10 ข่าวเด่นฐานปี 58

04 ม.ค. 2559 | 05:30 น.
เป็นประเพณีปฏิบัติ เมื่อใกล้สิ้นศักราช ที่ประชุมกองบ.ก.ย้อนประมวลผลงานข่าว ที่ทีมงานฐานฯ ติดตามรายงานท่านผู้อ่านมาทั้งปี เพื่อคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นสุดคือ เป็นข่าวเปิดประเด็นใหม่มีเพื่อนสื่ออื่นขยายผลต่อ เป็นเรื่องใหญ่ส่งผลกระทบวงกว้าง ที่เงื่อนงำที่ทีมงานทุ่มเทเฝ้าติดตามมารายงานอย่างต่อเนื่อง จนเห็นภาพความเปลี่ยนแปลง หลังการเสนอจากโต๊ะข่าวต่าง ๆ และคัด 10 เรื่องที่เข้ารอบมาแข่งขัน หลังการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวางแล้ว ที่ประชุมมีมติเลือกข่าว “ไทยลุ้นรอดใบแดงไอยูยู” เป็นข่าวดีเด่นของฐานฯ ประจำ ปี 2558 นี้

[caption id="attachment_24593" align="aligncenter" width="600"] ไทยลุ้นรอดใบแดงไอยูยู ไทยลุ้นรอดใบแดงไอยูยู[/caption]

1. ไทยลุ้นรอดใบแดงไอยูยู

พลันที่คณะกรรมาธิการยุโรป (อียู) ประกาศให้ใบเหลืองไทย กรณีที่ยังไม่ดำเนินการที่เพียงพอ ในการป้องกัน ขจัด และยับยั้งการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) หรือทำประมงผิดกฎหมาย เมื่อ 21เมษายน 2558 และขีดเส้นให้เวลาแก้ไขปัญหาให้เป็นที่พอใจภายใน 6 เดือน แต่ล่าสุดต่ออายุถึงสิ้นปี 2559มิฉะนั้นจะให้ใบแดง คือระงับการนำเข้าสินค้าประมงจากไทย ที่ส่งออกไปสหภาพยุโรป ปีละกว่า3 หมื่นล้านบาท จนโกลาหลไปทั่ว

ทันทีเช่นเดียวกัน “ฐานเศรษฐกิจ” ตามเกาะติดข่าวทุกแง่มุมและรายงานทั้งในรูปข่าวบทวิเคราะห์-สัมภาษณ์รายงานเป็นระยะ เริ่มด้วยข่าวพาดหัวเปิดประเด็น “เร่งปลดใบเหลืองอียู แฉถูกแช่แข็งเป็นเรือ เถื่อน/เอกชนจี้ใช้อำนาจพิเศษปิดช่องก่อน ก.ม.บังคับใช้” ควบคู่กับสัมภาษณ์พิเศษ นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง “6 เดือนเคลียร์ปม ‘ประมง’ ลุ้นแย่สุด ‘ต่ออายุใบเหลือง”ในฉบับที่ 3,047 ระหว่างวันที่ 26-29 เมษายน 2558 แล้วเกาะติดทุกมุมข่าว

ทั้งความร้อนรนของรัฐบาล รีบสั่งจัดระเบียบใหม่อย่างเข้มงวด กระทบเรือประมงผิดกฎหมาย ที่หวั่นทำตกงานทันทีกว่า 1.5 หมื่นคน เข้มงวดเรือผิดกฎหมายห้ามออกหาปลา หรือเข้าเทียบท่าแพปลา ส่งผลต่อเนื่องหวั่นอาหารทะเลขาดแคลนกระทบห้องเย็น ผู้ค้า ผู้บริโภค จนต่อมารัฐต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำ MOU 37ประเทศ นำเข้าสินค้าประมงจากเพื่อนบ้าน

ด้านการเร่งจัดระเบียบเรือประมงไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับ 2 หน่วยงานหลัก คือกรมประมง สังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่จะออกอาชญาบัตร หรือใบอนุญาตเครื่องมือในการทำประมง กับกรมเจ้าท่า สังกัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ออกใบอนุญาตทะเบียนเรือ ทีมข่าวฐานฯ ติดตามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ที่เรือประมงเถื่อนมักใช้อ้างว่าไม่พร้อมรองรับ จนถึงการรื้อกฎหมายประมงเพิ่มข้อกำหนดใหม่ เช่น ระบบติดตามเรือ (VMS) ที่มีผู้ติดตั้ง 5 บริษัท ต้องต่อรองราคาเพื่อลดภาระให้เรือประมง หรือเจรจารัฐขอนิรโทษกรรมเรือประมงเถื่อน

ต่อมานายกรัฐมนตรีออกคำสั่งแต่งตั้ง ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ขึ้น เพื่อบูรณาการงานทุกหน่วย ที่ฐานฯสัมภาษณ์พิเศษพล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์ เจ้ากรมกิจการพลเรือน ในฐานะโฆษกและผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศปมผ. (ยศตำแหน่งในขณะนั้น) ถึงแนวทางและความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา

อีกด้านหนึ่งในแง่มนุษยธรรม รัฐบาลมอบหมาย พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรงรองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สตช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คสช. คณะที่ 1 ให้ดูแลเยียวยาเรือประมงที่ได้รับผลกระทบกับคำสั่งต่างๆ จนไม่สามารถออกไปทำการประมงได้ หรือต้องเลิกอาชีพในที่สุด

ด้านการปรับปรุงกฎหมาย แม้รัฐเร่งประกาศใช้ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2558 แต่อียูยังติงว่าขาดสาระสำคัญบางเรื่องไป เช่น ขาดมาตรการควบคุมการทำประมงในและนอกน่านนํ้าไทย ขาดการจำกัดปริมาณการจับให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวตามธรรมชาติเพื่อให้ยั่งยืน เป็นต้น

6 พฤศจิกายน 2558 ครม. มีมติเห็นชอบ ประกาศใช้ พ.ร.ก.การประมงพ.ศ. 2558 ฉบับใหม่ เพื่อปิดจุดอ่อน แสดงความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหา ก่อนที่คณะอียูจะเข้ามาประเมินผลความคืบหน้าในเดือนมกราคม 2559 นี้ ที่ต้องรอผลว่าไทยจะปลดล็อกใบเหลืองไอยูยูได้หรือไม่

ปลดล็อกใบแดงไอยูยูมีลุ้นระทึก ?!?

[caption id="attachment_24595" align="aligncenter" width="600"] ดอนเมืองแชมป์โลกสนามบินโลว์คอสต์ ดอนเมืองแชมป์โลกสนามบินโลว์คอสต์[/caption]

2.ดอนเมืองแชมป์โลกสนามบินโลว์คอสต์

วางโพสิชันใหม่เมื่อปี 2555 บมจ.ท่าอากาศยานไทย(ทอท.) ให้ดอนเมืองเป็นฮับการบินต้นทุนตํ่า (โลว์คอสต์ แอร์ไลน์) รับแนวโน้มใหม่ของอุตสาหกรรมการบิน

ตรงเป้าเข้าจังหวะการเติบโตของธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ ที่ขยายเครือข่ายไปทั่วโลกกันไม่หยุดยั้ง ทำดอนเมืองกลับมาคึกคักทันตา

CAPA Centre for Aviation (CAPA) สำนักวิจัยธุรกิจการบินชื่อดังของโลกระบุ ครึ่งแรกปีนี้ดอนเมืองมีผู้โดยสารเพิ่มถึง 50% แซงคู่แข่งขึ้นแท่นแชมป์ สนามบินสำหรับสายการบินโลว์คอสต์ใหญ่สุดในโลก

ชี้เหตุจาก 3 สายการบินโลว์คอสต์หลัก คือ แอร์เอเชีย กรุ๊ป นกแอร์ และไลอ้อนแอร์ ต่างขยายธุรกิจต่อเนื่อง คาดเครื่องบินโลว์คอสต์ไทย ที่บินจากดอนเมือง80 ลำเป็นกว่า 100 ลำภายในปีนี้ หรือเพิ่มเกือบเท่าตัวนับจากปี 2556
ด้านทอท.คาดการณ์ทั้งปีนี้ผู้โดยสารผ่านดอนเมืองมีไม่ตํ่ากว่า 30 ล้านคนเทียบเท่าตอนก่อนปิดดอนเมืองย้ายไปสุวรรณภูมิที่เปิดใหม่

เพื่อลดความแออัดจึงเร่งปัดฝุ่นเปิดใช้อาคารผู้โดยสาร (เทอร์มินัล) 2 ไว้รองรับเที่ยวบินในประเทศ ส่วนเทอร์มินัล 1 สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ตั้งแต่24 ธันวาคม 2558 แล้ว และเตรียมขยายเฟส 3 ต่อ ไว้รองรับผู้โดยสารเป็น 40 ล้านคนในปี 2560

ว้าว แชมป์นี้อีกนาน

3.สต๊อกบานเบรกคอนโดฯใหม่หัวเมืองหลัก
ผู้ประกอบการอสังหาฯผุดโครงการโดยเฉพาะคอนโดมิเนียม พรึบหัวเมืองหลักรายทาง หลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศแผนกู้ 2 ล้านล้านบาท ลงทุนโครงข่ายรถไฟ และรถไฟฟ้าความเร็วสูง เมื่อปี 2555

การเมืองพลิก คสช.เข้าควบคุมอำนาจปกครอง หยุดซ่อมประชาธิปไตยชั่วคราว ควบคู่เศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทย ซึมกระทือ แจ๊กพอตแตกใส่ปีนี้เมื่อคอนโดมิเนียมทยอยสร้างเสร็จพร้อมโอน แต่กลับวังเวงยิ่ง

ทำเอาผู้ประกอบการหน้ามืด อัดฉีดสารพัดโปรโมชัน เร่งระบายสต๊อกรอโอน ที่สะสมมาตั้งแต่ปี 2555 ถึงทุกวันนี้ที่มีรวม 8.1 หมื่นยูนิต มูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาท และสั่งเบรกแผนขึ้นคอนโดฯใหม่ต่างจังหวัดของปี 2558 เกลี้ยง
ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย คาดการณ์ว่า ต้องใช้เวลาทยอยดูดซับไปอีก 2-3 ปี หรือถึงปี 2562 บางพื้นที่ไม่มีความต้องการจริงรองรับประกอบกับกำลังซื้อต่างจังหวัดชะลอหนัก ตามราคาสินค้าเกษตรที่ดิ่งเหว ยังดีรัฐออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ อาจช่วยดูดซับสินค้าคงเหลือออกไปได้ประมาณ 5-10% ออกซิเจนมาพอดี

[caption id="attachment_24591" align="aligncenter" width="600"] ลานเบียร์ปีนี้มีหนาว ลานเบียร์ปีนี้มีหนาว[/caption]

 4. ลานเบียร์ปีนี้มีหนาว
ขณะกระแส “ดาราโพสต์เบียร์” กำลังฟัดจัด ฐานฯพาดหัวข่าว “ถึงคราวลานเบียร์ปีนี้มีหนาว หมอสมานชี้ผิดก.ม.คุมนํ้าเมา” เมื่อปลายตุลาคมนี้ จุดชนวนตอบโต้ซ้อนมาอีกลูก

น.พ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือมือปราบนํ้าเมา แจกแจงว่า ลานเบียร์สด ซึ่งมีการจัดคอนเสิร์ต มีการละเล่น ชิงโชค โลโก้ รวมถึงมิวสิกเฟสติวัล เข้าข่ายความผิดตาม ม.32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

ทำเอาศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดง พึมพำบอกขัดลาภ เป็นเทศกาลโกยรายได้จากการโชว์ตัว ขณะผู้ประกอบการลานเบียร์โต้ลั่นยืนยันจัดต่อ ชี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นบรรยากาศบ้านเมือง พร้อมเสนอหมอสมาน เชิญตัวแทนสำนักงานกฤษฎา เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยวางแนวปฏิบัติ “ลานเบียร์” ให้ชัด อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เพื่อเข้าใจตรงกัน

โดยหมอสมานแจงตบท้าย บอกลานเบียร์ไม่ผิด แต่กิจกรรมประกอบทั้งหลาย “ผิด” เพราะเข้าข่าย “จูงใจให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ก่อนยํ้ามุมหมอ ที่ทำคนไทยเจ็บ พิการ และเสียชีวิต มีแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1

 5.อัดทุกมาตรการแจ้งเกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

ออกคำสั่งคสช.ที่ 72/2557เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.) ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน2557 ต่อเนื่องมาตลอดปีนี้มีมาตรการต่อเนื่อง

กนพ.ประกาศชัดแล้ว เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 2 เฟส 10จังหวัด ระยะที่ 1 มีตาก, มุกดาหาร,สระแก้ว, ตราด, สงขลา และหนองคาย ระยะที่ 2 มีเชียงราย, นครพนม, กาญจนบุรีและนราธิวาส พร้อมจัดสรรงบให้ก่อน สำหรับแผนงานที่ลงในพื้นที่ ทั้งถนน รถไฟสะพาน ด่านศุลกากร

ตามมาด้วย มาตรการจูงใจผู้ประกอบการที่ประกาศเป็นระลอก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านสิทธิประโยชน์สูงสุดที่ได้รับจากบีโอไอ

แก้เกมฟองสบู่ราคาที่ดิน ที่ถูกปั่นฟูฟ่องรับข่าวประกาศเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยจัดหาที่ดินรัฐมาถอนสภาพเป็นที่ราชพัสดุ เพื่อปล่อยเช่าให้เอกชนเข้าลงทุนโดยให้เงื่อนไขผ่อนปรนสุดๆ ทั้งลดค่าธรรมเนียมแรกเข้า หรือค่าธรรมเนียมจัดการให้เช่าลงกึ่งหนึ่ง ปลอดภาระ 5 ปีไปเริ่มจ่ายปีที่ 6 ระยะเวลาการเช่ายาว 50 ปี และต่อได้อีก 50 ปี

อีกเรื่องสำคัญ เสนอร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ... เข้ากระบวนการนิติบัญญัติ เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยตรง อัดสารพัดโปรฯ แรงเพื่อแจ้งเกิดตามบัญชา “บิ๊กตู่”

 6. มหากาพย์ระบายยาง “ไห่หนาน”

ระบายยางพาราล็อตใหญ่ในสต๊อกรัฐยังไม่มีวี่แววสำเร็จ นับแต่ดีลซื้อขายยาง 1 แสนตัน กับบริษัท ยี่ฟังเหลียน จำกัด ตั้งแต่กลางปี 2557 แต่ก็โยกโย้ ที่สุดองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) สั่งล้มดีล

ไล่เลี่ยกันบริษัท ไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ อินดัสทรี กรุ๊ปฯ โผล่เป็นคู่ค้ารายใหม่ มีตัวแทนคือ บริษัท เอ็มที เซ็นเตอร์ เทรดฯ เข้าเจรจากับ อ.ส.ย. จุดประกายความหวัง ฐานฯพาดหัวข่าว “ปั่นราคายางทะลุ 70 ยักษ์ไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ทาบซื้อล้านตัน”

ลงนามสัญญาเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2557 จะรับซื้อยางเก่าพ่วงใหม่รวม 4แสนตันเศษ แต่ตลอดปี 2558 รับไปแค่จิ๊บจ๊อยเป็นเต่าคลาน แม้จะปรับสัญญาผ่อนปรนยังไม่เข้าแผน

ขณะบางช่วงที่ราคาทำท่าขยับขึ้น ชาวสวนยางก็ออกมากดดันห้ามรัฐขายเกรงปริมาณยางที่เทออกจะกดราคาลงอีก
ทีมข่าวฐานฯ เกาะติดการระบายยาง ยิ่งใกล้สิ้นสุดสัญญา 21 กันยายน 2558ความหวังยิ่งริบหรี่ ขณะที่ผู้บริหาร อ.ส.ย.เร่งรายงานบอร์ดบริหาร ขอยกเลิกสัญญาเพราะเกรงความผิดพันตัว

ตัวแทนผู้ซื้อดอดเข้าเจรจากับพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีเกษตรฯคนใหม่ หลังการปรับครม. “ตู่ 2” ยอมจ่ายค่าปรับ 41 ล้านบาท และขอขยายเวลารับมอบไปสิ้นสุด 21 พฤษภาคม 2559 ให้ตามลุ้นถ้ายังทำตามสัญญาไม่ได้คราวนี้ รัฐบาลจะเอาไงกับสต๊อกยางรัฐที่ค้างเติ่ง

[caption id="attachment_24594" align="aligncenter" width="600"] ส่งออกรถแซงหน้ายอดขายในไทย ส่งออกรถแซงหน้ายอดขายในไทย[/caption]

 7. ส่งออกรถแซงหน้ายอดขายในไทย

ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ใหญ่ ได้สมญา“ดีทรอยต์ออฟเอเชีย” เดิมเพื่อป้อนตลาดในประเทศเป็นหลัก ส่งออกเป็นส่วนเสริม แต่นับวันยอดส่งออกตีตื้นขึ้นเรื่อยๆ

ปี 2558 แวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ตั้งเป้ายอดผลิตที่ 2.13 ล้านคันแต่เศรษฐกิจซบกำลังซื้อถดถอย ยอดขายในประเทศทำได้ที่ 9.3 แสนคัน ขณะที่ยอดส่งออกยังแรงขึ้นไปอยู่ที่ 1.2 ล้านคัน

ตลาดส่งออกแซงหน้าไปแล้ว และนับวันจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆรถบรรทุก 1 ตัน หรือรถกระบะไทย ได้รับความนิยมสูง ส่งออกเป็นสัดส่วนสูงถึง 58%ยิ่งปีนี้ค่ายรถออกกระบะโฉมใหม่เกือบทุกค่าย แรงสุดโตโยต้าเปิด “ไฮลักซ์รีโว่” หลังเปิดตัวคาดยอดส่งออกจะกระตุกขึ้นอีก โดยตลาดกระบะไทยมุ่งตะวันออกกลาง ที่ชื่นชอบกันมาก เหมาะกับภูมิประเทศ ใช้งานสารพัดประโยชน์ จนแพงกว่ารถเก๋งไปแล้ว

ด้านรถยนต์นั่งมีสัดส่วน 37% เติบโตจากส่งออกอีโคคาร์ไปตลาดยุโรป และอเมริกาเหนือ

หลังอีโคคาร์เฟส 1 สำเร็จงดงาม มาสด้าเปิดสายพานการผลิต “มาสด้า 2”ประเดิมค่ายแรกอีโคคาร์ เฟส 2 ส่งออกไปทั้งในกลุ่มอาเซียน ออสเตรเลีย ล่าสุดส่งเข้าตลาดอังกฤษ

มิตซูบิชิก็ไม่น้อยหน้า พฤศจิกายนนี้ได้ฤกษ์ส่งออกรุ่นตัวเก่ง “ปาเจโรสปอร์ตใหม่” ไปตลาดโลกกว่า 90 ประเทศ จากชื่อเสียงรุ่นก่อนหน้า ได้รับรางวัลรถเอสยูวียอดเยี่ยมมาก่อน

เราเป็นโรงงานรถยนต์ของโลก

 8. เปิดแผนฟื้นฟู “คลองจั่น” 26 ปี

นับจากศาลล้มละลายกลางรับคำร้อง 26 สิงหาคมปีที่แล้ว กรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เป็นซีรีส์เรื่องยาว ที่ทีมข่าวฐานฯเกาะติดข้ามปี มีนาคม 2558ศาลฯสั่งฟื้นฟูกิจการ และตั้งผู้ทำแผน ล่วงถึง 7 กันยายน ฐานฯเปิดแผนฟื้นฟูฉบับสมบูรณ์ที่เพิ่งแล้วเสร็จ ที่เปิดแล้วตะลึง มีมูลหนี้ที่นำขึ้นฟ้องร้องต่อศาลรวม 1.733หมื่นล้านบาท ด้านเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระกว่า 1.88 หมื่นคน แบ่งเป็น 12 กลุ่ม คือ

1.เจ้าหนี้มีประกัน คือ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ภาระหนี้ 1.54 พันล้านบาท2.เจ้าหนี้มีประกันอีก 1 ราย 34 ล้านบาท 3.เจ้าหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ 71 ราย ภาระหนี้ 6.9 พันล้านบาท 4.เจ้าหนี้ผู้ฝากเงินนิติบุคคล 14 ราย 77 ล้านบาท 5.เจ้าหนี้สมาชิก 5.2 พันราย หนี้ 7.27 พันล้านบาท 6.เจ้าหนี้สหกรณ์ตามคำพิพากษา 1 รายมูลหนี้ 811 ล้านบาทเศษ 7.เจ้าหนี้สมาชิกตามคำพิพากษา 175 ราย มูลหนี้ 516ล้านบาท 8.เจ้าหนี้เงินรอจ่ายคืน 99 ราย 89.5 ล้านบาท 9.เจ้าหนี้ค่าเช่า 1 ราย 2.03ล้านบาท 10.เจ้าหนี้ค่าบริการ 1 ราย 3.84 ล้านบาท 11.เจ้าหนี้ที่ไม่มีประกันอื่น 17ราย มูลหนี้ 60.50 ล้านบาท และ 12.เจ้าหนี้ที่ยอดชำระไม่เกิน 1 หมื่นบาทอีก 1.32หมื่นราย มูลหนี้ 19.45 ล้านบาท

โจทย์ใหญ่สุดเลยคือ จะหาเงิน 1.73 หมื่นล้านบาทมาคืนเจ้าหนี้ได้อย่างไรแผนฯวางไว้ 3 แนวทาง ที่บรรดาเจ้าหนี้ต้องภาวนาไปอีก 26 ปี ว่าจะได้คืนครบหรือไม่

เจ็บนี้อีกนาน

 9. เกาะติดสงครามค่าเงิน

คาดไว้ล่วงหน้าค่าเงินผันผวนจะเป็นปัญหาหนักของปี 2558 เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงท่วมโลก ทั้งนํ้ามันราคาหัวทิ่ม และธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะปรับขึ้นดอกเบี้ย

ฐานฯพาดหัวรายงานข่าว “ห่วงสงครามค่าเงิน-นํ้ามันทำพิษ ฉุดส่งออกเสี่ยงชวดเป้า 3 ปีซ้อน” รับศักราชใหม่ ตั้งแต่มกราคม 2558 และติดตามต่อเนื่อง

เพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่สมํ่าเสมอ ขณะสหรัฐฯ เล็งขึ้นดอกเบี้ย จากที่กดตํ่าเรี่ยดินช่วงกระตุ้นยาว ด้านมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหลายชาติหวั่นกระทบ ออกมาตรการป้องตนเองบ้าง ปลุกกระแส “สงครามค่าเงิน”

ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจ ประกาศใช้คิวอีตามในปี 2556 ต่อด้วยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จนธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ รีบยกเลิกกำหนดเพดานเงินฟรังก์สวิสต่อยูโร เพื่อรับมือค่าเงินผันผวน

ฝั่งธนาคารกลางจีน (PBCO) ปรับลดค่าเงินหยวนลง 3 ครั้ง และลดค่ากลางการเคลื่อนไหวของเงินหยวน (Band) บวกลบ 2% เพื่อรับมือการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ

ค่าบาทไทยปีนี้ก็แกว่งไกล แข็งสุดที่ 32.31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อ 26กุมภาพันธ์ ครึ่งปีหลังหันมาอ่อนแตะ 36.64 บาท อ่อนสุดในรอบ 8 ปีครึ่ง เฝ้ามาทั้งปีกระทั่งกลางธันวาคมที่ผ่านมา เฟดได้ฤกษ์สั่งปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็นประเดิมต้องจับตาปฏิกิริยานานาชาติกันต่อ

ใครจะโดดเข้าเล่น “สงครามค่าเงิน” รอบใหม่หรือไม่

 10. เหล็กจีนป่วนโลก

เหล็กจีนท่วมตลาดไทยเป็นปัญหายืดเยื้อแก้ไม่ตก เพราะยอดการใช้ปีละ 17ล้านตัน โรงเหล็กไทยผลิตป้อนตลาดแค่ 6 ล้านตัน ที่เหลือเหล็กจีนกวาดเรียบ เพราะถึงนำเข้าก็ยังถูกกว่าตันละกว่า 2-3 พันบาท

ผู้ประกอบการร้องรัฐให้ปกป้องก่อนสายป่านหมด ทั้งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือเอดี และมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) เพื่อตั้งกำแพงภาษีสกัด แต่ยังล่าช้าหรือไม่เป็นผล เพราะอัตราจัดเก็บยังตํ่าสกัดไม่อยู่จีนผลิตเหล็กปีละถึง 800 ล้านตัน แต่ใช้ในประเทศแค่ 600 ล้านตัน ทางการ

จีนยกเว้นภาษีส่งออกหนุนระบายออกตลาดโลก และใช้ช่องโหว่ เช่น เจืออัลลอยให้ต่างจากเหล็กในประเทศ เพื่อยกเว้นอากรนำเข้า นอกจากไทยแล้วโรงเหล็กเพื่อนบ้านก็ร้องผ่านเวทีอาเซียน-จีน แต่ยังไม่เป็นผล

ทางการอังกฤษจัดพิธีรับประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ของจีนมาเยือนอย่างยิ่งใหญ่ จนเป็นทริปประวัติศาสตร์ ในวงหารือข้อราชการ 2 ฝ่าย ไม่วายหยิบปัญหา “เหล็กจีน” ขึ้นแลกเปลี่ยน

เหล็กจีนป่วนไปทั้งโลกแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,118
วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 - 2 มกราคม พ.ศ. 2559