เรียนรู้แรงงานฝรั่งเศสประท้วง

13 มิ.ย. 2559 | 00:00 น.
กฎหมายแรงงานฝรั่งเศสกำหนดให้ลูกจ้าง พนักงาน หรือหัวหน้างานทั่วไปทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน แต่ละวันให้ทำงานเพียง 7 ชั่วโมง นั่นเท่ากับสัปดาห์หนึ่งทำงานจริง 35 ชั่วโมง แต่การจ่ายเงินให้คำนวณเวลาทำงานสัปดาห์ละ 39 ชั่วโมง เพราะราว 20 ปีที่แล้วเคยกำหนดให้ทำงานสัปดาห์ละ 39 ชั่วโมง และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงให้ทำงานเพียงวันละ 7 ชั่วโมงก็จริง แต่ก็ยังคงให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสัปดาห์ละ 39 ชั่วโมงเท่าเดิม ซึ่งเหตุนี้เป็นเหตุหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยถอนการลงทุนออกจากฝรั่งเศส ความจริงข้อหนึ่งแม้จะให้ทำงานวันละ 7 ชั่วโมงก็จริง แต่ปฏิบัติงานจริงๆ แล้วมีเวลาพักระหว่างการทำงาน เรียกว่าทุก 2 ชั่วโมงได้พัก 1 ครั้ง

รู้สึกข้อนี้จะต่างกับโรงงานบางแห่งในสหรัฐอเมริกาที่ใช้แรงงานเยี่ยงทาส จนพนักงานต้องสวมใส่ผ้าซับเหมือนเด็ก เนื่องจากไม่มีเวลาไปเข้าห้องน้ำ (ข่าวจากเสียงอเมริกา รายงานเมื่อ 13 พ.ค. 2559 ว่า องค์กร Oxfam America (สมาพันธุ์ระหว่างประเทศ 17 องค์กรและมีเครือข่ายทั่วโลก 94 ประเทศ) เปิดเผยว่า คนงานในโรงงานของบริษัทผู้ผลิตเนื้อไก่รายใหญ่ที่สุดของอเมริกาหลายบริษัท เช่น Tyson Foods, Purdue Farms และ Sanderson Farms ถูกกดดันให้ทำงานอย่างหนักจนไม่มีช่วงเวลาพักไปห้องน้ำ จนหลายคนต้องใส่ผ้าอ้อมไว้ขณะทำงาน ขณะที่บริษัทต่างๆ ที่มีชื่ออยู่ในรายงานชิ้นนี้ ต่างปฏิเสธว่ารายงานของ Oxfam นั้นไม่เป็นความจริง)

บริษัทในฝรั่งเศสจะจ่ายค่าอาหารกลางวันให้อีก โดยทั่วไปให้หัวละ 12-15 ยูโร ขณะรายจ่ายของลูกจ้างมีรายจ่ายยุบยับไปหมดทั้งภาษีเงินได้ ค่าประกันสุขภาพ ค่าเงินกองทุนอื่นๆ อีกหลายรายการ ตามแบบฉบับของรัฐสวัสดิการ ดูเหมือนว่ารายจ่ายจะเยอะไปหมด แต่รัฐก็ตอบแทนอย่างคุ้มค่าเพราะตกงานก็ยังได้รายได้จากรัฐแม้จะน้อยกว่าที่เคยได้ แต่ก็พอประคองชีวิตไปได้ ถ้าบาดเจ็บหรือป่วยไข้ก็ได้รับการดูแลอย่างดี

เมื่อเกิดข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ก็มีคณะทำงานชุดหนึ่งคล้ายอนุญาโตตุลาการ คอยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้ กฎหมายแรงงานปัจจุบันนายจ้างมีสิทธิจะปลดพนักงานออกได้หากปรากฏว่าปฏิบัติผิดเงื่อนไขของบริษัท โดยต้องทำหนังสือแจ้งเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรและส่งหนังสือถึงบ้าน แต่ต้องเตือนว่าลูกจ้างปฏิบัติผิดเงื่อนไขอย่างไรถึง 3 ครั้ง จึงมีสิทธิเลิกจ้างได้ และนายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยใดๆ

ปกติแล้วเมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้าง ก็ต้องวิ่งหา(คล้าย)คณะอนุญาโตตุลาการ เพื่อขอความช่วยเหลือ และหากถ้าลูกจ้างไม่พอใจ ก็สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเรียกค่าชดเชยจากบริษัทได้ ใช้เวลาในการฟ้องร้องไม่เกิน 2 ปี หากลูกจ้างถูกปลดออกโดยไม่มีความผิด นายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ระหว่างที่เป็นความกันในชั้นศาล และรัฐจะต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างรายนั้นไปจนเกษียณ โดยหลังเกษียณจะมีรายได้ลดลงจากเดิมเล็กน้อยเท่านั้น

รัฐบาลฝรั่งเศสปัจจุบันได้เสนอร่างกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ เป็นการแก้ไขให้นายจ้างสามารถบอกเลิกจ้างได้ง่ายขึ้น โดยล้มเลิกกฎหมายแรงงานฉบับเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี ชาร์ล เดอ โกล ทำให้แรงงานในฝรั่งเศสไม่พอใจเป็นอย่างมาก เป้าหมายนั้นสหภาพแรงงานในฝรั่งเศส อาทิ สหภาพแรงงานรถไฟทำการผละงานประท้วงอย่างไม่มีกำหนดทั่วประเทศ เพื่อกดดันรัฐบาลฝรั่งเศสให้ถอนร่างกฎหมายปฏิรูปแรงงานฉบับใหม่ออกจากการพิจารณาของวุฒิสภา หลังจากสหภาพโรงกลั่นน้ำมันและสหภาพการไฟฟ้า ได้ลดกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงงานหลายแห่งส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนพลังงานอย่างหนัก
อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่ากฎหมายปฏิรูปแรงงานฉบับนี้จะผ่านการโหวตของวุฒิสภา แม้จะมีเสียงคัดค้านก็ตาม เพราะเสียงในวุฒิสภาของรัฐบาลยังแน่นหนา พร้อมกับอาศัยจังหวะ/โอกาสในช่วงพักฤดูร้อนของฝรั่งเศส คือ เดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ทำให้ประชาชนมักจะออกเดินทางท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ มากกว่าที่จะมาสนใจความเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือของสหภาพแรงงาน ซึ่งมักจะเป็นเช่นนี้เสมอในการตัดสินใจที่สำคัญของสภาผู้แทนหรือวุฒิสภา ครับ

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,164 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559