เราเตรียมคนไว้พร้อม สำหรับศก.แบบใหม่แล้วหรือยัง (3)

13 มิ.ย. 2564 | 05:58 น.

เราเตรียมคนไว้พร้อม สำหรับศก.แบบใหม่แล้วหรือยัง (3) : คอลัมน์เศรษฐกิจ...อีกนิด ก็หลักสี่(.ศูนย์) โดย ผศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ คณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรศาสตร์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,687 หน้า 5 วันที่ 13 - 16 มิถุนายน 2564

คราวที่แล้วท่านผู้อ่านคงทราบแล้วว่า รัฐบาลกำลังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไทยใหม่เพื่อพาประเทศ ไทยออกจากภาวะกับดักเศรษฐกิจเก่า การวางอุตสาหกรรม S Curve เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรืออัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศถือเป็นเรื่องจำเป็น และด้วยความจำเป็นดังกล่าวรัฐบาลก็ผลักดันนโยบายอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่สมัยที่ท่ารองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นแม่ทัพทีมเศรษฐกิจก่อนจะถูกเปลี่ยนม้ากลางศึกหรือเข่นฆ่าให้อาสัญเมื่อปีที่ผ่านมาจนต้องโบกมือลาวงการการเมืองไปเรียบร้อย

แต่การปลุกปั้นโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือที่เรารู้จักกันดีว่า EEC ก็ถูกเข็นออกมาเป็นนโยบายสวยหรูที่ถูกวาดฝันว่า โครงการนี้จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล ว่าแล้วมาตรการว่าด้วยการผลักดันความสำเร็จของ EEC ก็ถูกประกาศออกมาเป็นระยะๆ แต่ก็มีเสียงดังมาจากนักลงทุนว่า แพ็คเกจที่รัฐบาลออกมาชักชวนให้นักลงทุนนำเงินมาลงทุนและพัฒนาเศรษฐกิจยังไม่โดนใจเท่าไหร่ และสำหรับตอนที่ 3 นี้ เราจะมาคุยถึงการออกแบบสร้างแรงจูงใจที่สะท้อนจากสิทธิพิเศษที่รัฐบาลมอบให้นักลงทุนกันครับ

 

สิทธิประโยชน์เรื่องที่หนึ่ง การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่สมัยการเริ่มต้นนำเข้าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investments) หรือ FDI ที่ส่งเสริมโดยรัฐบาล นโยบายการยกเว้นภาษีอันคลาสสิคเป็นกลไกการสร้างแรงจูงใจที่มีประสิทธิภาพอย่างสูง เพราะการยกเว้นภาระภาษีเป็นการลดต้นทุนทางธุรกิจโดยตรงของภาคเอกชน ซึ่งการใช้เงินทุนที่ได้รับการยกเว้นภาระภาษี นอกจากจะจ่ายคืนผู้ถือหุ้นที่มีเงินปันผลเป็นรูปแบบของผลตอบแทนแล้ว บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนก็มักจะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนขยายกิจการต่อ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของบริษัท

ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสร้างโรงงานใหม่ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต อันจะนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิตในระยะยาวที่เกิดจากการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) ซึ่งนอกจากจะได้เปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่งปัจจุบันแล้ว ยังเป็นการกีดกันคนใหม่ที่จะเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมอีกด้วย

หรือจะเป็นการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ซึ่งจะเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์และบริการของตน แต่แม้จะเป็นสิทธิพิเศษที่รัฐบาลเต็มใจให้สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่กลายเป็นว่า นักลงทุนกลับรู้สึกว่ารัฐบาลกล้าๆ กลัวๆ กับการให้สิทธิประโยชน์เรื่องนี้ เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องพื้นฐานแล้ว ระยะเวลาการยกเว้นภาษีก็แทบไม่แตกต่างจากโครงการอื่นๆ มากนัก ตอนนี้ก็เสมือนหนึ่งว่า กระสุนยกเว้นภาษีกลายเป็นกระสุนด้านไปเสียแล้ว

เรื่องถัดมาที่รัฐบาลประเคนให้ คือ ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร วัตถุดิบ ที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออก และของที่นำเข้ามา เพื่อการวิจัยและพัฒนา ในสายตาของผม รัฐบาลอาจจะตระหนี่ไปสักนิด ถ้าเทียบกับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย แม้รัฐบาลจะยกเว้นอากรนำเข้าให้สำหรับปัจจัยการผลิตที่สำคัญของผู้ประกอบการ แต่ก็ให้เป็นไปเพื่อการส่งออกและการวิจัยและพัฒนาเพียงเท่านั้น

ซึ่งวิธีคิดของรัฐบาลก็ยังคงคิดว่า การบูรณาการของตลาดไทยและตลาดโลกมีพรมแดนที่ชัดเจน ดังนั้น หากเป็นการนำเข้ามาผลิตและจำหน่ายในประเทศก็ไม่ตรงตามเงื่อนไขการยกเว้นอากรนำเข้าแต่อย่างใด รัฐบาลอาจจะมองข้ามมิติของความสัมพันธ์ระหว่างการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายกับการสร้างความพร้อมของตลาดไทยในการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ หากบริษัทต้องการจำหน่ายสินค้าและบริการในประเทศไทย ซึ่งถูกผลิตขึ้นจากปัจจัยการผลิตที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ต้นทุนของสินค้าและบริการดังกล่าวก็จะแพงกว่าการส่งออกไปยังต่างประเทศ แล้วเราจะยกระดับความพอใจของผู้บริโภคภายในประเทศ (Domestic Consumer Preference) ได้อย่างไร

 

สิทธิการเช่าที่ดินราชพัสดุระยะเวลา 99 ปี ซึ่งรวมการต่อสิทธิการเช่า 1 ครั้ง และการอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินก็เป็นเรื่องที่ชื่นชมในความกล้าตัดสินใจของรัฐบาล เพราะที่ดินถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญอย่างยิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการความแน่นอน (Certainty) และความต่อเนื่อง (Continuation) องค์กรเอกชนถือว่า การย้ายฐานการผลิต (Production Relocation) เป็นเรื่องที่วุ่นวายและปวดหัว

โดยเฉพาะหากต้นทุนในการโยกย้ายสูงกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ แต่จำเป็นต้องทำเพราะสถานการณ์บังคับ ในอีกมิติหนึ่ง การสร้างโครงสร้างพื้นฐานของระบอบทุน นิยมที่เรียกว่า กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน (Property Right) ให้ชัดเจนขึ้นก็จะสร้างความมั่นใจในการลงทุนอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนที่ต้องเสี่ยงความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐ

เราเตรียมคนไว้พร้อม  สำหรับศก.แบบใหม่แล้วหรือยัง (3)

 

เงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุนการวิจัยสำหรับการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย แม้ว่าจะเป็นนํ้าจิ้มสำหรับภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่ แต่ก็ถือเป็นความตั้งใจดีที่รัฐบาลยินดีสนับสนุนทรัพยากรทางการเงินในรูปของเงินอุดหนุน แต่หากคิดในทางกลับกัน แทนที่รัฐจะให้เงินช่วย รัฐบาลควรจะเอาเงินอุดหนุนก้อนนี้ไปแปลงเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ภาคธุรกิจน่าจะจูงใจกว่า

โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมเป็นขั้นบันไดเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนบรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการทีละขั้นทีละตอน แม้รัฐบาลจะสูญเสียรายได้จากภาษีส่วนนี้ไป แต่ก็ถือว่าการบรรลุเป้าหมายการสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจใหม่ที่แข็งแกร่ง ก็เป็นเรื่องที่คุ้มค่าไม่น้อยเลยทีเดียว

 

สิทธิประโยชน์กลุ่มสุดท้ายที่รัฐบาลออกโปรโมชั่น คือ กลุ่มของผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญของแต่ละองค์กรที่เข้ามาลงทุนใน EEC ไม่ว่าจะเป็นวีซ่าทำงาน 5 ปี และอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาร้อยละ 17 ซึ่งรัฐบาลถือว่าตํ่าที่สุดในอาเซียน แพ็คเกจส่วนตัวที่รัฐบาลเชื่อว่าจะจูงใจให้บริษัทต่าง ขนเงินมาลงทุนกลับเป็นกระสุนด้านอีกรอบ เพราะหลายๆ ประเทศที่ต้องการเงินทุนจากต่างประเทศอย่างเวียดนามหรือมาเลเซียกลับประเคนผลประโยชน์ให้มากกว่า หรือสิงคโปร์เองก็มอบ สัญชาติสำหรับบุคคลหัวกะทิที่ต้องการมาทำงานที่สิงคโปร์ การออกอาวุธหนักของรัฐบาลคราวนี้กลับไม่ใช่หมัดน็อกที่รัฐบาลคุยไว้ 

แม้ว่า EEC จะเป็นนโยบายที่เชิดหน้าชูตาของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 แต่รัฐบาลกลับมีความกล้าไม่เพียงพอที่จะลงทุนเพื่อให้ภาคเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง หากรัฐบาลหันไปมองประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรื่อยไปจนถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็จะเห็นว่า รัฐบาลรับบทเป็นพระรองที่อยู่ข้างพระเอกอยู่เสมอ นั่นหมายความว่า รัฐบาลเป็นผู้ผลักดันให้ภาคเอกชนเป็นผู้เล่นหลักในระบบเศรษฐกิจ และรัฐบาลจะคอยสนับสนุนอย่างแข็งขันให้ภาคเอกชนบรรลุความสำเร็จ และด้วยเหตุนั้น การดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม 

แต่มากไปกว่านั้น สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการอย่างมากจากรัฐบาล คือ การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการเตรียมคนไว้รองรับการทำงาน หากกล่าวด้วยความจริงใจแล้ว ค่าแรงไม่ใช่อุปสรรคของการประกอบธุรกิจตราบใดที่ค่าแรงสะท้อนทักษะการทำงานที่องค์กรต้องการ และเครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์ทดแทนได้ลำบากหรือต้นทุนสูงเกินกว่าจะใช้คอมพิวเตอร์

แต่พอหันไปมองแผนพัฒนาคนเพื่อรองรับประเทศไทย 4.0 แล้ว ก็อาจจะคาดหวังได้ลำบาก ทำไมถึงคิดเช่นนั้น คราวหน้ามาว่ากันต่อครับ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :