ตั้งบรรษัทพลังงานฯประเทศได้อะไร

29 ก.ค. 2559 | 14:00 น.
ยังเป็นกระแสต่อเนื่องที่กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) พยายามที่จะผลักดันให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ล้มการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เพื่อนำไปสู่การร่างพ.ร.บ.ขึ้นมาใหม่ ตามที่กลุ่มคปพ.เสนอขึ้นมา ที่จะให้มีการบรรจุการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เข้าไปอยู่ในพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับด้วย เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลแหล่งปิโตรเลียมของประเทศไทยทั้งหมด ไม่ว่าการให้สัมปทาน สำรวจ ขุดเจาะ ผลิต ตลอดจนไปถึงการจำหน่าย เท่ากับว่า เป็นการรวมอำนาจบริหารแบบเบ็ดเสร็จด้านปิโตรเลียมเข้ามาไว้ด้วยกัน ภายใต้ผลประโยชน์ตอบแทนรัฐในรูปการแบ่งปันผลผลิตหรือระบบจ้างผลิต

หากสนช.หรือรัฐบาลคล้อยตามกลุ่มคปพ.และนำไปสู่การจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาได้จริง ก็หมายความว่า การจะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่จะมีขึ้นในช่วงกลางปีหน้าเลิกคิดได้เลย รวมถึงการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมของแหล่งบงกช และเอราวัณ ที่จะหมดอายุในช่วงปี 2565-2566 ที่จะต้องได้ผู้ชนะภายในเดือนกันยายน 2560 ก็เป็นอันยุติ เพราะทุกอย่างจะถูกโอนไปอยู่ในอำนาจของบรรษัทพลังงานแห่งชาติเป็นผู้ดูแลทั้งหมด

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา หลายฝ่ายมองว่า จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงานอย่างแน่นอน เพราะแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่ง ทั้งเอราวัณและบงกช ถือเป็นแหล่งที่ผลิตก๊าซมากที่สุดในบรรดาแหล่งทั้งหมดที่มีอยู่ในอ่าวไทย หากตกไปอยู่ในมือของบรรษัทพลังงาน ฯก็หมายความว่า บรรษัทพลังงานฯ สามารถที่จะไปจัดจ้างผู้ประกอบการรายใดมาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมก็ได้ โดยหากบรรษัทตั้งเงื่อนไขที่จะให้รัฐได้ผลตอบแทนสูงกว่าศักยภาพปิโตรเลียมที่มีอยู่ ก็จะไม่มีเอกชนรายใดกล้ามาลงทุน เพราะได้ผลตอบแทนไม่คุ้มเสี่ยง การผลิตก็จะหยุดชะงัก แต่หากบรรษัทพลังงาน ตั้งเงื่อนไขที่จูงใจเอกชนมากเกินไป รัฐก็จะได้ผลตอบแทนน้อย ที่สำคัญกว่านั้นคือ ระบบแบ่งปันผลผลิตนั้นไม่เอื้อให้เอกชนปรับลดต้นทุน ได้ดีเท่าระบบสัมปทาน รวมทั้งเปิดช่องให้มีการคอร์รัปชั่น ได้ง่าย เพราะทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจต้องขออนุมัติ จากบรรษัทพลังงานฯ

อีกทั้ง ยังมีประเด็นที่ต้องตั้งคำถามต่อว่า บรรษัทพลังงานที่ตั้งขึ้นใหม่ จะหาบุคคลากร ที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์มากพอที่จะกำกับดูแล และเป็นทั้งผู้จำหน่ายปิโตรเลียม ได้จากไหน จะต้องใช้ระยะเวลาเตรียมความพร้อมนานเท่าไหร่ ในขณะที่รัฐมีเวลาที่จะให้คำตอบกับผู้รับสัมปทานรายเดิม ว่าจะใช้ระบบใดในการบริหารจัดการ และใครจะเป็นผู้ชนะการประมูล ภายในเดือนกันยายน2560 นี้เท่านั้น โดยหากระยะเวลาทอดยาวออกไป ผู้รับสัมปทานรายเดิมก็จะชะลอการลงทุนก่อนหมดระยะเวลาอายุสัมปทาน เนื่องจากไม่คุ้มทุนที่จะดำเนินการ ซึ่งมีการประเมินจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน( สนพ.)แล้วว่าหากการผลิตก๊าซจากเอราวัณและบงกชต้องหยุดชะงัก เราจะต้องนำเข้าแอลเอ็นจี เข้ามาทดแทนมากถึง30ล้านตัน ในช่วงระหว่างปี 2561-2565 ผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นก็คือต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะต้องปรับเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ กรณีที่บรรษัทพลังงานเลือกวิธีรับจ้างผลิต ด้วยสภาพของธรณีวิทยาของแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่เป็นกระเปาะเล็กๆ ไม่ได้เป็นแหล่งใหญ่เหมือนกับประเทศในตะวันออกกลาง ด้วยความที่ไม่เป็นเจ้าของแหล่งผลิตนี้เอง จะทำให้ผู้ประกอบการไม่มีการลงทุนหรือพัฒนาเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อสำรวจขุดเจาะให้ได้มาซึ่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในปริมาณที่มากขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณปิโตรเลียมลดลงทุกปี

เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ผู้ได้รับสัมปทาน เป็นเจ้าของแหล่ง การประมูลได้มาด้วยการแข่งขัน เมื่อได้แหล่งผลิตปิโตรเลียมมาแล้ว จะต้องพยายามพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่นี้ไปทำการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมที่มีความซับซ้อนของอ่าวไทย ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมให้มากขึ้น ซึ่งดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันนี้ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติของไทย ไม่มีใครบอกได้ว่าจริงๆ แล้วมีปริมาณใด ปีนี้อาจจะเป็นตัวเลขหนึ่ง แต่เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีทุกปี ก็จะทำให้การสำรวจหลุมที่ทำได้ยาก สามารถเข้าถึงแหล่งปิโตรเลียมได้มากขึ้น เป็นการช่วยเพิ่มปริมารสำรองได้อีกทางหนึ่ง

อีกทั้ง ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม การพัฒนาบุคลากรถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถือเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ความชำนาญและเชี่ยวชาญ และต้องสร้างบุคลากรขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หากแหล่งปิโตรเลียมตกไปอยู่ในบรรษัทพลังงานแล้ว การพัฒนาบุคลากรขึ้นมารองรับก็จะหายไป เพราะจะมองว่าไม่มีความจำเป็น จากการไปพึ่งคนอื่นผลิตปิโตรเลียมแทน ตรงจุดนี้ก็จะไม่เกิดการสร้างงานขึ้นในประเทศ เป็นลูกโซ่ตามมา ดังนั้น บรรษัทพลังงานแห่งชาติที่มีการเรียกร้องกันอยู่นี้ เห็นแล้วคงไม่เป็นผลดีต่อประเทศเป็นแน่

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,178 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559