ทางบกจากแม่สอด ถึง ย่างกุ้ง

05 ก.ค. 2559 | 10:00 น.
ระหว่างวันที่ 20 - 23 มิถุนายน ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเก็บข้อมูลในประเทศเมียนมาด้วยทุนวิจัยของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาการไปเก็บข้อมูลในเมียนมาครั้งนี้นับว่าเป็นประเทศที่ 3 ของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านต่อจาก เวียดนามและกัมพูชา ในการเดินทางนั้นทางทีมนักวิจัยได้ประสานกับทางหอการค้าแม่สอดช่วยจัดให้สัมภาษณ์นักธุรกิจนักลงทุนในเมืองหลักต่างๆ คณะนักวิจัยได้เดินทางออกจากแม่สอดผ่านด่านชายแดนแม่สอดและเมืองเมียวดี เพื่อสำรวจการค้าการลงทุนใน 2 เมืองใหญ่กล่าวคือเมืองผะอันซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยงและเมืองเมาะลำไย (หรือมะละแม่ง) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐมอญก่อนเข้าย่างกุ้ง

ขณะที่แม่สอดมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีก็มีเขตเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเช่นกัน ตามถนนของเมียวดีฝั่งหนึ่งเป็นการลงทุนของชาวเมียนมา อาทิ อุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราที่ลงทุนโดยคนเมียนมา อีกฝั่งหนึ่งของถนนเป็นพื้นที่ที่จัดให้สำหรับนักลงทุนต่างชาติ ถนนหลักจากเมียวดีไปเมืองผะอันนั้นต้องผ่านเมืองกอกะเร็ต ถนนจากเมียวดีไปกอกะเร็ตเดิมเป็นถนนหนึ่งเลนต้องมีการจัดการเดินรถทางเดียววันคู่ไปทางหนึ่งวันคี่ไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันมีการสร้างทางใหม่ระยะทางประมาณ 40 กิโลเป็นถนนอย่างดี 2 เลนอ้อมเมืองกอกะเร็ต ทำให้การค้าสามารถเดินได้2 ทางมูลค่าการค้าระหว่างชายแดนเพิ่มขึ้นอย่างมาก และลดบทบาทพ่อค้าคนกลางระหว่างหัวเมืองใหญ่ไปได้ เพราะสินค้าสามารถส่งตรงถึงร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า

เมื่อถึงเมืองผะอัน ทีมวิจัยได้เข้าพบรองประธานหอการค้ารัฐกระเหรี่ยงรัฐกะเหรี่ยงมีประชากรไม่มากนัก อีกทั้งแรงงานส่วนใหญ่ได้เดินทางมาทำงานในประเทศไทย ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นในรัฐกะเหรี่ยงจึงเป็นไปค่อนข้างได้ยาก เว้นแต่ว่าต้องดึงแรงงานมาจากภูมิภาคอื่นและต้องให้ค่าจ้างแรงงานที่จูงใจมากพอสมควร ทั้งนี้ในรัฐกะเหรี่ยงก็มีคนไทยไปลงทุนตั้งโรงงานตัดเย็บ แต่ก็จ้างแรงงานจำนวนไม่มากนัก รายได้ส่วนใหญ่ของรัฐกะเหรี่ยงมาจากการปลูกพืชเกษตรมีการส่งออกข้าวโพดและถั่วเขียวไปยังไทยในปัจจุบัน เดิมนั้นมีการส่งออกพริกหอมแดงและยางพารา แค่ 3 รายการหลังนั้นมีปัญหากติกาการนำเข้าของไทยจึงส่งไปขายให้กับจีนและอินเดียแทน นอกจากนี้ยังได้เข้าพบเจ้าของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในเมืองผะอัน ซึ่งเป็นห้างเดียวในรัฐกะเหรี่ยง น่าดีใจที่ว่าสินค้าไทยเป็นสินค้าที่ได้รับการยอมรับ เป็นอย่างมากทั้งทางด้านคุณภาพและความคุ้มค่าของราคา สินค้าไทยที่ขายดีเป็นอาหารมีทั้งของขบเคี้ยวอาหารแช่แข็งเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะหม้อหุงข้าว

เมื่อมาถึงเมืองมะละแม่ง ที่รัฐมอญพบว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีความเจริญมีวัฒนธรรมมายาวนานมีสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่ แม้กระทั่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ในอดีตก็ส่งลูกหลานมาเรียนที่นี่ ในรัฐมอญนั้นมีการเพาะปลูกยางพารา และข้าว จำนวนมากคนท้องถิ่นมีการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา โรงสีข้าว อาหารทะเล มะพร้าว สังกะสี เกืลอ สบู่และเหล้า เป็นต้น อุตสากรรมที่ต่างชาติมาลงทุนอาทิเช่นโรงปูนซีเมนต์โรงไม้ปาเก้ และห้องเย็นเพื่อเก็บอาหารทะเล มะละแม่งมีความเจริญมากในอนาคตอาจจะมีท่าเรือแต่ยังอยู่ในแผนการพัฒนาระยะยาว ปัจจุบันมีเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 2 แห่งด้วยกันแต่ประสบความสำเร็จ เพียงแห่งเดียวเท่านั้นและเริ่มมีการผลิตเพียงแค่ 1 โรงงานที่ผลิตหลังคาเหล็กโดยนำเครื่องจักรมาจากเวียดนามและเหล็กม้วนมาจากประเทศจีนศักยภาพของเขตอุตสาหกรรมดังกล่าวสามารถไปได้ไกลในอนาคตเพราะพื้นที่ถูกขายไปหมดแล้ว

เล่าสั้นๆ จากที่มีโอกาสไปเก็บข้อมูลคือหอการค้าของประเทศเมียนมาที่ย่างกุ้ง ประเด็นที่สำคัญคือเมียนมาเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมากขณะที่นโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐยังต้องรออีกระยะหนึ่งเพื่อให้เกิดความชัดเจนแต่ที่แน่นอนคือเมียนมาไม่ได้สนใจเพียงแค่เม็ดเงินลงทุนแต่สนใจว่านักลงทุนจากต่างจากจะเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาได้อย่างไร โจทย์นี้เป็นการบ้านให้นักลงทุนไทยพี่จะเข้าไปในเมียนมาต้องเตรียมคำตอบเพราะเรากำลังต้องแข่งกับนักลงทุนประเทศอื่นๆ

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559