โฟกัสและพัฒนาจุดแข็งผู้นำ

04 พ.ค. 2559 | 23:00 น.
การลงทุนพัฒนาผู้บริหาร เป้าหมายคือการสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า พนักงาน และสร้างองค์กรให้เติบโต การมีผู้นำที่ดี จะสร้างแรงกระเพื่อมของการทำงานที่ดีในองค์กรให้เกิดขึ้นได้ ที่ผ่านมาจะเห็นว่า หลายๆ ทฤษฎี บอกให้ดึงจุดอ่อน ลบข้อด้อยของผู้นำ แต่ในยุคปัจจุบันการปิดจุดอ่อนถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาผู้นำ การโฟกัสที่จุดแข็งของผู้นำ (Strength-based Coaching)คือ สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งเสริมความแข็งแกร่งให้มากขึ้น เพราะหากสามารถโฟกัสได้ชัดเจน แล้วพัฒนาทักษะนั้นให้แข็งแกร่ง จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้องค์กรอย่างมาก

วิธีที่จะพัฒนาผู้นำในระดับยอดเยี่ยมได้นั้น "ดร.โจเซฟ โฟล์คแมน" ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพผู้นำโลก และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เซงเกอร์ โฟล์คแมน จำกัด ได้นำเสนอผ่านงานวิจัยผู้นำ 7.5หมื่น คนผ่านแบบทดสอบ 360 องศา จำนวน 1 ล้านแบบสอบถาม พบว่า มี 6 พฤติกรรมสำคัญที่เป็นจุดคานงัด (6 Leadership Levers) หากพัฒนา 3 พฤติกรรมจากทั้งหมด ก็จะสามารถทำให้ประสิทธิภาพของผู้นำสูงขึ้นในระดับ 10% ผู้นำโลกที่มีระดับประสิทธิภาพสูงสุด

6 จุดคานงัดผู้นำ ได้แก่

1. นวัตกรรม (Innovation) ผู้นำที่ดีควรสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมในการทำงานที่เอื้อให้ผู้คนเกิดการทำงานในรูปแบบใหม่ๆและปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2. ความสัมพันธ์ (Relationships) ผู้นำที่ดีควรทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี สามารถสร้างสัมพันธภาพที่น่าเชื่อและร่วมมือกันให้เกิดผลงานที่ดี

3. ความมีไหวพริบ (Acumen) ผู้นำที่ดีควรมีความรู้ ทักษะ และความเข้าใจวิถีในการสร้างกำไรในธุรกิจที่ทำ จึงจะทำให้ผู้นำมีประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยม

4. แรงบันดาลใจ (Inspiration) ผู้นำที่ดีไม่ใช่แค่ผลักดันผู้ร่วมงานให้เกิดผลงาน แต่ต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจและความผูกพันให้ผู้ร่วมงานเผยศักยภาพสูงสุดในการทำงาน

5. วิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Vision) ผู้นำที่ดีต้องสามารถสื่อสารให้ผู้ร่วมงานมีวิสัยทัศน์ชัดเจนร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้อื่นสามารถทำตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ได้สำเร็จ

6. การดำเนินการ (Execution) ผู้นำที่ดีต้องรับผิดชอบข้อตกลงที่ทำไว้และสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้องค์กรอย่างต่อเนื่อง
การจะเลือกจุดคานงัดที่จะมาพัฒนานั้น ต้องตอบสนองความต้องการ 3 ด้าน จึงจะประสบความสำเร็จ ได้แก่ 1.ช่วยเพิ่มสมรรถภาพของผู้นำ 2. เป็นสิ่งที่องค์กรมุ่งหวัง และ 3. เป็นสิ่งที่ผู้นำสนใจมีความกระตือรือล้นที่จะพัฒนา

เมื่อเลือกได้แล้วว่าจะพัฒนาจุดคานงัดใด ต้องมีการวางแผน Cross-Training และดำเนินการตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้เกิดผลขึ้นจริง ซึ่งถือเป็นความท้าทายของโค้ชในยุคปัจจุบันที่จะต้องทำให้ผู้นำเกิดความรับผิดชอบในการที่จะพัฒนาตนเอง มากกว่าการรับข้อมูลความรู้จากโค้ชไป

นอกจากนี้ การพัฒนาภาวะผู้นำในปัจจุบัน ต้องเน้น “ความเร็ว” นำเรื่องของออนไลน์ หรือดิจิตอลมาสร้างให้เกิดประโยชน์ จัดสรรเนื้อหาให้กระชับ ย่นระยะเวลาในการเสริมทักษะในบางเรื่อง ที่จำเป็นต้องใช้ในขณะนั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559