ไม่สายที่จะแก้ใหม่ภาษีที่ดินฯ

21 มิ.ย. 2559 | 00:00 น.
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...ไปเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะต้องส่งร่างกฎมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทานถ้อยคำก่อนส่งร่างกฎหมายให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ซึ่งรัฐบาลเป็นฝ่ายเสนอกฎหมายฉบับนี้เอง และสนช.ชุดนี้ก็เป็นผลพวงจากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบกฎหมายดังกล่าวจึงคาดว่า พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ได้ในปี 2560 หรือปีหน้า

เรื่องนี้ผมเห็นว่าแม้ สนช.จะมีที่มาจากเหตุการณ์ยึดอำนาจก็จริง แต่ในความเป็นจริงแล้วสมาชิกสนช.ซึ่งเป็นผู้กุมชะตากรรมของประชาชน คงไม่ใช่ "ตรายาง" ที่จะปั๊มให้กฎหมายออกมาง่ายๆ อย่างที่คิด หากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเสนอความเห็นแย้งด้วยความบริสุทธิ์ใจ นำความคิดเห็นที่เห็นแย้งหรือเห็นต่างมาถกเถียงกัน ก็อาจมีผลให้ สนช.มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือแก้ไขข้อความใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่จะออกมานี้ได้โดยไม่แก้ไขในหลักการ
จริงอยู่แม้ว่าโดยการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามร่างกฎหมายที่เสนอนั้นไม่ใช่การเก็บภาษีใหม่ แต่เป็นการปรับปรุงการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากขึ้น รวมทั้งมีรายได้เพียงพอที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการในเขตพื้นที่ของตน ก่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษี ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ผลักดันให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินได้อีกทางหนึ่ง แต่หากข้อเท็จจริงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังกฎหมายใหม่ออกมาบังคับใช้แล้ว กลับส่งผลเสียแก่ประชาชนมากกว่าที่ควรจะเป็น ก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าพึงปรารถนาเช่นกัน

ตัวอย่างความเห็นของคุณธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ และที่ปรึกษาสมาคมอาคารชุดไทยบอกว่า ร่างกฎหมายใหม่มุ่งเก็บภาษีที่ดินว่างเปล่าและพาณิชยกรรมเป็นหลัก โดยกำหนดเพดานอัตราภาษีสูงสุดที่ 0.5 และ 2 % ตามลำดับ ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่รัฐควรคำนึงถึงผู้มีรายได้น้อยด้วยที่ต้องเช่าบ้านหรืออพาร์ตเมนต์อาศัย เพราะเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้เจ้าของก็ต้องปรับค่าเช่าขึ้นไปด้วย เพราะการคำนวณอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะคิดคำนวณจากราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เป็นต้นว่าโดยทั่วไปแล้วราคาประเมินที่ดินที่เหมาะจะมาพัฒนาเป็นอพาร์ตเมนต์ต่ำสุดจะอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท/ตารางวา เพื่อปล่อยให้เช่าเดือนละ 3,000 บาท หากผู้ประกอบการซื้อที่ดินขนาด 1 ไร่เพื่อสร้าง คิดเป็นมูลค่าที่ดินประมาณ 20 ล้านบาท หรือ ไร่ละ 20 ล้านบาท ที่ดิน 1 ไร่สามารถสร้างอพาร์ตเมนต์ได้ 100 ห้อง และเฉลี่ยค่าก่อสร้างตกประมาณห้องละ 1 ล้านบาท ก็เท่ากับ 100 ล้านบาท อพาร์ตเมนต์มีอัตราการเข้าพักอยู่ที่ 60 % กรณีนี้หากเสียภาษีในรูปแบบปัจจุบันหรือรูปแบบภาษีโรงเรือนจะเสียภาษี 12.5 % ต่อปี ผู้ประกอบการจะเสียภาษีประมาณ 27,000 บาท/ปี แต่ตามกฎหมายใหม่ให้นำเรื่องราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้คำนวณอัตราภาษี และหากคิดคำนวณที่อัตราเพดานภาษีสูงสุด 2 % ก็เท่ากับผู้ประกอบการต้องชำระภาษีสูงถึง 2 ล้านบาท (ถ้าซื้อที่ดินได้ถูกกว่าไร่ละ 20 ล้าน ก็จะเสียภาษีต่ำลงไปด้วย)

อีกประเด็นหนึ่งคุณสุวัฒน์ ตั้งไชยวงศ์ ผู้ประกอบธุรกิจบ้านเช่าและอพาร์ตเมนต์ให้ความเห็นว่า ค่าก่อสร้างไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนราคาก็ไม่ต่างกันมาก คือ ระหว่าง 1.2-1.5 หมื่นบาท/ตารางเมตร แต่ทำเลที่ตั้งทำให้รายได้จากการเช่าแตกต่างกัน แต่กฎหมายใหม่ที่จะออกมา จะทำให้เจ้าของต้องจ่ายภาษีในอัตราที่เท่ากันสำหรับส่วนของราคาค่าก่อสร้างไม่ว่าคุณจะอยู่ทำเลไหนก็ตามผมว่าแม้ร่าง พ.ร.บ.จะผ่าน ครม.ไปแล้วก็ตาม ก็ยังสามารถ ปรับปรุงแก้ไขหรือตัดทอนกันได้ในระหว่างการพิจารณาของ สนช. ต่อให้ออกมาเป็น พ.ร.บ.แล้ว ก็ยังยกเลิกได้ด้วย พ.ร.บ.ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,167 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559