PPP รถไฟกับเอกชน : สถานีบางซื่อโซนD และกม.11

18 มิ.ย. 2559 | 02:00 น.
ขณะนี้รัฐบาลคสช.กำลังเร่งรัดโครงการลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะท่านอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพราะที่ผ่านมาการลงทุนภาครัฐโดยการสร้างสาธารณูปโภคหลักด้านโลจิสติกส์ดูว่าจะให้ผลกระตุ้นเศรษฐกิจมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะต้องล่าช้าไปบ้างแต่ก็เห็นเป็นโครงการชัดเจน เรียกความ "เชื่อมั่นภาคเอกชน และต่างชาติ" ได้เป็นอย่างดี

โครงการที่กระทรวงคมนาคม "เร่งรัดเป็นพิเศษ" คือโครงการ Masstransit ทั้ง 10+3สาย ปีนี้ก็ได้รถไฟฟ้าสายสีม่วง(เตาปูน-บางใหญ่) ที่ตามติดมาด้วยทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร เปิดพื้นที่พัฒนาด้านฝั่งธนบุรีตอนบน และกำลังจะตามมาด้วยสายสีเขียว(ส่วนต่อขยาย)โดยให้กรุงเทพมหานครมาร่วมรับผิดชอบลงทุนร่วม ก็เป็น PPP อีกประเภทที่เป็น "หน่วยงานของรัฐกับหน่วยงานของรัฐ" จับมือกันลงทุน

กลยุทธ์การเร่งรัดการขนส่งทางบกที่สำคัญก็มี 2 ประเภทใหญ่ๆคือ "ระบบรถ-ใช้ถนนเป็นส่วนเชื่อมต่อ" และ "ระบบราง(Rail)-ที่ขนทั้งคนและสินค้า" ผู้รับผิดชอบโดยตรงก็คือการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ปัจจุบันนี้ "ตื่นแล้ว" และอยู่ในยุค "รถไฟก้าวหน้า" กำลังเป็นพระเอกในการกระตุ้นเศรษฐกิจในยุคปีที่ 3 ของคสช.

โครงการที่เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ก็คือ "สถานีกลางบางซื่อ" หรือเรียกกันว่า "ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน" เปิดตัวมาแล้วและกำลังกำหนดเป็นโครงการที่จะร่วม PPP กับภาคเอกชนเป็น "ด่วนพิเศษ" ที่ทั้งท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรองนายกรัฐมนตรี(นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ) ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม(นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม(นายออมสิน ชีวะพฤกษ์) ซึ่งอดีตยังเคยนั่งตำแหน่งประธานบอร์ดรฟท.ได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่ควบคุมและกำหนด TOR เปิดโอกาสให้เอกชนมาลงทุนด่วนมาก

โครงการด่วนพิเศษ ของรฟท. กระทรวงคมนาคม และรฟท.ก็คือ 3 ด่วนพิเศษ ทางรฟท.ได้ออกมาแถลงเบื้องต้นแล้วว่าเท่าที่ได้ทำงานสืบหาข้อมูลด้านตลาดหรือมาร์เก็ตซาวดิ้ง(Market Sounding) ปรากฏว่าเอกชนตื่นเต้นเป็นพิเศษกับ 3 โครงการคือ 1.Zone A ติดกับสถานีบางซื่อ กำลังจะเปิดใหม่ 30-40 ไร่ จะเห็น Commercial Hub ให้กับสถานีบางซื่อซึ่งมิได้มีพื้นที่เพื่อการค้าพอเพียงในอนาคต แต่ต้องสร้างคร่อมเป็น Platform ของพวงรางรถไฟเดิมบนดิน

2.Zone D ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)มาชี้แนวได้มีการสร้าง "กระดูกสันหลังการเชื่อมต่อ" ระหว่าง BTS จตุจักรผ่านสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ผ่านตลาดนัดจตุจักรอันยิ่งใหญ่ระดับโลก เข้าสถานีรถไฟกลางบางซื่อ และอาจจะต่อไปถึงสถานีเตาปูนที่กำลังถูกล้อว่าเป็น "ฟันหลอ" ในขณะนี้

และ 3. เปิดโครงการอภิมหาโครงการ คือ กม.11 ซึ่งเป็นที่อยู่ของพนักงานรฟท. 400 ไร่ จะเป็นเมืองใหม่ด้านเหนือของกรุงเทพมหานคร พื้นที่นี้จะสร้างที่อยู่อาศัยและครอบครัวได้เกือบ 8 แสน- 1 ล้านตารางเมตร จะมีคนมาอยู่อาศัยอย่างน้อยก็อีก 5-6 แสนคน จะเป็น "ตลาดอสังหาริมทรัพย์แห่งอนาคต" เอกชนรายใหญ่ๆในตลาดหุ้นจับตาเป็นมัน แต่รฟท.คงจะไม่กล้าเปิดให้เจ้าเดียว หรือ 2 เจ้าเข้ามาเป็นผู้ชนะ คงต้องแบ่งออกไปเป็นส่วนๆ และเป็นเฟส และให้ต่างชาติลงมาเล่นด้วย

หันมาดูด้านเอกชน เมื่อก่อนไม่ค่อยแน่ใจ รฟท.จะกล้าหาญเปิดโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ เดิมแบ่งเป็น "พื้นที่เล็ก ๆให้เอกชนเช่า" 30 ปี แต่คราวนี้มั่นใจมากขึ้น พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "เร่งรัดเป็นพิเศษ" แต่เอกชนก็ยังไม่ค่อยมั่นใจในรายละเอียด เช่น 1.จะให้เช่า 30 ปีแค่นั้นหรือ ทำสัญญาเดียว เป็น 60 ปี หรือ 90 ปี จะได้ไหม ไม่ต้องมาต่อสัญญาเช่นในอดีต 2.ราคาที่รัฐประเมินเป็นเท่าไหร่กันแน่ จะเอาราคาประเมินหรือราคาตลาด 3.พรบ.ร่วมทุน 1,000 ล้านบาทจะเอาอย่างไร ท่านนายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 ทุบโต๊ะขยายเป็นหมื่นล้านจะได้ไหม 4.การรื้อย้ายและจัดเตรียมพื้นที่รฟท.ต้องลงทุนและนำราคามาบวกในราคาที่ดิน 5.อีไอเอ/IEE ให้รฟท.ทำโดยเอกชนสนับสนุนและทำก่อนประมูล 6.สำคัญมากระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันคือเอามาสเตอร์แพลนรถไฟบางซื่อไปออก "ผังเมืองรวม" กทม.ให้อนุมัติอยู่ในการปรับปรุงผังเมืองรวมครั้งที่ 4 ในปีนี้ และ 7. ต้องพยายามให้เอาสัญญาเช่ารฟท.ไปเป็นการค้ำประกันการกู้หรือออกบอนด์(Bond) หรือเอาไปทำกองทุนอสังหาที่เรียกว่า REIT ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,166 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559