ถ้าไทยจะเป็นเสือเศรษฐกิจ

04 ม.ค. 2559 | 07:41 น.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวตอนหนึ่งระหว่างแถลงผลงาน 1 ปีรัฐบาลเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมาว่าหากไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งประเทศไทยจะถดถอยไปเรื่อยๆ ถ้าพลิกได้หลายอย่างเราได้เปรียบจะสามารถกลับมาเป็นเสือแห่งเอเชียได้จริง “เราเคยได้ยินว่าเราเป็นเสือเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว คราวนี้เราจะกลับมาเป็นเสืออีก” นายกรัฐมนตรียํ้า

ตะวันตกใช้คำว่าเสือเศรษฐกิจกับ ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ขยายตัวมากกว่า 7% ในช่วงปี 2503-2533 และพัฒนาขึ้นไปเป็นที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าและรายได้สูง โดยตั้งสมญาประเทศกลุ่มดังกล่าวว่า “4 เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย” คาบเกี่ยวกับห้วงเวลาที่ 4 เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียปรากฏผงาดขึ้นมาบนเวทีเศรษฐกิจโลกนั้น ฝรั่งได้ยกย่องประเทศไทยว่า มีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 แห่งเอเชีย

เนื่องจากเวลานั้นเศรษฐกิจไทย มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2529-2531 จีดีพี ขยายตัวก้าวกระโดดเติบโตถึง 2 หลัก จากแรงส่งของเงินลงทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาอย่างท่วมท้น ตามด้วยการโยกฐานการผลิตเข้ามาของทุนญี่ปุ่น เพื่อแสวงหาประโยชน์จากค่าแรงตํ่าๆ ภาคอุตสาหกรรมก้าวขึ้นมามีบทบาทเหนือภาคเกษตร และการพุ่งทะยานของยุคมุ่งส่งออก ณ เวลานั้นประเทศไทยถูกคาดหมายว่า กำลังจะเป็นนิกส์NICS (New Industry countries) หรือ ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ก่อนความฝันสุดบรรเจิดแตกสลายเป็นเสี่ยงๆ หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ประเทศไทยต้องใช้เวลาเยียวยาบาดแผลทางเศรษฐกิจครั้งนี้นานนับ 10 ปี

การที่นายกรัฐมนตรีออกมาประกาศว่า ไทยสามารถเป็นเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียได้ เป็นเรื่องน่ายินดี แต่การจะเป็น “เสือเศรษฐกิจนั้นมีคำถามว่าเราจะเป็นเสือเศรษฐกิจประเภทไหน? และจะไปถึงจุดนั้น (เสือเศรษฐกิจ)ได้อย่างไร?”

อย่าลืมว่า ปัจจุบันขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยล้าลงทุกที สะท้อนจากธนาคารโลกประเมินเศรษฐกิจไทย(2558-2559)ว่าไทยเติบโตตํ่าสุดในอาเซียน แม้รัฐบาลปัจจุบัน วางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ตั้งเข็มมุ่งสู่อุตสาหกรรมก้าวหน้า เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ วางรากฐานเศรษฐกิจดิจิตอล เชื่อมเครือข่ายการค้า แต่คงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจะสัมฤทธิผลนอกจากนี้ประเทศไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง อีกด้วยซึ่งนักวิชาการอธิบายว่า หมายถึงประเทศที่สามารถสลัดพ้นจากประเทศยากจนแต่ไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ควรศึกษาบทเรียน “ที่ประเทศไทยเกือบได้เป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ในช่วงทศวรรษ 2530” ก่อนพลิกมาเผชิญกับวิกฤติว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

และที่สำคัญที่สุดคือ นายกรัฐมนตรีต้องน้อมนำสิ่งที่ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสไว้เมื่อปี 2540 ความตอนหนึ่งว่า “การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกินแบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง”มาเป็นทางนำในเข็มมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นเสือเศรษฐกิจด้วย

กล่าวโดยสรุปแล้ว ถ้าไทยจะเป็นเสือเศรษฐกิจ ต้องเป็นเสือ(เศรษฐกิจ) ที่ยืนบนฐานความจริง รู้จักประมาณตัว พัฒนาโดยรักษาสมดุลระหว่างอัตราเติบโตกับสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมไม่น้อยกว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ หากเป้าหมายตั้งหลักอยู่บนกรอบข้างต้น เป้าหมายสู่เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียอย่างยั่งยืนไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้แน่นอน.

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,118
วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 - 2 มกราคม พ.ศ. 2559