ผลที่เกิดจาก Brexit อังกฤษ

30 มิ.ย. 2559 | 14:00 น.
ผมเชื่อว่าเมื่ออังกฤษออกจากอียูแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปก็คือ จะทำให้อังกฤษมีปัญหาทางด้านการเจรจากับสหภาพยุโรปหรืออียู เพราะหลังมีประชามติทำให้อียูมองอังกฤษแตกต่างจากเดิม ซึ่งความเคารพซึ่งกันและกันที่เคยมีก็จะเบาบางลง ดังเห็นได้จากเสียงเกรี้ยวกราดตวาดใส่ ไล่อังกฤษรีบไปดำเนินการถอดถอนตัวเองออกตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนโดยเร็ว ในขณะที่อังกฤษบอกว่าจะมาบังคับเราเรื่องเวลาไม่ได้ เพราะประชามติของชาวสหราชอาณาจักรบอกว่า "ออก" ก็ต้อง "ออก" แน่นอน แต่อังกฤษเมื่อออกแล้วจะต้องมีความแข็งแกร่งและมั่นคงด้วย จึงต้องชะลอการใช้มาตรา 50 ดังกล่าวไปก่อน

กระบวนการถอนตัวออกของอังกฤษจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีตามข้อกำหนด และระหว่างนั้นอังกฤษจะต้องเร่งเปิดเจรจาด้านการค้ากับอียูใหม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอียู และหากไม่เจรจาอังกฤษต้องจ่ายภาษีสูงมากในการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายในตลาดอียู และก่อนการลงประชามติในสหราชอาณาจักร คือ ก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2559 อังกฤษคงต้องการข้อสัญญาแบบที่อียูตกลงกับประเทศนอร์เวย์และสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งกำหนดให้ทำการค้าเสรีกันได้ แต่ต้องทั้งนอร์เวย์และสวิสเซอร์แลนด์ ต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่งเพื่อช่วยงบประมาณของอียู และต้องอนุญาตให้พลเมืองอียูเดินทางเข้าประเทศได้อย่างเสรี ซึ่งแนวทางนี้ตามกระแสข่าวบอกว่า อียูจะปฏิเสธข้อเสนอนี้อย่างแน่นอน

การเจรจาการค้าระหว่างอังกฤษกับอียูยิ่งเริ่มต้นได้ช้าก็น่าจะดีกับอังกฤษเอง (แต่ต้องจบภายใน 2 ปี) เพราะ 44% ของการส่งออก อังกฤษส่งไปจำหน่ายในตลาดยุโรป ดังนั้น จึงไม่แปลกที่อังกฤษต้องการชะลอการดำเนินการถอดถอนออกไป เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากการผ่อนปรนว่าด้วยการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียู เพื่อรักษาสภาพการค้าส่งออกเอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะเดียวกันด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอังกฤษเป็นการลงทุนโดยตรงจากยุโรปนั่นเอง

ซึ่งเรื่องการเจรจาระหว่างอังกฤษกับอียู นายจอร์จ เออร์วิน นักเศรษฐศาสตร์ของ Global Counsel บริษัทที่ปรึกษาเรื่องความเสี่ยงทางการเมือง ให้ความเห็นว่า การออกจาก EU และการทำข้อตกลงกันใหม่อาจใช้เวลานานถึง 10 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับ EU เต็มไปด้วยปัญหา

การที่อังกฤษถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียู ส่งผลกระทบต่อความมีเสถียรภาพและความมั่นคงในอียู โดยมองได้ใน 2 มิติ มิติหนึ่งคือ ประชาชนในอียูซึ่งมีงานวิจัยที่บ่งบอกว่าประชาชนศรัทธาในความเป็นหนึ่งเดียวของอียูลดต่ำลง เป็นต้นว่า สถาบันวิจัย Pew Research Center สัมภาษณ์ประชาชนในยุโรปราว 10,000 คน ซึ่งคำตอบที่ได้แสดงให้เห็นว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในยุโรปกำลังไม่แน่ใจต่อประสิทธิภาพของสหภาพยุโรป ขณะที่ในฝรั่งเศส มีกลุ่มตัวอย่างเพียง 38% เท่านั้นที่มีทัศนคติในแง่บวกต่อ EU ลดลงจากระดับ 69% เมื่อปี ค.ศ. 2004 ส่วนที่สเปน การยอมรับในสหภาพยุโรปลดลงจาก 80% เหลือ 47% ในการสำรวจล่าสุด และนักวิเคราะห์เชื่อว่า การลงประชามติของชาวอังกฤษอาจมีผลให้ประเทศอื่นตัดสินใจลงประชามติแบบเดียวกันด้วย

อีกมิติหนึ่งคือ รัฐบาลหรือผู้ปกครองประเทศคิดอย่างไรต่อการลงประชามติแบบอังกฤษ เพราะหากเห็นว่าการลงประชามติจะส่งผลให้ ผลที่ออกมาจะสอดคล้องกับความคิดเห็นของฝ่ายปกครองก็คงจะเดินตามแบบฉบับอังกฤษ แต่หากผลที่จะเกิดขึ้นน่าจะประเมินได้ว่าเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับฝ่ายปกครอง ก็คงไม่ต้องการให้มีการออกเสียงประชามติแน่นอน

ผลจาก Brexit ของอังกฤษครั้งนี้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ ไม่ใช่เพียงแต่ผลกระทบทางลบทางด้านเศรษฐกิจในอียูเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบถึงประชาคมเศรษฐกิจโลกด้วย และที่สำคัญยังกระทบถึงเสถียรภาพและความมั่นคงในอียู เพราะอังกฤษได้สร้างรอยร้าวขึ้นมาแล้ว

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559