รัฐบาลต้องกระตุ้นให้ถูกจุด

24 ก.ย. 2559 | 13:00 น.
ประเทศไทยติดกับดัก "สภาพคล่องสูง"มานานเกินไปแล้ว ธนาคารมีเงินล้น โดยแต่ละธนาคารไม่ต้องแข่งกันเพื่อเรียกระดมเงินฝาก ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำลงไปเรื่อย ขณะที่เงินกู้ก็ลดลงไปมากเช่นเดียวกัน ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินก็คงสภาพดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ระดับ 1.5 % เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

สภาพเช่นนี้ทำให้เงินทุนต้องแสวงหารายได้จากเม็ดเงินที่มีอยู่ โดยบางส่วนไปลงทุนในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทางตรง หรือการลงทุนผ่านตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ หรือลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ บางส่วนลงทุนในประเทศโดยลงทุนตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ หรือ ลงทุนในก่อทุนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเช่นเดียวกัน และคนไทยส่วนใหญ่โดยทั่วๆ ไป อาศัยเงินบาทมีค่าแท้จริงต่ำค่ากว่าอดีตเมื่อ 10 ปีที่แล้วมาก บางส่วนก็ยังเหนียวแน่นกับการฝากเงินในธนาคาร แต่ในสายตานักลงทุน ก็ลงทุนหุ้นหรือซื้อขายหุ้น ลงทุนในตลาดทองคำ หรือลงทุนในที่ดินที่เชื่อว่าปลอดภัยมากกว่า

ประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี2559 ล่าสุดก็ปรับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย จากเติบโต 3.1 % ขยับขึ้นเล็กน้อยเป็นเติบโตประมาณ 3.2 % เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาก เกินดุลการค้าด้วย เงินเฟ้อก็ต่ำ แต่เงินเฟ้อต่ำระดับ 2 % ย่อมไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะเศรษฐกิจจะดูดีกว่านี้หากเงินเฟ้อขึ้นไปอยู่ในระดับ 3-5 % เพราะดูแล้วใกล้เคียงสภาพเงินฝืดเต็มที

ความเป็นจริงของเศรษฐกิจไทยขณะนี้ดูเหมือนจะดี แต่ในภาพที่เราเห็นนี้มีความจริงซ่อนอยู่ คือ ความผิดปกติของอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดต่ำลงไปเรื่อยๆ และคงไม่มีปาฏิหาริย์ที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นมาได้ในระยะ 1 ปีข้างหน้า กลับอาจต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปอีกก็ได้ในระยะ 3 เดือนข้างหน้านี้ ทั้งนี้ ที่บอกว่า "ผิดปรกติ" ก็เพราะเหตุจากเศรษฐกิจต่างประเทศถดถอยลงกันถ้วนหน้าทำให้อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงทั่วโลก ยกเว้นบางประเทศในภูมิภาคที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงกว่า 5%

รัฐบาลได้เร่งรัดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเป็นการสร้างงาน สร้างความพร้อมมูลไว้รองรับการเจริญเติบโตในอนาคต แต่ผมเชื่อว่าแม้จะมีจำนวนมากโครงการที่จะลงมือปฏิบัติจริงในภาคสนาม แต่การลงทุนนั้นส่งผลต่อประชาชนคนไทยได้ไม่มากอย่างที่คิด มีไม่กี่บริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการเป็นที่ปรึกษาโครงการ ได้รับประโยชน์จากการก่อสร้าง (แรงงานต่างด้าวได้ประโยชน์) ได้รับประโยชน์จากการค้าวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง มีไม่กี่บริษัทที่ได้รับประโยชน์จากโครงการสัมปทานต่างๆ ที่จะติดตามมาในภายหลัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถ "กระเพื่อม" ถึงประชาชนโดยตรงได้ แตกต่างจากการการสร้างระบบสาธารณูปโภคที่พุ่งเป้าไปที่การสร้างแรงงานคนไทยโดยตรง
สิ่งที่รัฐบาลควรจะพิจารณาดำเนินการต่อไปนี้ และเริ่มนับตั้งแต่บัดนี้ไปก็คือ มองการสร้างประโยชน์ที่จะส่งผลโดยตรงต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ คือ ใช้เงินให้เป็น ใช้เงินให้ตรงจุด มองมาตรการของรัฐบาลในเชิงมาตรการดีมานด์ ไม่ใช่มองด้านซัพพลายอย่างการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทำกันอยู่ รัฐบาลต้องกระจายการสัมมนาส่วนราชการสู่เมืองท่องเที่ยวต่างจังหวัด

มาตรการด้านดีมานด์ คือ การกระตุ้นให้ประชาชนเข้าถึงระบบสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ช่วยลดภาระด้านภาษีการโอน การจดจำนอง และนี่ผมหมายความรวมถึงการชะลอการออกกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ด้วย เพราะล่าสุดก็ยังเห็นนักวิชาการของรัฐสภาของไทยยังออกความเห็นแย้งในหลายข้อในหลายประเด็นซึ่งน่ารับฟัง เราบอกว่าเราอยากจะทำเหมือนกับต่างประเทศที่มีกฎหมายแบบนี้ แต่เราไม่ได้พิจารณาถึงข้อละเอียดต่อผลกระทบที่จะตามมาจากการออกกฎหมายดังกล่าว และประชาชนอยู่ในภาวะที่จะพร้อมรับมือแต่ตกอยู่ในสภาวะ "ไม่มีทางเลือก" มากกว่า รัฐบาลควรจะเลือกเวลาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับความเป็นจริงด้วย นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ควรแก้ไข

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559