นี่คือสิ่งที่อยากได้ยิน

14 ส.ค. 2559 | 14:00 น.
ผลประชามติออกมาเป็นทางการแล้วเรื่องรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของไทยและคำถามพ่วง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559 คือ ผู้ออกเสียง 62% รับร่าง และไม่รับร่าง 38 % ส่วนคำถามพ่วงรับ 58 % ไม่รับ 42 % ซึ่งคำถามพ่วงก็คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)เป็นผู้เสนอให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปี หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ นั่นก็หมายความว่าปัญหาคาใจของทุกๆ คนได้คลี่คลายลงไปแล้ว และนี่เป็นเครื่องยืนยันว่า คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศเห็นด้วยกับสภาพที่เป็นอยู่และรับสภาพกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกไม่ไกลนัก นั่นคือการเลือกตั้งภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนใครจะว่าระบอบการปกครองของไทยกำลังถอยหลังลงคลองก็ว่ากันไป ขณะที่ฝ่ายที่คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เชื่อว่าคงจะทำหน้าที่คัดค้านกันต่อไป

หลังจากระบอบการปกครองของไทยมีภาพชัดเจนเช่นนี้ เราคงเห็นทรรศนะของนักธุรกิจทั้งไทยและต่างชาติผ่านสื่อมวลชน ซึ่งเชื่อว่าเขาคงมั่นใจในการค้าการลงทุนของไทยเพิ่มขึ้น การตัดสินใจใดๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้น และรอดูผลการลงประชามติ คราวนี้คงตัดสินใจลงมือดำเนินการได้แล้ว ส่วนภาครัฐก็คงจะเร่งเครื่องเดินหน้าโครงการต่างๆ ได้อย่างสะดวก ไม่ต้องกลัวว่าแผนการดำเนินงานจะชะงักงันเพราะทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ โดยเฉพาะแผนใหญ่พัฒนาประเทศในรอบ 20 ปีข้างหน้าที่รองรับด้วยร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งต่อไปนี้ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากฝ่ายไหนก็ตามก็จะต้องดำเนินการตามกรอบที่รัฐบาลปัจจุบันได้วางแผนเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

คุณคเณศ วังส์ไพจิตร ผู้อำนวยการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) บอกว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น 23.31% โดยถือว่าอยู่ในระดับที่ร้อนแรง (Bullish) ซึ่งถือว่าเป็นความร้อนแรงครั้งแรกในรอบ 20 เดือนตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจ โดยดัชนีอยู่ในระดับที่ 128.81 ส่วนดัชนีรายกลุ่มนั้น นักลงทุนรายกลุ่มยังอยู่ในระดับที่ทรงตัว แต่มีการปรับตัวขึ้นประมาณ 10% ขณะที่กลุ่มสถาบันในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงประมาณ 36% ไปอยู่ที่ระดับ 136 จุด โดยเป็นระดับที่ร้อนแรง

ทั้งนี้ ในส่วนของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 71.43% มาอยู่ที่ระดับ 171.43 จุด จากเดิมที่อยู่ที่ระดับ 100 จุด โดยถือเป็นระดับที่สูงสุดตั้งแต่เคยสำรวจมา ด้านเงินทุนจากต่างประเทศมีการไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของปริมาณการซื้อขายในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีมูลค่าถึง 2.69 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นปริมาณที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ตั้งแต่ในช่วงปี 2555-2559 มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในภูมิภาคค่อนข้างมาก ซึ่งเฉพาะในประเทศไทยมีการไหลเข้ามาในช่วงปลายปีที่ผ่านมาในปริมาณมาก โดยค่อนข้างชัดเจนว่านักลงทุนต่างชาติมีส่วนในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงของตลาดหุ้นในภูมิภาค

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ไอซีที และพลังงาน ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับความสนใจ ได้แก่ กลุ่มแฟชั่น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำการสำรวจจากบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 1,500 บริษัทมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.33 จุด ส่วนดัชนีผู้บริโภคที่สำรวจจากผู้บริโภคทั่วไปทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 1.35 จุด ด้านดัชนีภาคอุตสาหกรรมจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เพิ่มขึ้น 1.1 จุด ยกเว้นดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของตลาดทุนที่เพิ่มขึ้นถึง 23 จุด ซึ่งค่อนข้างมีนัยสำคัญเป็นอย่างมาก "ปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทยได้แก่ เงินทุนไหลเข้า ขณะที่ปัจจัยฉุดคือเรื่องของการเมืองที่มีความผันผวน แต่ต้องเรียนว่าเป็นการสำรวจก่อนที่จะมีการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ" คุณคเณศกล่าว ซึ่งนั่นหมายความว่าเมื่อผลประชามติออกมาเช่นนี้ ทุกอย่างยิ่งสะดวกบริบูรณ์มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559