ม.44 ภาพสะท้อนกลไกรัฐ

14 ก.ค. 2559 | 13:00 น.
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลแสดงความจริงจังในการสะสางปัญหาสะสมของประเทศ ด้วย การตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยึดคือที่ดินสปก.ที่ถูกครอบครองโดยไม่ชอบเพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกร ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังปัญหาถูกทิ้งค้างมาตั้งแต่ปี 2536

ตามข้อมูลที่ คุณสรรเสริญ อัจจุตนัส เลขาธิการสปก.ขยายความกับสื่อมวลชน สรุป ได้ว่าปัจจุบันมีที่ สปก. 4 ล้านไร่ ที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ และจัดสรรได้ โดย 2 ล้านไร่แรก มีแนวโน้มจัดการได้ แต่อีก 2 ล้านไร่ที่เหลือ สปก.ไม่สามารถเข้าไปรังวัดมาตั้งแต่ปี 2536 โดย เลขาสปก.ให้รายละเอียดว่า ผู้ถือครองกลุ่มหลัง มีทั้งชาวบ้าน – นายทุน และนักการเมือง ซึ่งกลุ่มนี้ใครถือครองที่ดินเกิน 500 ไร่ต้องนำหลักฐานมาแสดงว่าได้มาอย่างไรตามคำสั่งของหัวหน้า คสช.

นอกจากปัญหาสปก.แล้วช่วงเวลาคาบเกี่ยวกัน รัฐบาลยงเข้าไปจัดการกับปัญหาที่สังคมโจษจัน 2 เรื่องๆ แรก จัดการกับ "ล้ง" (การจัดตั้งโรงคัดและบรรจุสินค้า) ที่เป็นข่าวมาพักใหญ่ว่า คนจีนรุก เข้ามาตั้งล้งด้วยการตั้งนอมินีคนไทยบังหน้า แถวจันทบุรี และ ตราด (โฆษกรัฐบาลแถลงว่ามี 95 ราย) แล้วใช้ "ล้งนอมินี" ที่ว่า เป็นกลไกกำหนดราคาผลไม้ ส่งผลให้ชาวสาวไทยไม่ได้ประโยชน์จากตลาดส่งออกผลไม้ไปจีนขยายตัวต่อเนื่องเท่าที่ควร

กระทั่งเกิดกระแสวิตกว่าล้งจีนกำลังกินรวบตลาดผลไม้ไทย และกลายเป็นประเด็นให้กระทรวงพาณิชย์ ลงไปดูปัญหา ก่อนได้ข้อสรุปว่า คนจีนหรือชาติอื่นสามารถตั้งล้งได้ (ตามหลักการค้าเสรี ) แต่ไม่สามารถตั้งคนไทยเป็นนอมินี พร้อมเสนอทางออกให้จะสร้างความเข้มแข็งให้ล้งไทย

เรื่องที่ 2 คือการแก้ปัญหา ทุนจีนกินรวบตลาดท่องเที่ยวภูเก็ตหรือนอมินีทัวร์จีน ด้วยการตั้งบริษัทบังหน้าและขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตลอดห่วงโซ่ของการท่องเที่ยวตั้งแต่บริษัท ทัวร์ รถบัส เรือเร็ว ร้านอาหาร โชว์ จนเหลือส่วนเกินจากหยวนทิ้งไว้ให้คนไทยเล็กน้อยเท่านั้น สัปดาห์ก่อนหน้านี้ตำรวจ ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทลายเครือข่าย บริษัท ทรานลี ทราเวลฯ หรือ บริษัท ไทยลี นอมินีฯ ทัวร์จีนรายใหญ่ของภูเก็ต ยึดสปีดโบต 29 ลำ รกบัส 53 ลำ และมีแผนจัดการกับ นอมินีอื่นๆ ต่อไป

การที่รัฐบาลจริงจัง หรือ พูดแบบบ้านๆคือ "ลุย" ปัญหาสะสม และสะสางเรื่องที่สังคมคาใจ เป็นเรื่องน่ายินดี และสมควรได้เสียงปรบมือดัง ๆ แต่ประเด็นที่ควรไตร่ตรองกันต่อ คือ ทำไมปัญหาทวงคืนที่ดินสปก.จึงถูกปล่อยค้างไว้นานถึง 23 ปี เช่นเดียวกับความกังวลว่า ทุนจีนจะเข้ามากินรวบตลาดผลไม้ไทย ธุรกิจทัวร์ไทยในแหล่งท่องเที่ยวดัง ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่า"มี"มาหลายปีแล้ว แต่ หน่วยงานรับผิดชอบเพิ่งเข้าไปดูแล หลังสังคมตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกิจของต่างชาติที่เข้ามาทำการค้าในไทย มีลักษณะตักตวงมากกว่าแบ่งปันให้คนไทย

ถ้าสรุปจากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น เท่ากับว่า กลไกปกติของรัฐ ไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้เลย ? ถ้าสรุปว่าใช่ !!! คำถามที่ตามมาคือ เราควรจะทำอย่างไร ? กลไกบริหารราชการจึงสามารรถขับเคลื่อนโดยธรรมชาติ ไม่ต้องพึ่งอำนาจพิเศษซึ่งรู้ๆ กันดีว่าไม่ยั่งยืน ?

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,174 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559