ความโกลาหลที่ธรรมศาสตร์รังสิต

07 ก.ค. 2559 | 14:00 น.
ถ้าบิลล์ เกตส์ ได้มาเห็นความโกลาหลของเด็กนักเรียนนับพันนับหมื่นคนที่วิ่งไปบนถนนอย่างโกลาหล และอาจจะได้เห็นเด็กบางคนถึงขั้นขอขับรถมอเตอร์ไซด์ของมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าไปสนามสอบด้วยตัวเองเพื่อให้ทันสอบระบบทียูสตาร์ (TU Star) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกหลายสมัยคนนี้ คงจะรู้ว่าสิ่งที่อะเมซิ่งของไทยแลนด์ไม่ใช่สายไฟฟ้าและสายโทรคมนาคมที่ห้อยยั้วเยี้ยมั่วไปหมดเท่านั้นแต่ยังมีระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทยด้วย

มีการประกาศว่าโครงการทียูสตาร์( TU Star ) เป็นความภาคภูมิใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นระบบการทดสอบเพื่อการรับตรงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แบบใหม่ ตามแนวยุทธศาสตร์ สร้างบัณฑิตธรรมศาสตร์ให้เป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 แต่การบริหารจัดการการสอบครั้งแรกในรอบเช้าวันที่ 3 กรกฎาคม 2559 ที่มีเด็กนักเรียนเข้าสอบกว่า 20,000 คนไม่นับรวมผู้ปกครองจากกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ที่ต้องเดินทางเข้ามาแออัดยัดเยียดกันในเส้นทางเข้าสู่ห้องสอบ จนนำไปสู่ความอะเมซิ่งของไทยอีกเรื่องหนึ่ง

ความอลหม่านที่เกิดขึ้น ทั้งในเรื่องการจราจรและการรองรับทางด้านอาหารการกิน สำหรับผู้ปกครองและนักเรียนไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่เคยขึ้นเสมอในการสอบลักษณะนี้ เป็นสิ่งที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศระดับธรรมศาสตร์ น่าจะมีองค์ความรู้และบุคลากรในการประเมินและเตรียมรองรับล่วงหน้าได้ ไม่น่าจะห่วยขนาดนี้ งบประมาณก็มีอยู่เพราะไม่ใช่สอบฟรี เสียเงินทุกคน ในวันที่ 3 วันเดียวน่าจะได้เงินเกิน 10 ล้านบาท

การพัฒนาการสอบตรงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ดูเหมือนว่าให้โอกาสนักเรียนม. 5 และ 6 สอบได้ถึง 8 ครั้ง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มภาระให้แก่เด็กนักเรียนและผู้ปกครอง ที่ต้องตะลุยสอบเพื่อให้ได้คะแนนที่ดีที่สุด ไม่นับรวมความพยายามสอบตรงเข้าสู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ และการสอบในสนามต่างๆ ภายใต้ระบบแอดมิสชันอีกต่างหาก

ดูเหมือนว่าพัฒนาการการรับนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา ยิ่งวันก็ยิ่งเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครองและนักเรียน ที่จะต้องวิ่งวุ่นเรียนพิเศษ วุ่นวายกับการสอบมากมาย ทั้งสอบตรงและสอบแอดมิสชัน ซึ่งผมเชื่อว่าถ้ามีการสำรวจค่าใช้จ่ายในการสอบคัดเลือกเข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษา ตั้งแต่การเรียนพิเศษ การสอบ การเดินทางและเวลาที่สูญเสียไปในการสอบมากมาย รวมทั้งความเครียดของทั้งเด็กและผู้ปกครอง คงเป็นเงินที่ไม่ใช่น้อยทีเดียว

ผมเห็นด้วยว่า การที่มีนักเรียนแห่กันไปสอบตรงมากๆ เป็นความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัย เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงชื่อเสียงและความนิยมในตัวสถาบัน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นภาระที่ทับถมลงมาบนตัวเด็กนักเรียนและผู้ปกครอง ที่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐที่มีชื่อเสียงให้ได้ เพราะนอกจากจะมีราคาถูกกว่ามหาวิทยาลัยเอกชนแล้ว ยังมีเกรดที่ดีกว่า จะออกโปรแกรมอะไรมา ก็ต้องยอมทนลำบาก

ผมได้แต่หวังว่าภาครัฐ และ ผู้บริหารสถานการศึกษาทั้งหลายจะคิดถึงหัวอกของนักเรียนและผู้ปกครองที่ต้องแบกภาระและความเครียดต่างๆ บ้าง อย่าขยันเพิ่มภาระกันนักเลย ทุกวันนี้ค่าครองชีพและปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวก็บีบรัดกันจนจะแย่อยู่แล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,172 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559