รัฐกับปัญหาเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

29 มิ.ย. 2559 | 00:00 น.
เดิมตั้งใจจะเขียนเรื่อง Brexit แต่ช่วงเวลาก้ำกึ่งกันทำให้มีปัญหาด้านเทคนิคในการปิดต้นฉบับ ก็เลยหันมาดูเรื่องอื่นดีกว่า และเห็นว่าเรื่องเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยน่าสนใจเป็นที่สุดในเวลานี้ เพราะเราเกินดุลมาโขเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อเกือบ 20 ปีมาแล้วเรามีแต่ข่าวไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดปีแล้วปีเล่า จนกระทั่งกลุ่มเฮดฟันด์เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท ได้เข้ามาโจมตีและท้ายที่สุดก็นำประเทศไทยสู่วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งหลังจากนั้น 8 ปีเต็มที่เราตกอยู่ในสภาพเศรษฐกิจไทย "ซบเซา" และฟื้นตัวที่ละน้อยหลังจากนั้นเป็นต้นมา

ณ ขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว แต่เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดหลายปีติดต่อกัน แม้ขณะที่การค้าโลกกำลังซบเซา เราเองก็ซบเซา หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันทยอยกันขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และประสบปัญหาอย่างเดียวกันกับที่เราเคยประสบมาก่อน แต่เราไม่ได้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในห้วงเวลานี้ เป็นผลจากการนำเข้าของไทยมีปริมาณลดต่ำลงมาก ขณะที่การส่งออกสินค้าของไทยแม้จะลดต่ำลงไปมากเช่นกัน แต่ก็ยังมีมากกว่าปริมาณการนำเข้านั่นเอง จึงส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า และส่งผลต่อเนื่องถึงดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ซึ่งภาพที่ปรากฏออกมาแสดงว่า สภาพการผลิตส่งออกของเรามีปัญหา จึงทำให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบ วัตถุดิบ หรืออื่นๆ ลดต่ำลงไปมาก อย่างน้อยก็ลดต่ำลงไปเพื่อให้สอดคล้องกับภาวการณ์ส่งออกตลาดโลกที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

ในอีกด้านหนึ่งจะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทย อยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา คืออยู่ในระดับร้อยละ 1.5 นั่นก็หมายความว่าปริมาณเงินออมในประเทศมีค่อนข้างสูง และไม่สอดคล้องกับความต้องการของสินเชื่อ (ก็เห็นว่าการส่งออกภาพรวมดูแย่อยู่แล้ว แล้วจะไปขยายการลงทุนทำไม จะไปกู้เงินแบงก์มาลงทุนอีกทำไม) กลายเป็นทั้งระบบการเงินของไทยมี่สภาพคล่องสูงมาก

ผมว่าเราโชคดี ไม่ใช่สิ ไม่ใช่โชคดี แต่เป็นเพราะเรามีคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ทราบเรื่องดีว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยหลายปีติดต่อกันจะทำให้เรามีปัญหาด้าน "เงินออมเกินการลงทุน" เรื่องราวจึงปรากฏออกมาว่า รัฐบาลได้เดินหน้าจัดการลงทุนเสียเอง เมื่อเอกชนไม่สามารถสร้างการลงทุนเพิ่มได้ โดยมีทั้งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการระบบทางรถไฟทางคู่ สร้างระบบถนนทางหลวงพิเศษสายใหม่หลายเส้นทาง ขยายสนามบินเพิ่มเติมทั้งท่าอากาศยานดอนเมือง ทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ ขยายสนามบินอู่ตะเภา รวมไปจนถึงแผนการลงทุนระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง (แบบกลางๆ) จากกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา สร้างระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากกรุงเทพมหานคร-หัวหิน

สร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครเพิ่มกว่า 10 สาย ซึ่งไม่เคยมีใครคิดจะทำมาก่อน มีแต่พูดว่าจะทำแต่ไม่ได้ขยับอะไรเลย แค่พูดเพื่อหาเสียงตามสไตล์ของนักการเมืองเท่านั้น มีแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ตัดสินใจดำเนินการไปเลย รวมเงินลงทุนแล้วมีมูลค่ารวมกันกว่าหลายล้านล้านบาท ที่สำคัญเงินลงทุนเหล่านี้ก็เอามาจาก "เงินออม" ภายในประเทศนั่นหละครับ เป็นการจัดสรรเพื่อให้ได้ดุลกันระหว่าง "เงินออมกับเงินลงทุน" เพราะถ้าไม่เช่นนั้นอนาคตอันใกล้เราก็จะเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 1 เป็นแน่แท้ เพราะมีแต่การออมแต่ขาดการลงทุนนั่นเอง

ผมเชื่อมั่นว่าแม้เศรษฐกิจโลกจะซบเซาต่อเนื่องไปข้างหน้าอีกหนึ่งปี หรือจะกระเตื้องขึ้นมาบ้างแต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่นั่นจะแตกต่างกับเศรษฐกิจของประเทศไทยครับ เพราะเรามีการบริหารจัดการกับอนาคตเอาไว้แล้วอย่างที่กล่าวอ้าง และรัฐบาลได้ลงมือทำแล้วในวันนี้เพื่ออนาคต ซึ่งสิ้นปีนี้จะเห็นผลด้านบวกของเศรษฐกิจไทยมีมากขึ้น และจะเห็นได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นในปีหน้า และปีต่อๆ ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,169 วันที่ 26 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559