5 เหตุผล ทำไม‘อิสราเอล’ ขึ้นแท่นพ่อค้าเพชรรายใหญ่ของโลก

12 มิ.ย. 2559 | 04:00 น.
"อิสราเอล" ขึ้นชื่อว่ามีวิทยาการล้ำ ๆ ทั้งด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ การเกษตร พลังงานทดแทน การแพทย์ วิทยาการล้ำหน้าที่ว่ายังแทรกซึมอยู่ในอุตสาหกรรมเพชรและอัญมณี ทำให้อิสราเอลขึ้นแท่นเป็นศูนย์กลางการค้าเพชรและอัญมณีของโลก แม้ว่าจะไม่มีวัตถุดิบในประเทศเลย แต่อิสราเอลส่งเพชรเป็นสินค้าออกลำดับต้น การค้าเพชรของโลกกว่าร้อยละ 80 อยู่ในมือของผู้ค้าอิสราเอล และสร้างมูลค่าการค้าให้กับอิสราเอลปีละกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ว่ากันว่า เพชร 1 ใน 2 เม็ด ที่ไปที่ตลาดนิวยอร์กต้องผ่านอิสราเอล

อะไรทำให้อิสราเอลครองพื้นที่อุตสาหกรรมค้าเพชรและอัญมณีในเวทีโลก ต่อไปนี้คือ 5 จุดเด่นที่ขับดันอุตสาหกรรมอัญมณีอิสราเอลสู่เวทีโลก

1. เทคโนโลยีการตัดและเจียระไนเพชรที่ล้ำสมัย ตั้งแต่ปี 2531 อิสราเอลได้คิดค้นการใช้เครื่องมือและซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า Sarin Technology เพื่อประเมินว่าจะตัดเพชรดิบอย่างไรให้ปราศจากตำหนิหรือมีตำหนิน้อยที่สุด สามารถคัดเกรดและสีของเพชร วัดและเจียระไนเพชร ตลอดจนพิมพ์ชื่อหรือข้อความเป็นเพชร เทคโนโลยีนี้ใช้กันแพร่หลายในหมู่ผู้ค้าเพชรอิสราเอลและในต่างประเทศ ทำให้เพชรแต่ละเม็ดมีความงดงามและตอบสนองความต้องการลูกค้าได้เป็นอย่างดี

2. ความชำนาญในการเจียระไนเพชร อิสราเอลมีชื่อเสียงด้านการเจียระไนเพชรมานาน มีโรงงานเพชรและอัญมณีในอิสราเอลถึง 150-200 แห่ง และแม้ว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าอย่างอินเดียและจีน แต่อิสราเอลยังคงการเป็นฐานผลิตงานที่ซับซ้อนและต้องใช้เทคโนโลยีสูง ฝีมือในการตัด ขัด เจียระไน ผสมกับนวัตกรรมของเทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้อิสราเอลสามารถเจียระไนเพชรได้หลากหลายขนาดและรูปทรง ตั้งแต่เม็ดเล็กจนถึงเม็ดใหญ่ และไม่ว่าจะเป็นเพชรเม็ดกลม ทรงหยดน้ำ ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส (Princess Cut) หรือสี่เหลี่ยมมรกต (Emerald Cut) ตรงใจตามความต้องการของลูกค้า

3. ตลาดกลางค้าเพชร IDE ที่เมือง Ramat Gan อิสราเอลได้จัดตั้ง Israel Diamond Exchange หรือ IDE ที่เมือง Ramat Gan เขตเทลอาวีฟ เป็นศูนย์กลางการค้า การประมูล และการแลกเปลี่ยนเพชรที่สำคัญของโลก

นอกจากนี้ ยังมีตลาดกลางของพลอย (Israel Precious Stones & Diamond Exchange หรือ IPDSE) ตั้งอยู่ที่เดียวกับตลาดกลางค้าเพชรด้วย สำหรับงานแสดงอุตสาหกรรมอัญมณีของอิสราเอล จะมีงาน Jovella ซึ่งจะจัดปีละ 1 ครั้ง ช่วงกลางปี ให้สาธารณชนทั้งในและต่างประเทศได้มีโอกาสชมผลงานการออกแบบเครื่องประดับและแนวโน้มเครื่องประดับทั้งเพชร พลอย เครื่องประดับเงินและเครื่องประดับแฟชั่น โดยในปี 2559 นี้ งาน Jovella จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 กรกฎาคม 2559 ที่โรงแรม David Intercontinental กรุงเทลอาวีฟ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.stier-group.com/JOVELLA/index_en.asp

4. การยกเว้นภาษีส่งออกและภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจากอิสราเอลได้รับยกเว้นภาษีส่งออกและภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยจะต้องให้ข้อมูลรายละเอียดสินค้า จำนวน และวัตถุดิบที่ใช้ และต้องระบุปริมาณและจำนวนกะรัตเพื่อการตรวจสอบและการเก็บสถิติที่ถูกต้อง ผู้ส่งออกยังสามารถส่งออกโดยใช้บริการการส่งสินค้าและบรรจุภัณฑ์ของกรมศุลกากรหรือไปรษณีย์อิสราเอลที่มีไว้พร้อมให้บริการที่ IDE เป็นอีกหนึ่งมาตรการดี ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการอิสราเอลแข่งขันได้ในเวทีโลก

5. การสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมเพชรและอัญมณีอย่างครบวงจรโดยภาครัฐและองค์กรท้องถิ่น อิสราเอลยังได้จัดตั้ง Israel Diamond Institute (IDI) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรขึ้น เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเพชรของอิสราเอลอย่างครอบคลุมทั้งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการส่งเสริมการตลาด การฝึกอบรมวิชาชีพ มีรัฐบาลถือหุ้นร้อยละ 25 ขณะที่คณะกรรมการบริหาร IDI ประกอบด้วยผู้แทนจากสมาคมผู้เจียระไนเพชรแห่งอิสราเอล IDE สหภาพแรงงาน และธนาคารที่เกี่ยวข้อง IDI มีสาขาที่นิวยอร์กและฮ่องกง

อุตสาหกรรมเพชรและอัญมณีในอิสราเอลประสบความสำเร็จด้วยศักยภาพของผู้ประกอบการบวกกับการส่งเสริมจากภาครัฐและหน่วยงานท้องถิ่น ยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมากเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอัญมณีของอิสราเอล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้รวบรวมไว้ให้ได้ศึกษาเพื่อการเสาะหาช่องโอกาสความร่วมมือในฐานะที่ไทยก็เป็นแหล่งอุตสาหกรรมอัญมณีที่แข็งแกร่งในภูมิภาคเอเชียเช่นกันที่ http://www.thaibizisrael.com/il/news/detail.php?id=20616 พบกับไฮไลต์ความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiBiz.net หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,164 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559