เมื่อจีนเดินหน้านโยบายลูกสามคน (จบ)

24 มิ.ย. 2564 | 05:00 น.

เมื่อจีนเดินหน้านโยบายลูกสามคน (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

จากนโยบายลูกคนเดียว สู่นโยบายลูกสองคน แต่ดูเหมือนจีนยังคงต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายใหญ่ เพราะนโยบายลูกสองคนที่ดำเนินการมากว่า 5 ปี ก็ยังไม่อาจทำให้จำนวนประชากรจีนเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายที่ต้องการ แถมเมื่อวิกฤติโควิด-19 มาเยือน สถานการณ์ก็ดูจะยิ่งไม่เป็นใจ การปรับเปลี่ยนนโยบายประชากรศาสตร์อีกครั้งจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ...

นโยบายลูกสามคน ... การกลับสู่ครอบครัวใหญ่อีกครั้ง ในเดือนพฤษภาคม 2021 มีข่าวใหญ่ผ่านสำนักข่าวซินหัวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า “โพลิตบูโร” (Politburo) ซึ่งมี สี จิ้นผิง เป็นประธาน ได้ประกาศสนับสนุนนโยบายลูกสามคน

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายคาดว่า รัฐบาลจีนต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการกำหนดแนวทางปฏิบัติและมาตรการสนับสนุนส่งเสริมเพื่อให้การดำเนินนโยบายดังกล่าวเกิดผลเป็นรูปธรรม แต่อย่างน้อยครอบครัวคนจีนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งก็สบายใจขึ้นเมื่อบทปรับ 130,000 หยวน ของการมีลูกคนที่ 3 ที่เคยกำหนดไว้ได้ถูกยกเลิกไป  

หลังจากข่าวนี้ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน สื่อสังคมออนไลน์ของจีนก็ร้อนระอุในทันที คนรุ่นใหม่ที่ครองโลกอินเตอร์เน็ตได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเชิงลบต่อนโยบายดังกล่าว ส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายดังกล่าวไม่เหมาะสมในแง่ของจังหวะเวลา และวิถีชีวิตของคนจีนรุ่นใหม่ บางคนวิจารณ์เลยต่อไปถึงการขาดจริยธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน   

 

เมื่อกระแสต่อต้านมาแรงเช่นนี้ กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนที่เปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ก็ต้องผ่อนคันเร่ง บางรายยอมถอดประเด็นนี้ออกจากระบบเลยก็มี 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็เร่งคิดหาแนวทางการดำเนินนโยบายนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ เพราะหากกำหนดนโยบายใหม่และดำเนินมาตรการในรูปแบบเดิม โอกาสความสำเร็จคงน้อยมาก หนึ่งในข้อเสนอก็คือ การออกมาตรการทางการเงิน การคลัง และสังคมกระตุ้นให้คนจีนหันมามีลูกกันมากขึ้น 

นักเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยปักกิ่งท่านหนึ่ง ประเมินว่า ด้วยเป้าหมายจำนวนทารกเกิดใหม่ที่จีนต้องการ รัฐบาลต้องใช้งบลงทุนถึง 10% ของจีดีพี หรือราว 10 ล้านล้านหยวนในการเพิ่มอัตราการเกิดจาก 1.3% ในปัจจุบันเป็น 2.1% ต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่องค์การสหประชาชาติ ถือเป็นอัตราที่เหมาะสมในการรักษาระดับการเติบโตของประชากร 

เมื่อจีนเดินหน้านโยบายลูกสามคน (จบ)

หรือเท่ากับว่า รัฐบาลจีนต้องให้เงินอุดหนุนการมีทารกเกิดใหม่รวม 1 ล้านหยวนต่อคน โดยการอุดหนุนดังกล่าวอาจอยู่ในหลายแบบ อาทิ เงินสด การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านวงเงินการหักค่าใช้จ่ายในการดูแลลูกที่เพิ่มขึ้น และการอุดหนุนด้านที่อยู่อาศัย  

นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นยังอาจปรับปรุงสิทธิประโยชน์บางอย่าง เช่น การเพิ่มจำนวนวันในการลาคลอด การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในการมีลูกเพิ่มขึ้น และการขยายโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงานแก่ผู้หญิง 

ประเด็นสำคัญที่กำลังถกเถียงกันในจีนก็คือ เงินอุดหนุน 1 ล้านหยวนมากหรือน้อยเกินไป อย่างไร ในด้านหนึ่ง ทารกเกิดใหม่จะคุ้มค่าเงินที่รัฐอุดหนุนหรือไม่ นักวิชาการบางส่วนประเมินว่า รัฐบาลจีนสามารถเรียกเก็บภาษีกลับคืนจากคนเหล่านี้ได้ในระยะยาว   

แต่โดยที่จีนมีจำนวนประชากรอยู่มาก หากรัฐบาลจีนเพิ่มมาตรการกระตุ้นในวงกว้าง ก็อาจจะเป็นภาระทางการเงินในอนาคตได้ 

ในทางกลับกัน หากเงินอุดหนุนมีจำนวนน้อย ก็จะไม่สามารถโน้มน้าวให้ครอบครัวจีนมีลูกเพิ่มขึ้นได้ คนจีนรุ่นใหม่จำนวนมากรู้สึกว่า การมีลูกเป็นภาระทางการเงินในระยะยาว ขณะที่เงินสนับสนุนดังกล่าวน้อยมากเมื่อเทียบกับภาระการดูแลที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล และค่าเล่าเรียน 

การก้าวเข้าสู่ยุค “กินดี อยู่สบาย” ทำให้มาตรฐานการครองชีพของชาวจีนถูกยกระดับขึ้น และกดดันให้ค่าครองชีพของจีนเพิ่มสูงขึ้นมาก บางคนถึงขนาดแสดงความคิดเห็นว่า  เงินอุดหนุนการมีลูกดังกล่าว ควรจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านหยวน จึงจะมากพอที่จะจูงใจ 

จากการสัมภาษณ์คนจีน พบว่า ค่าเล่าเรียนสำหรับโรงเรียนอนุบาลในจีนต้องใช้เงินราว 100,000 หยวนต่อปี บวกค่าพี่เลี้ยง ค่าประกันสุขภาพ และอื่นๆ เข้าไปอีก ทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมสูงถึง 200,000 หยวนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น พ่อแม่มือใหม่จึงควรต้องวางแผนทางการเงินในเรื่องนี้เป็นอย่างดี 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนยังต้องแข่งกับเวลาอีกด้วย เพราะเมื่อพูดถึงการมีลูกคนที่ 2 คนจีนรุ่นใหม่ก็ยังแสดงความสนใจอยู่ แต่เมื่อกล่าวถึงการมีลูก 3 คน คนจีนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ แต่ละคนต่างเมินหน้าหนี 

ดังนั้น หากการออกมาตรการล่าช้าออกไป ช่วงวัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงจีนก็จะหดหายไปอีก แถมเงินอุดหนุนจำนวนดังกล่าวอาจน้อยเกินไป ซึ่งจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานขยาย
วงกว้างขึ้น   

สังคมจีนจะมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และเดินหน้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์เร็วขึ้นไปอีกในอนาคต โดยคนจีนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ราว 264 ล้านคนในปี 2020 คาดว่าจะพุ่งขึ้นแตะ 487 ล้านคนในปี 2050 ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนของคนสูงอายุเพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 19% พุ่งขึ้นเป็นถึง 35% ของจำนวนประชากรโดยรวม 

คนจีนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

ปี 2020 จำนวน 264 ล้านคน สัดส่วนต่อประชากรโดยรวม 19%

ปี 2025 จำนวน 300 ล้านคน สัดส่วนต่อประชากรโดยรวม 20%

ปี 2050 จำนวน 487 ล้านคน สัดส่วนต่อประชากรโดยรวม 35% 

แหล่งข่าวยังเปิดเผยอีกว่า นอกจากการเพิ่มจำนวนทารกเกิดใหม่ รัฐบาลจีนยังต้องการพัฒนา “เด็กยุคใหม่” ในมิติเชิงคุณภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของจีนที่เปลี่ยนแปลงไปควบคู่ไปด้วย 

จีนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาและต่อยอดระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กจีนมีโอกาสในการเรียนระดับมัธยมศึกษาปลายและมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเพิ่มแรงงานคุณภาพเข้าสู่ระบบในระยะยาว สิ่งนี้เกิดขึ้นควบคู่กับการนำเอาหุ่นยนต์ เครื่องทุ่นแรง และนวัตกรรมอื่นมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังให้ความสำคัญกับการขยายมาตรการดึงดูดคนจีนที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ และคนจีนโพ้นทะเลกลับสู่มาตุภูมิ เช่น เงินทุน ทุนวิจัย ตำแหน่งงาน และสวัสดิการที่เหมาะสม 

จีนยังมีแผนจะปรับช่วงการเกษียณอายุของคนจีน จีนนับเป็นประเทศหนึ่งที่กำหนดอายุเกษียณของพนักงานของรัฐไว้ต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในโลก กล่าวคือ ผู้ชายเกษียณที่อายุ 60 ปี และผู้หญิง 55 ปี ยิ่งคนจีนมีอายุที่ยืนยาวขึ้น รัฐบาลจีนก็ต้องการดึงทรัพยากรเหล่านี้มาสร้างประโยชน์ มากกว่าการปล่อยให้เป็นภาระในระยะยาว 

แม้ว่าจีนจะมีจำนวนประชากรจำนวนมาก และจะเพิ่มขึ้นภายใต้นโยบายลูกสามคน แต่จีนก็ยังมีมุมมองในเชิงบวกในการดึงเอาทรัพยากรโลกมาเป็นของตน โดยได้พัฒนาระบบกรีนการ์ด สิทธิประโยชน์ และจัดหาเวทีที่เหมาะสม เพื่อดึงชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ให้ไปใช้ชีวิตและทำงานที่มีคุณภาพกว่าในจีน 

การดำเนินนโยบายลูกสามคนและนโยบายที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้จะส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และในจีนและต่างประเทศ จีนใช้เวลา 4 ทศวรรษในการหลุดพ้นจากความยากจน แต่กำลังเร่งสร้างชาติและเสริมคนด้วยนโยบายลูกสามคนเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกในทศวรรษหน้า จึงเป็นเสมือนกับการเดินทางไกลที่เต็มไปด้วยความท้าทายของจีน 

คำถามที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ สินค้าและธุรกิจบริการของไทยจะได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใด อย่างไร จากการปรับนโยบายของจีนในครั้งนี้ ผมจะขอเชิญชวนท่านผู้อ่านไปถอดรหัสกันต่อไป ...

เกี่ยวกับผู้เขียน :  ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,690 วันที่ 24 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :