เมื่อจีนเดินหน้า นโยบายลูกสามคน (1)

10 มิ.ย. 2564 | 07:20 น.

เมื่อจีนเดินหน้า นโยบายลูกสามคน (1) คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,686 วันที่ 10 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564

คนทั่วไปอาจดีใจเมื่อลูกคนใหม่ลืมตาดูโลก แต่สำหรับหนุ่มสาวชาวจีนส่วนใหญ่ การมีลูกคนใหม่เป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยภาระและความท้าทายยิ่งในปัจจุบัน ครั้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนก็มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับนโยบายลูกสามคน 

ผมเลยอยากจะเชิญชวนท่านผู้อ่านไปขอดเกล็ดนโยบายนี้กัน ตั้งแต่นโยบายลูกคนเดียว ลูกสองคน และการแปลงสู่ลูกสามคน ...

ยุคนโยบายลูกคนเดียว ... ความจำเป็นเพื่อปากท้อง นับแต่ปี 1979 หรือราว 3 ปีหลังการเสียชีวิตของ เหมา เจ๋อตง พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนภายใต้การนำของ เติ้ง เสี่ยวผิง ได้กำหนดใช้นโยบาย “ลูกคนเดียว” เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องประชากรศาสตร์และความเป็นอยู่ของชาวจีน โดยให้คนทั่วไปมีลูกได้เพียงหนึ่งคน และอนุญาตให้คนในชนบทมีลูกได้สองคน หากลูกคนแรกเป็นเพศหญิง 

นโยบายดังกล่าวยกเว้นการบังคับใช้กับคนกลุ่มน้อย เช่น ทิเบต ซินเจียง และจ้วง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า มีคนจีนราว 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรโดยรวมที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว การดำเนินนโยบายดังกล่าวในระหว่างปี 1979-2013 นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ช่วยให้สามารถลดอัตราการเกิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยลดจำนวนประชากรจีนได้ถึง 400 ล้านคน ซึ่งหมายความว่า หากไม่มีนโยบายดังกล่าว จีนน่าจะมีจำนวนประชากรแตะ 2,000 ล้านคนในปัจจุบัน 

นโยบายดังกล่าวยังช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง บรรเทาปัญหาการขาดแคลนอาหารที่เรื้อรัง ลดจำนวนคนยากจน ที่พักอาศัย สิ่งอำนวยความสะดวก และอาหารการกินที่ดีขึ้นอย่างน่าพึงพอใจ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ 

เหล่านี้สะท้อนถึงมาตรฐานการครองชีพของชาวจีนที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยรายได้ต่อหัวของชาวจีนโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 200 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 1980 เป็นกว่า 6,000 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 2012 และทำให้จีนก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมพอมีพอกิน” ได้ตามที่ตั้งใจไว้ในเวลาต่อมา 

ในทางกลับกัน หากไม่ดำเนินนโยบายดังกล่าว ก็คาดว่าคนจีนอาจขาดแคลนทรัพยากรในหลายสิ่ง ซึ่งรวมถึงพื้นที่เพาะปลูก ธัญพืช ป่าไม้ น้ำดื่ม และพลังงานถึง 20% ของทรัพยากรที่มีอยู่ ส่งผลให้ทรัพยากรและกำลังความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมอาจไม่เพียงพอสำหรับการสนับสนุนให้เศรษฐกิจพัฒนาไปอย่างรวดเร็วดังที่เป็น

หนึ่งในเคล็ดลับของความสำเร็จได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายที่เอาจริงเอาจัง ทำให้ครอบครัวที่ฝ่าฝืนต้องโดนปรับในหลายรูปแบบ หรือหากเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ก็อาจโดนลงโทษถึงขั้นถอดถอนจากการเป็นสมาชิก หรือตีบตันในอาชีพการงาน 

ผลข้างเคียงรุมเร้า ... นโยบายลูกคนเดียวถูกกดดัน อย่างไรก็ดี ผลจากการดำเนินนโยบายลูกคนเดียวกว่า 35 ปีก็ส่งผลให้จีนมีจำนวนประชากรจีนเพิ่มขึ้นค่อนข้างน้อยจาก 1,270 ล้านคนในปี 2000 เป็น 1,340 ล้านคนในปี 2011 และทำให้โครงสร้างประชากรศาสตร์ผิดเพี้ยนไป อันนำไปสู่ปัญหามากมายตามมา อาทิ การลดลงของวัยรุ่นและคนในวัยทำงาน 

จีนเริ่มเห็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางสาขา ปัญหานี้มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นโดยลำดับ ในปี 2012 คนในวัยทำงานของจีนมีจำนวน 937 ล้านคน ลดลง 3.5 ล้านคน ซึ่งนับเป็นการลดลงสุทธิครั้งแรกของจีน และมีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ขณะเดียวกัน การขาดแคลนแรงงานฝีมือก็ทำให้อัตราค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น กิจการบางรายยังต้องเผชิญกับปัญหาอัตราการเข้าออกของคนงานที่สูงขึ้น แรงงานส่วนหนึ่งทำงานอยู่เพียง 2-3 เดือนก็ถูกซื้อตัวไปอยู่กับกิจการอื่น ทำให้กิจการต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการคัดเลือกและพัฒนาฝีมือแรงงานใหม่

ขณะที่บางกิจการที่พึ่งพารายได้หลักจากกลุ่มเป้าหมายเด็กก็หดหายลงจนถึงขั้นปิดกิจการก็มี โรงเรียนอนุบาลนับหมื่นแห่งในจีนต้องปิดตัวเองลงเพราะจำนวนนักเรียนที่ไม่เพียงพอ ปัญหานี้คล้ายคลึงกับปัญหาที่สถาบันการศึกษาของไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การขาดแคลนแรงงานดังกล่าวยังอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อก้าวกระโดดไปสู่อีกระดับหนึ่งของการพัฒนาตามที่รัฐบาลจีนคาดหวังไว้อีกด้วย

ประการสำคัญ การควบคุมจำนวนประชากรทำให้จีนเดินหน้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ภาพในอดีตที่สมาชิกครอบครัว 6 คน (ปู่-ย่า ตา-ยาย พ่อ-แม่) ต่างแย่งกันเลี้ยงดูลูกหลานคนเดียวของตนเอง “หกเลี้ยงหนึ่ง” กลายเป็น “บูมเมอแรง” ย้อนกลับมากดดันเด็กเมื่อโตขึ้นมาในปัจจุบัน 

กระแส “หนึ่งเลี้ยงหก” กำลังขยายวงกว้างขึ้นในจีน และยังเกิดข้อสงสัยว่า รัฐบาลจีนจะสามารถจัดสรรเงินงบประมาณมาช่วยดูแลการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร แถมยังเกิดคำถามที่น่าสนใจอีกว่า แล้วใครจะดูแล “เด็ก” คนนั้นเมื่อยามแก่ในอนาคต (ดูตาราง) เมื่อจีนเดินหน้า  นโยบายลูกสามคน (1)

ขณะเดียวกัน อัตราการเกิดที่ลดลงก็นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอายุเฉลี่ยของประชากรโดยรวม จีนกำลังพัฒนาสู่การเป็น “สังคมคนแก่” โดยคนจีนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มเป็นราว 300 ล้านคนในไม่กี่ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังประเมินว่า ภายในปี 2050 จีนจะมีคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปอยู่ถึง 430 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรจีนโดยรวม มากกว่าจำนวนประชากรของสหรัฐฯ โดยรวมเสียอีก

ผลกระทบยังขยายไปสู่ปัญหาในเชิงโครงสร้างทางเพศที่ขาดสมดุล อัตราการเกิดของทารกเพศชายที่สูงกว่าเพศหญิง ทำให้สัดส่วนอัตราการเกิดของผู้ชายต่อผู้หญิงเพิ่มขึ้นโดยลำดับ 

เมื่อผนวกกับปัจจัยในด้านอื่น อาทิ เศรษฐกิจ สังคม และรูปลักษณ์ภายนอก ก็ยิ่งทำให้จำนวน “ผู้ชายส่วนเกิน” ดังกล่าวในบางพื้นที่อยู่ในระดับที่สูงมาก โดยประเมินกันว่า ผู้ชายจีนราว 30 ล้านคนไม่มีคู่แต่งงานในปัจจุบัน ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นมากมายตามมาในอนาคต

ยกตัวอย่างเช่น การถูกกดดันจากพ่อแม่ฝ่ายหญิงให้ฝ่ายชายจัดหาที่พักอาศัยเป็นเรือนหอ (หรือแม้กระทั่งรถยนต์) ก่อนแต่งงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมในชุมชนเมือง

แต่ปัญหาสำคัญก็คือ ราคาที่พักอาศัยในเมืองใหญ่ของจีนในปัจจุบันอาจสูงถึงกว่า 30 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อปีของว่าที่เจ้าบ่าวเลยทีเดียว นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราเห็นคู่แต่งงานใหม่ที่มีฐานะปานกลางในจีนต้องไปหาซื้อเรือนหอไกลจากตัวเมืองมาก

สภาพการณ์ดังกล่าวยังส่งผลต่อเนื่องให้เกิดคดีอาชญากรรม การขโมยทารกและเด็ก การชิงตัวเจ้าสาว และความรุนแรงทางเพศมากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ นโยบายลูกคนเดียวดังกล่าวยังถูกกล่าวหาว่าเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรีดไถและใช้เป็นข้ออ้างในการกดดันให้ผู้หญิงในชนบทต้องไปตรวจการตั้งครรภ์อย่างสม่ำเสมอ หรือแม้กระทั่งให้แม่ที่อุ้มท้องลูกคนที่สองต้องทำแท้งเพื่อเป็นผลงานตามนโยบายที่กำหนดไว้

เห็นทีรัฐบาลจีนจะทนแรงกดดันไม่ไหว และจำต้องผ่อนคลายนโยบายลูกคนเดียว และเดินหน้าสู่นโยบายลูกสองคนซะแล้ว เราไปติดตามการปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าวกันในตอนต่อไปครับ ...

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน