เปิดมติศบค. แผนจัดหา-กระจาย-ฉีด วัคซีนโควิด19 ของไทยปี 2564

20 เม.ย. 2564 | 20:00 น.

รายงานพิเศษ : เปิดมติศบค. แผนจัดหา-กระจาย-ฉีด วัคซีนโควิด19 ของไทยปี 2564

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่า ครม.มีมติรับทราบแผนการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ซึ่งเป็นหนึ่งในวาระที่อยู่ใน “สรุปผลการประชุม ศบค. หรือ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  (ศบค.) ครั้งที่ 5/2564” เมื่อวันศุกร์ที่ 16 เมษายน 2564

โดย “แผนการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19” ที่นำมารายงานให้ครม.รับทราบนั้น ในที่ประชุมศบค.ได้พิจารณาแผนการให้บริการวัคซีนฯ ดังนี้

แผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ของประเทศไทย พ.ศ. 2564 ดังนี้

  1. วัคซีน Sinovac Biotech จำนวน 2,500,000 โดส (เดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน 2564)
  2. วัคซีน AstraZeneca จำนวน 26,000,000 โดส (เดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2564)
  3. วัคซีน AstraZeneca จำนวน 35,000,000 โดส (เดือนกันยายน - ธันวาคม 2564)

แผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ของประเทศไทย พ.ศ. 2564

การจัดสรรจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ให้หน่วยบริการ

ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 15 เมษายน 2564 รวมจำนวน 1,043,589 โดส โดยได้จัดส่งวัคซีนของบริษัท Sinovac จำกัด ถึงหน่วยบริการเป้าหมายใน 77 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว จำนวน 957,429 โดส และจัดส่งวัคซีนของบริษัท AstraZeneca จำกัด ใน 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร จำนวน 86,160 โดส

 

การให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ในพื้นที่ 77 จังหวัด

มีจำนวนยอดสะสมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 15 เมษายน 2564 รวมทั้งสิ้น 586,032 โดส จำแนกเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 510,456 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 75,576 ราย โดยจำแนกตามกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการฉีดวัคซีนฯ ดังนี้

 

กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19

1) บุคลากรสาธารณสุข 2) เจ้าหน้าที่อื่น ๆ 3) ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป 4) ผู้ที่มีโรคประจำตัว 5) ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง  มีรายละเอียด ดังนี้

การให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ในพื้นที่ 77 จังหวัด

แผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ให้ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย ภายในปี 2564 ดังนี้

เปิดมติศบค. แผนจัดหา-กระจาย-ฉีด วัคซีนโควิด19 ของไทยปี 2564
 

ข้อเสนอแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด - 19 (Sinovac) จำนวน 1,000,000 โดส ในเดือนเมษายน 2564

  1. ควบคุมการระบาดในพื้นที่สีแดง 100,000 โดส
  2. พื้นที่ 77 จังหวัด แบ่งเป็น ประชาชนที่มีโรคประจำตัว 147,200 โดส เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน 599,800 โดส และตำรวจและทหารปฏิบัติงานด่านหน้า 54,320 โดส
  3. สำรองส่วนกลาง 98,680 โดส

ข้อเสนอแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด - 19 (Sinovac) จำนวน 1,000,000 โดส ในเดือนเมษายน 2564

ความเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมศบค. ดังนี้

  1. ควรเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด – 19 ให้ครอบคลุมประชากรของ ประเทศและพิจารณาจัดหาวัคซีนทางเลือกชนิดอื่นเพิ่มเติม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) สายพันธุ์กลายพันธุ์จากต่างประเทศซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในหลายประเทศ เช่น สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์บราซิล เป็นต้น รวมทั้งควรเตรียมความพร้อมระบบบริการสุขภาพเพื่อรองรับการแพร่ระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  2. ควรให้ความสำคัญในการชี้แจงและสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ใน 2 ประเด็น ได้แก่ (1) วัคซีนที่ให้บริการในประเทศไทยมีคุณภาพและมีความปลอดภัย และ (2) การให้ประชาชนได้รับทราบแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด - 19 ที่ชัดเจน
  3. ให้กระทรวงสาธารณสุขหาแนวทางในการให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการกระจายและฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน โดยอาจพิจารณาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีน หรือการให้องค์การเภสัชกรรมเป็นตัวแทนในการนำเข้าวัคซีนทางเลือก เพื่อให้โรงพยาบาลหรือหน่วยงานภาคเอกชนได้นำไปใช้ รวมถึงการขึ้นทะเบียนวัคซีนให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้องตามระเบียบข้อกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังมีข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมศบค. ระบุว่า

1. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 (ศปก.สธ.) เร่งดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ให้กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่เสี่ยงในระยะเร่งด่วน และสร้างความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ในการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

  • สัปดาห์ที่ 1  ให้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 รุนแรง
  • สัปดาห์ที่ 2 ให้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด ของโรคโควิด - 19 รุนแรง และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ปานกลาง
  • สัปดาห์ที่ 3 ให้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ให้ประชาชนในพื้นที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ปานกลาง และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ต่ำ
  • สัปดาห์ที่ 4 ให้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ต่ำ

    
2. ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กระทรวงมหาดไทย (ศปก.มท.) ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 (ศปก.สธ.) กระทรวงกลาโหม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวบรวมข้อมูลและเตรียมความพร้อมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม/เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งการเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และให้มีการเปิดรับอาสาสมัครจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการสนับสนุนรถพยาบาล               รถกู้ชีพ และรถกู้ภัยต่าง ๆ เพื่อช่วยในเรื่องการรับส่งผู้ป่วยโควิด – 19 ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ที่อาจขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น

3.  ให้โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อสารและชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 และความจำเป็นของการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด - 19 ในการระบาดระลอกเมษายน 2564 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของประชาชน