Digital Economy สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว(ตอนจบ)

02 ก.ค. 2559 | 00:00 น.
ฉบับนี้เนื้อหาหลักยังคงขยายความปัจจัยความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจยุคดิจิตอล นอกจากปัจจัยอันดับแรกที่ผู้ประกอบการต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคผ่านการสื่อสารของเครือข่าย Social Media ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line, YouTubeฯลฯ และกำหนดยุทธศาสตร์ทางการตลาดทั้งช่องทางการโฆษณา หรือขายสินค้าแล้ว

ปัจจัยสำเร็จต่อมาคือ ผู้ประกอบการต้องนำข้อมูลที่ได้จากพฤติกรรมจาก Social Media มาทำการวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลการดำเนินธุรกิจของตนเอง ขั้นตอนนี้มีความลึกขึ้นมากกว่าเดิม เพราะเกี่ยวพันธ์กับข้อมูลจำนวนมหาศาล เราเรียกข้อมูลธุรกิจนี้ว่า Big Data ซึ่งกระบวนการวิเคราะห์ดังกล่าวต้องอาศัยแหล่งข้อมูลภายใน ได้แก่ ข้อมูลการดำเนินธุรกิจ อาทิ ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลต้นทุนการผลิต ข้อมูลการจ้างแรงงาน ฯลฯ และแหล่งข้อมูลภายนอก ได้แก่ พฤติกรรมผู้บริโภคใน Social Media ข้อมูลสถิติของสถาบันต่างๆ ฯลฯ จากนั้น นำข้อมูล Big Data เหล่านั้น มาทำการวิเคราะห์ร่วมด้วยกับเครื่องมือการวิเคราะห์ทางสถิติ อาทิ การวิเคราะห์ Cluster analysis ซึ่งเป็นเทคนิคที่สามารถแยกแยะประเภทข้อมูล โดยมีประโยชน์ในการแบ่งแยกประเภทกลุ่มลูกค้าที่มีลักษณะใกล้เคียง และการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing : NLP) ที่มีความสามารถทำนายพฤติกรรมลูกค้าผ่านรูปแบบการตอบสนองของตนเองในอดีตร่วมด้วยกับพฤติกรรมของลูกค้าที่มีลักษณะเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราใช้งาน Facebook ระบบ NLP จะเก็บข้อมูลการใช้งานของเราและข้อมูลของเพื่อน เมื่อเราหรือเพื่อนกดไลก์เพจสินค้าใดเป็นประจำ ระบบนี้ก็จะประมวลผลและนำเสนอเพจของสินค้าที่มีลักษณะเดียวกันให้เราเข้าไปใช้งาน เทคนิคทางสถิติที่ยกตัวอย่างมานี้ จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถคาดการณ์ภาวะธุรกิจล่วงหน้า และสร้างแบบจำลองทางธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า ระบบธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence) ที่มีความสามารถในการเข้าใจความต้องการของลูกค้าเป้าหมายของตนเองอย่างถ่องแท้ รวมไปถึงการออกแบบกระบวนการผลิตที่มีต้นทุนต่ำที่สุด และสามารถส่งมอบสินค้าไปยังลูกค้าได้ทันตามเวลา ทำให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการไทยเริ่มมีการนำ Big data มาใช้วิเคราะห์และสร้างระบบธุรกิจอัจฉริยะบ้างแล้ว ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลกรุงเทพมีการนำเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data มาใช้ในการดูแลลูกค้าและบริหารจัดการโรงพยาบาล ทำให้ลูกค้าและผู้ป่วยได้รับบริการที่ตรงตามความต้องการเฉพาะบุคคลมากขึ้น

ทั้งนี้ การนำ Big data มาสร้างแบบจำลองธุรกิจใหม่ ดูเหมือนว่าจะเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่ารายกลางและย่อย เนื่องจากการลงทุนระบบการจัดการ Big data ในปัจจุบันยังมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง และอีกประการหนึ่งคือ ผู้ประกอบการรายใหญ่มีฐานข้อมูลจำนวนมากทั้งจากแหล่งภายในและภายนอก ซึ่งหากไม่มีการนำมาวิเคราะห์และจัดหมวดหมู่อย่างเป็นระบบ อาจทำให้การดำเนินธุรกิจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยจะละเลยการนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ธุรกิจ เนื่องจากหากเวลาผ่านไป ธุรกิจขยายตัวใหญ่ขึ้น Big data analytics ก็จะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ในระหว่างทางผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กควรที่จะทยอยสะสมฐานข้อมูลลูกค้าของตนไว้ โดยอาจพิจารณาลงทุนซื้อโปรแกรมบริหารการขายสำเร็จรูป หรือที่เรียกว่า Consumer Relationship Management (CRM) ซึ่งมีความสามารถในการการจัดเก็บฐานข้อมูลลูกค้าพร้อมทั้งสามารถจัดหมวดหมู่พฤติกรรมของลูกค้า ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบฝึกการบริหารจัดการการขายผ่านข้อมูลจากแหล่งภายในไปก่อน และเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น มีฐานข้อมูลใหญ่ขึ้น การพัฒนาต่อยอดไปสู่การวิเคราะห์ Big data analytics ของธุรกิจเพื่อสร้างระบบจัดการธุรกิจอัจฉริยะก็จะเป็นไปโดยง่าย

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจดิจิตอล เกิดจากการพัฒนาของระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเร็วในการดำเนินธุรกิจ ผ่านความต้องการของลูกค้ายุคใหม่ที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่าน Social Media สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวคือ จะต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคที่อยู่ใน Social Media และมีความสามารถในการแปลพฤติกรรมออกมาเพื่อออกแบบกลยุทธ์การเข้าถึงลูกค้าได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรพิจารณานำข้อมูลทางธุรกิจที่มีอยู่จำนวนมหาศาล (Big data) มาทำการวิเคราะห์เพื่อสร้างระบบธุรกิจอัจฉริยะของตนเองให้เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพภายใต้ระบบเศรษฐกิจดิจิตอล...

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ TMB Bank แต่อย่างใด

Photo : pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559