริการผ่านคลาวด์ขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีข้างหน้า และภายในปี 2563 การใช้จ่ายขององค์กรสำหรับบริการผ่านคลาวด์ ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อซัพพอร์ตบริการผ่านคลาวด์ และการบริการเพื่อใช้งานและจัดการบริการผ่านคลาวด์จะมีมูลค่าสูงกว่า 350 ล้านดอลลาห์สหรัฐฯ เติบโดขึ้น 100%

[caption id="attachment_24861" align="aligncenter" width="500"] สมาร์ทโฟน สมาร์ทโฟน[/caption]

เข้าถึงเน็ตผ่านสมาร์ทโฟน 50ล้านคน

3. ผู้ใช้สมาร์ทโฟนจะเพิ่มขึ้นอีก 25 ล้านคน ภายในปี 2561 ไทยจะมีผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตด้วยสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์แรกเป็นจำนวน 50 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 73% ของประชากรทั้งหมด

การที่มีผู้ใช้สมาร์ทโฟนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตกว่า 50 ล้านคนนั้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นวงกว้างต่อองค์กรต่างๆ ไอดีซีคาดว่าจะพบเห็นการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทางธุรกิจภายในองค์กร เช่น กลยุทธ์และการพัฒนาแอพพลิเคชัน นอกจากนี้องค์กรต่างๆ ต้องสร้างวิธีใหม่ๆ ในการนำเสนอสินค้าและบริการโดยผ่านแนวคิดแบบโมบายเฟิร์ส การปรับให้เหมาะสมกับตลาดท้องถิ่น และการนำเครือข่ายสังคมออนไลน์มาใช้เป็นมิติใหม่ในการมีส่วนร่วมของลูกค้า

โมเดลธุรกิจใหม่กระทบองค์กรใหญ่

4. รูปแบบธุรกิจแบบใหม่จะประสบความสำเร็จ ภายในปี 2560 กว่า 20% ขององค์กรขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบจากนวัตกรรมทางโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่นี้ และจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานอย่างแน่นอน

ในอดีตนั้นผลกระทบต่าง ๆ มักเกิดจากนวัตกรรมทางสินค้าและบริการ แต่อินเตอร์เน็ตและองค์ประกอบของแพลตฟอร์มรุ่นที่ 3 นั้นจะช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างรูปแบบการนำเสนอสินค้าและบริการที่แตกต่างไปจากเดิมได้ และในไม่ช้าธุรกิจแบบเดิมจะได้รับผลกระทบจากธุรกิจแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นรวดเร็ว

[caption id="attachment_24860" align="aligncenter" width="500"] Near Field Communication (NFC) Near Field Communication (NFC)[/caption]

NFC มีบทบาทสำคัญอุตฯ ค้าปลีก

5. รูปแบบใหม่ของการชำระเงิน ภายในปี 2560 ผู้นำในภาคอุตสาหกรรมค้าปลีก 10 อันดับแรก จะมีการใช้การตรวจสอบหลายขั้นตอนสำหรับการชำระเงินในร้าน โดยระบบ Near Field Communication (NFC) สแกนนิ้วมือ และไร้สัมผัสจะมีบทบาทที่สำคัญภายในตุลาคม 2561

โดยนโยบาย "การปรับภาระความรับผิดชอบ" จะมีผลบังคับใช้ในประเทศไทย และทำให้ร้านค้าทั่วประเทศต้องระวางโทษต่อการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับบัตรเครดิตในร้าน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าการละเมิดความปลอดภัยนั้น ส่งผลกระทบต่อลูกค้านับล้านรายและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่งร้านค้าปลีกในไทยต่างก็มีความกังวล เนื่องจากการซื้อขายส่วนมากนั้นเกิดขึ้นภายในร้าน แน่นอนว่าร้านค้าปลีกมีหน้าที่ป้องกันการฉ้อโกง ทั้งนี้ยังมีร้านค้าออนไลน์อีกหลายร้านต้องทำให้การซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ตมีความปลอดภัยด้วย หนึ่งในช่องโหว่ที่พบบ่อยคือการตรวจสอบตัวตนโดยเฉพาะกระบวนการการตรวจสอบการชำระเงินและการอนุมัติ การตรวจสอบหลายขั้นตอนนี้สามารถช่วยหลีกเลี่ยงการฉ้อโกงได้ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการเข้าถึงลูกค้าใดๆ ก็ตาม

 สมาร์ทมัลติฟังก์ชันตอบโจทย์การพิมพ์

6. เครื่องพิมพ์ประเภทสมาร์ทมัลติฟังก์ชัน ภายในปี 2561 เครื่องพิมพ์ประเภทสมาร์ทมัลติฟังก์ชัน (Multifunction Printers - MFPs) จะกลายเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ตอบโจทย์โซลูชันการพิมพ์จำนวนมากที่ใช้ในออฟฟิศขนาดใหญ่

เวนเดอร์ตลาดเปลี่ยนจากที่รู้จัก

7. การเปลี่ยนสถานะของซัพพลายเออร์และพาร์ตเนอร์ ในปี 2563 กว่า 30% ของเวนเดอร์จะเปลี่ยนไปจากที่เรารู้จักในปัจจุบัน

ดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชันที่กำลังเกิดขึ้นจะสร้างผลกระทบและแนวโน้มใหม่ๆ ตลอดจน ผู้เล่นรายใหม่เกิดขึ้นในตลาด ทำให้เกิดแรงกดดันอย่างมากต่อซัพพลายเออร์ไอทีแบบดั้งเดิมและผลักดันให้ผู้เล่นรายใหม่กลายเป็นผู้นำในตลาด ในช่วงหลายปีข้างหน้านั้นเราจะพบเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในกลุ่มเวนเดอร์ โดยหนึ่งในสามของซัพพลายเออร์ชั้นนำในปัจจุบันจะมีการควบรวมกิจการ ลดขนาด หรือเปลี่ยนสถานะอย่างมีนัยสำคัญ

บริษัทไทยใช้บิ๊กดาต้าเข้าถึงลูกค้า

8. การเข้าถึงและเข้าใจผู้บริโภคที่มากขึ้นในวงกว้าง ในปี 2560 บริษัทไทยจะใช้บิ๊กดาต้าเพื่อเข้าถึงและเข้าใจผู้บริโภคที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

จากการใช้งานโมบิลิตี้ ออมนิแชนแนล และโซเชียลมีเดีย องค์กรในไทยนั้นประสบความสำเร็จในการสร้างฐานลูกค้าใหม่มากขึ้น ผ่านการสร้างความผูกพันทางดิจิตอลกับลูกค้า ช่องทางเหล่านี้นั้นมีข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งพร้อมสำหรับการวิเคราะห์เนื่องจากโครงสร้างและเครื่องมือที่หาได้ง่ายและมีราคาถูกกว่าเมื่อก่อน ไอดีซีเชื่อว่าในปี 2560 บริษัทจะสามารถนำแนวความคิด "การเข้าถึงและเข้าใจผู้บริโภคที่มากขึ้นในวงกว้าง" มาใช้อย่างมีนัยสำคัญได้มากขึ้น

 เปลี่ยนแนวคิดจัดการความเสี่ยงโจมตี

9. เน็กซ์เจนเนอเรชันซิเคียวริตีและการจัดการความเสี่ยง ภายในปี 2560 กว่า 30% ของฝ่ายไอทีในองค์กรจะเปลี่ยนความสนใจจากการวางแนวป้องกันด้านซิเคียวริตีเพื่อไม่ให้เกิดการโจมตีระบบ มาเป็นการมุ่งเน้นการ "จำกัดและควบคุม" ความเสียหายแทน

เมื่อองค์กรเริ่มกระบวนการทำดิจิตอลทรานส์ฟอร์เมชัน ย่อมมีการใช้งานเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ 3 อย่างเข้มข้นขึ้น ซึ่งถึงแม้เทคโนโลยีใหม่ๆ จะสามารถสร้างประโยชน์อย่างมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงขึ้นด้วย เนื่องจากทำให้ "พื้นที่" ที่สามารถถูกโจมตีได้ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งภัยคุกคามเองก็อันตรายขึ้นเรื่อย ๆ นั่นหมายความว่าการสร้าง "แนวกั้น" เพื่อป้องกันการโจมตีนั้นไม่ใช่ตัวเลือกที่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป ไอดีซีเชื่อว่าองค์กรจะเปลี่ยนแนวคิดเป็นการ "จำกัดและควบคุม" ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแทน ผ่านการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลและเพิ่มการตรวจตราด้านซิเคียวริตีมากขึ้น

 ธุรกิจประกันเป็นผู้นำใช้ IoT

10. กลุ่มธุรกิจประกันภัยจะเป็นผู้นำด้านไอโอที (IoT) ภายในปี 2560 การเพิ่มขึ้นของงบประมาณด้านไอที และ จำนวนนวัตกรรมในกลุ่มธุรกิจประกันภัยจะสูงกว่ากลุ่มธุรกิจธนาคาร เนื่องมาจากโครงการไอโอทีในกลุ่มธุรกิจประกันภัยนั้นจะได้การลัดขั้นตอน

เราจะพบกรณีตัวอย่างการใช้งานไอโอทีในกลุ่มธุรกิจประกันภัยรถยนต์เป็นครั้งแรก ไอดีซีคาดว่าโซลูชันสำหรับรถยนต์นั้น จะเติบโตอย่างมากในอีกห้าปีถัดไป ซึ่งจะก่อให้เกิดสินค้าประกันภัยจากเทคโนโลยีเทเลมาติกส์ โปรเจ็กต์นำร่องที่ประสบความสำเร็จโดยบริษัทประกันภัยในระดับภูมิภาคจะส่งผลให้เกิดการนำเทคโนโลยีนั้นมาใช้อย่างแพร่หลาย กรณีตัวอย่างอื่นๆ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีไอโอทีเพื่อเก็บข้อมูลส่วนบุคคลและเชื่อมโยงกับเบี้ยประกันสุขภาพ และ การใช้เซ็นเซอร์ในการประกันอัคคีภัยและการขนส่งสินค้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,119 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2559