โอละพ่อ! ประเทศไทย ยึดทรัพย์ทัวร์โอเอฯ ขัดรธน.

11 มิ.ย. 2564 | 02:05 น.

โอละพ่อ! ประเทศไทย ยึดทรัพย์ทัวร์โอเอฯ ขัดรธน. : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3687 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 13-16 มิ.ย.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ประวัติศาสตร์การจัดการด้านกฎหมายของประเทศไทยต้องจารึกไว้ให้ผู้คนได้ศึกษา จดจำ ฟ้องร้องเอาผิดกันต่อไป เมื่อเกิดปรากฎการณ์ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การยึดทรัพย์โดยอาศัยประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 37 ตรี มาบังคับใช้ กับบริษัททัวร์ใหญ่ที่ครึกโครมทั้งประเทศนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ!

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อ นายสุระพงษ์ พิพัฒน์พัลลภ 1 ในผู้บริหารของ บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี เจ้าของบริษัททัวร์ศูนย์เหรียญอันใหญ่โตในเมืองไทย โต้แย้งศาลแพ่งว่า 

การที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม มาอายัดทรัพย์สินโดยอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ระบุว่า ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากร และเป็นความผิดที่เกี่ยวกับจำนวนภาษีอากรที่หลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงตั้งแต่สิบล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป และผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร หรือนำส่งภาษีอากรดังกล่าวได้กระทำในลักษณะที่เป็นกระบวนการหรือเป็นเครือข่าย 

โดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดเงินได้ที่พึงประเมินหรือรายได้เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากร และมีพฤติกรรมปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อมิให้ติดตามทรัพย์สินนั้นมาใช้กับตัวเองและพวกมิได้ เพราะกฎหมายเพิ่งบังคับใช้ และศาลแพ่งส่งคำร้องคำโต้แย้งของนายสุระพงษ์ พิพัฒน์พัลลภ ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกรวม 22 ราย เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 มาตรา 27 มาตรา 29 และมาตรา 37 หรือไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ปรากฎว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ ได้อ่านคำวินิจฉัยเรื่องพิจารณาที่ 7/2563ว่า  ศาลรัฐธรรมนูญมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 37 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

คำวินิจฉัยอันนี้ต้องบอกว่าอื้ออึงไปทั้งเมือง เพราะทำให้กระบวนการยึดทรัพย์กรณีทัวร์ศูนย์เหรียญยุ่งยากทรัพย์ซ้อนและอาจนำไปสู่การฟ้องร้องกันนัวเนียในอนาคตแน่นอน เพราะผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีผลผูกพันกับทุกองค์กร

แล้วความเรื่องนี้มันเป็นอย่างไร ทำไมจึงตัดสินออกมาแบบนี้

ผมไปตรวจสอบดูคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่สะท้านปฐพี แล้วพบในสำนวนบางส่วนว่า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 3 สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของ นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี กับพวก ตกเป็นของแผ่นดิน 

โดย ปปง.ได้รับรายงานจากกรมสรรพากรว่า นายธงชัย กับพวก เป็นผู้มีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการขายสินค้า แต่ไม่ได้จดทะเบียน เพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมไม่ครบถ้วนตามจำนวนรายได้ที่แท้จริงสำหรับปีภาษี 2554-2559 เข้าลักษณะเป็นการกระทำโดยความเท็จโดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะ 2 เป็นความผิดอาญาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) เข้าลักษณะเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี ประกอบมาตรา 37 ที่บัญญัติให้เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมาย ปปง.

ความผิดมูลฐาน ตามกฎหมาย ปปง. อันเป็นกฎหมายหลักและความผิดมูลฐานที่บัญญัติกระจายอยู่ตามกฎหมายอื่น ๆ พบว่า มีด้วยกันทั้งหมด 29 ฐาน แบ่งเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ปปง. จำนวน 21 ความผิดมูลฐาน และความผิดตามกฎหมายอื่น ๆ จำนวน 8 ความผิดมูลฐานการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ปปง. นั้นไม่ขัดรัฐธรรมนูญ  และแต่ละความผิดมีความร้ายแรง และอาจก่อให้เกิดอาชญากรรมอื่น ๆได้

แต่การใช้กฎหมายที่เป็นคุณและเป็นกฎหมายย้อนหลัง พฤติกรรมของการกระทำความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 เกิดขึ้นระหว่างปีภาษี 2554-2559 ต่อมาในปี 2560 นั้น ประมวลรัษฎากรได้บัญญัติ มาตรา 37 ตรี ให้เอาความผิดตามมาตรา 37 มาตรา 37 ทวิ มาตรา 90/4 เป็นความผิดมูลฐาน (แตกต่างจากเดิม) มีผลให้ทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดถูกสันนิษฐานว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจาการกระทำความผิดมูลฐาน หากพิสูจน์ไม่ได้จะถูกยึดหรืออายัดและบังคับให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้ แม้จะเป็นมาตรการทางแพ่ง แต่ก็เป็นผลร้ายในทางทรัพย์สินแก่ผู้กระทำเทียบได้กับโทษริบทรัพย์สินในทางอาญา จึงเป็นกรณีกฎหมายในภายหลัง และบัญญัติแตกต่าง 

โดยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดไม่ว่าในทางใด…”

ดังนั้น การบัญญัติกฎหมายที่ไม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำย้อนหลังไปบังคับแก่การกระทำเกิดขึ้นก่อนจึงจะนำมาใช้ไม่ได้ ขัดต่อมาตรา 3 ประกอบมาตรา 17 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่ให้นำมาตรา 3 ไปใช้ในกฎหมายอื่นด้วย

ศาลจึงเห็นว่า การที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี บัญญัติเอาความผิดมาตรา 37 มาตรา 37 ทวิ มาตรา 90/4 มีโทษอาญามาเป็นความผิดมูลฐานทำให้การจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สิน มีโทษจำคุกและปรับเป็นความผิดอาญา บัญญัติในภายหลัง (พ.ศ. 2560) มาใช้บังคับในขณะที่การกระทำความผิดเกิดขึ้นระหว่างปีภาษี 2554-2559 ทำให้การเคลื่อนย้ายทรัพย์หลังจากกฎหมายใหม่กำหนด กลายเป็นความผิดฐานฟอกเงิน มีโทษทางอาญา โดยมี “ความผิดมูลฐาน” บัญญัติขึ้นหลังจากกระทำความผิดไปแล้ว มาเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิด มาตรา 37 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร จึงเป็นการบัญญัติที่มีโทษอาญาย้อนหลัง จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคแรก 

แม้ทางหน่วยงานของรัฐจะอ้างว่า การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดเป็นเรื่องทางแพ่ง แต่การจะใช้มาตรการทางแพ่งได้ ต้องมีการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน อันมีโทษทางอาญาเสียก่อน จึงจะเป็นเหตุให้ยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ หากลงโทษในความผิดฐานฟอกเงินไม่ได้ ก็ย่อมจะยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดินไม่ได้เช่นกัน

นี่แหละครับที่ยุ่ง เพราะถ้าใครติดตามการยึดทรัพย์เจ้สพ่อทัวร์ศูนย์เหรียญของปปง.นั้นพบว่าจนถึงปัจจุบันทีการยึดทรัพย์สินไป 3 ครั้ง

วันที่ 24 ม.ค.2561 คณะกรรมการธุรกรรม ปปง. มีคำสั่งที่ ย.1/2561 อายัดทรัพย์สินรายนายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี กับพวก จำนวน 125 รายการ มูลค่า 4,246,569,770 บาท (อีก 9 รายการอยู่ระหว่างประเมินมูลค่า) 

ต่อมาวันที่ 22 ก.พ. 2561 คณะกรรมการธุรกรรม ปปง.มีคำสั่งที่ ย.25/2561 อายัดทรัพย์สินรายนายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี กับพวก เพิ่มเติม จำนวน 83 รายการ มูลค่า 3,857,728,489.33 บาท

ต่อมาวันที่ 3 พ.ค.2561 คณะกรรมการธุรกรรม ปปง.มีคำสั่งที่ ย.77/2561 อายัดทรัพย์สินรายนายสุรพงษ์ พิพัฒน์พัลลภ กับพวก ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี เพิ่มเติม 46 รายการ มูลค่า 213,637,070.27 บาท มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน ประกอบด้วย เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร สลากออมสิน ที่ดินโฉนดที่ดิน และอาคารชุด ในชื่อ นายสุระพงษ์ พิพัฒน์พัลลภ, น.ส.วีญาฎา พิพัฒน์พัลลภ, น.ส.ปิยมา สิงคารวานิช, นายพรชัย โรจน์รุ่งรังสี, ด.ช.ธันยวิทย์ โรจน์รุ่งรังสี, บริษัท ภูเก็ต เจมส์ พาวิลเลี่ยน จำกัด หรือ บริษัท รอยัล พารากอน เจมส์ จำกัด หรือ บริษัท รอยัล เจมส์ พาวิลเลี่ยน จำกัด, นายอำนาจ อำนวยบริสุทธิ์, และน.ส.ใหม่ พิพัฒน์พัลลภ
รวมยอดอายัด 3 ครั้ง จำนวนทรัพย์สินที่ยึดทรัพย์ไป 254 รายการ มูลค่า 8,317,935,329.60 บาท

หลายคนสงสัยว่า แล้วกฎหมายประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ตรี ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 45) พ.ศ. 2560 บังคับใช้ไปเมื่อ 2 เม.ย. 2560 บัญญัติว่าอย่างไร 
กฎหมายฐานความผิดตามมาตรา 37 มาตรา 37 ทวิ หรือมาตรา 90/4 ที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากร และเป็นความผิดที่เกี่ยวกับจำนวนภาษีอากรที่หลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงตั้งแต่สิบล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป หรือจำนวนภาษีอากรที่ขอคืนโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน ตั้งแต่สองล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป และผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรดังกล่าวได้กระทำในลักษณะที่เป็นกระบวนการหรือเป็นเครือข่าย โดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดเงินได้พึงประเมินหรือรายได้ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากร 

และมีพฤติกรรมปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อมิให้ติดตามทรัพย์สินนั้นได้ ให้ถือว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เมื่ออธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองความผิดทางภาษีอากรที่เข้าข่าย ความผิดมูลฐานส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแล้ว ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต่อไป
คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ประกอบด้วยอธิบดี รองอธิบดีและที่ปรึกษากรมสรรพากรทุกคน

สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 นั้นบัญญัติว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง”

ส่วนรัฐธรรมนูญมาตรา 37 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดก ขอบเขตแห่งสิทธิและการจำกัดสิทธิเช่นที่ว่านี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ

วรรคสอง บัญญัติว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศ หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรม ภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของ ตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายจากการเวนคืน โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายจากการเวนคืน โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ผลกระทบต่อผู้ถูกเวนคืน รวมทั้งประโยชน์ที่ผู้ถูกเวนคืนอาจได้รับจากการเวนคืน

ยุ่งมั่ยละครับ นำกฎหมายภาษีมาอายัดเงินฐานฟอกเงินไม่ได้...ทางออกจะเป็นอย่างไรบ้านเมืองนี้วุ่นแน่นอนครับ!