ตุลาการล่าสินบน... ใครบังอาจ โค่นศาลฎีกา!

08 มิ.ย. 2564 | 23:30 น.

ตุลาการล่าสินบน... ใครบังอาจ โค่นศาลฎีกา! : คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3686 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 10-12 มิ.ย.2564 โดย...พรานบุญ

ผู้คนต่างอ้าปากค้าง พูดไม่ออกกันทั้งประเทศ เมื่อจู่ๆ มีข่าวคราวออกมาจากการเปิดเผยของบริษัทโตโยต้าฯ ว่า มีการจ่ายสินบนให้กับผู้บริหารศาลสูงของไทย ผ่านที่ปรึกษาด้านกฎหมายของบริษัท เพื่อแลกกับการไม่ต้องจ่ายภาษีนำเข้ารถยนต์พรีอุสคิดเป็นมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ใครบังอาจ....โค่นศาลไทย กลายเป็นประเด็นใหญ่ ในมหานครแห่งลำน้ำ

ไม่ใช่เพียงแค่คำประกาศของ โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ออกมาการันตีต่อสังคมไทยในเรื่องข้อกล่าวหาเรื่องสินบนการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์โตโตต้าพริอุส 1 หมื่นล้านบาทเศษว่า โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน กำลังสอบสวนเรื่องนี้อยู่ โดยให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการตรวจสอบอย่างเต็มที่ และขอยืนยันว่า โตโยต้าได้ทำทุกอย่างถูกต้องตามที่ภาครัฐกำหนดเท่านั้น ที่ทำให้ผู้คนในประเทศนี้ตื่นตาตื่นใจ และเงี่ยหูฟัง

คำประกาศของ อีริค บูธ โฆษกบริษัทโตโยต้า เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 เมื่อมีการซักถามเรื่องการจ่ายสินบนสะท้านศาลไทยว่า “บริษัทโตโยต้าจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อรักษามาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมสูงสุดในแต่ละประเทศที่เราดำเนินงาน เราดำเนินการจัดการกับข้อกล่าวหาการกระทำผิดใดๆอย่างจริงจังและมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่า การดำเนินการธุรกิจของเราเป็นไปตามกฎระเบียบของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด” ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า งานนี้ต้องมีเคลียร์

คดีข้อพิพาทการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ของค่ายรถยนต์โตโยต้า กับ กรมศุลกากร ที่ศาลชั้นต้นตัดสินให้โตโยต้าชนะคดี พอเข้าสู่ที่ประชุมศาลอุทธรณ์ชำนาญการ ที่มีการใช้ที่ประชุมใหญ่เป็นผู้พิจารณาคดีพลิก มีการตัดสินให้โตโยต้าแพ้คดี จึงกลายเป็นสปอร์ตไลต์ในเรื่องการพิจาณาตัดสินคดีของไทยไปทั่วทั้งโลก

การที่ผู้บริหารของโตโยต้า ให้การต่อการสอบสวนของอเมริกาว่า มี มือดี ที่เป็นคนไทยรับหน้าเสื่อไปจ่ายสินบนให้กับ อดีต 2 ประธานศาลฎีกา-อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ซึ่งทั้ง 3 คน ล้วนเป็นปูชนียบุคคลในวงการตุลาการของไทย ทำเอาวงการตุลาการประเทศสั่นคลอนไปทั่วคุ้งน้ำ

เพราะผู้พิพากษาแต่ละคนที่มีชื่อเกี่ยวพันกับสินบนโตโยต้าพริอุส และได้ออกมาปฏิเสธนั้นไม่ธรรดมาทั้งสิ้น ดิเรก อิงคนินันท์-สไลเกษ วัมนพันธ์ ทั้ง 2 คนเป็นอดีตประธานศาลฎีกา ขณะที่ นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม นั้น ถือว่าปรมาจารย์ด้านกฎหมายภาษี เป็นอดีตประธานศาลอุทธรณ์

 ข้อต่อสู้ของค่ายโตโยต้าที่ระบุว่า “การนำเข้าของโจทก์ทุกครั้งนับแต่การนำเข้าครั้งแรกในปี 2553 จนถึงปี 2555 ได้สำแดงรายการและเสียภาษีครบถ้วน ได้รับการตรวจปล่อยสินค้า และไม่เคยปรากฏว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากร โต้แย้งทักท้วง แสดงว่ามีความเห็นว่า สำแดงรายการและเสียภาษีอย่างถูกต้องแล้ว การประเมินย้อนหลังย่อมเป็นการไม่เป็นธรรม จึงขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ กรมศุลกากร เพิกถอนการประเมินอากรขาเข้าของกรมศุลการ รวม 24 ฉบับ ระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2555 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฯ ตามประมวลรัษฎากร เพราะโจทก์เป็นผู้ประกอบการ นำเข้าสินค้าอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาภายใต้ความตกลงระหว่างไทยและญี่ปุ่น สำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร” นั้น เป็นเรื่องใหญ่โตมากในระดับการค้าของไทย-ญี่ปุ่น

วันที่ 31 พ.ค. 2564 นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีเว็บไซต์ LAW360 รายงานข่าวและวิเคราะห์กฎหมายจากสหรัฐอเมริกา อ้างชื่อในผลสอบสวนที่โตโยต้า คอร์ปฯ รายงานถึงคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DOJ) ว่า มีผู้พิพากษาระดับสูงในศาลฎีกา สำนักกฎหมายแห่งหนึ่ง และพนักงานบริษัทโตโยต้า 3 คน เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องรับสินบนหรือไม่  

 ตุลาการ 4 คน ที่ทำหน้าที่ ทีมพิเศษ ในการตรวจสอบว่ามีการจ่ายสินบนให้ “อดีตประธานศาลสูงของประเทศไทย” และ ปอดีตประธานศาลอุทธรณ์ ผู้ได้ชื่อว่าตรงเป็นไม้บรรทัดหรือไม่ 4 คนและแต่ละคนไม่ธรรมดา เป็นมือพระกาฬทั้งสิ้น

1.นายอธิคม อินทุภูติ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธาน นายอธิคม เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการศาลยุติธรรม เป็นคนที่ 6 นับตั้งแต่แยกมาจากกระทรวงยุติธรรม ตำแหน่งนี้ซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งปลัดกระทรวง ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารของศาลเพื่อรับสนองนโยบายบริหารงานยุติธรรมจากประธานศาลฎีกา ในการอำนวยความยุติธรรม รวมถึงการบริหารงานบุคคลจัดซื้อจัดจ้าง งบประมาณ สวัสดิการ การโยกย้ายผู้พิพากษา และธุรการศาล

อธิคม จบนิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ป็นผู้มีชื่อเสียงด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นผู้บรรยายกฎหมายเนติบัณฑิตยสภา เคยดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์

2.นายปุณณะ จงนิมิตสถาพร อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อดีตผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตรองอธิบดีศาลอาญา ซึ่งถือว่าเป็นตุลาการที่เฮี้ยบมากเคยตัดสินคดีใหญ่ว่าด้วยเรื่องม็อบที่รวมตัวกันด่าทอศาลในคดีที่ตัดสิน กกต.เมื่อปี 2546 รวดเดียว 16 คน เนื่องจากพากันด่าทอและแสดงสัญลักษณ์ที่ไม่เหมาะสมแสดงความวุ่นวายในเขตอำนาจศาลเมื่อปี 2549 เดือนสิงหาคมปีนั้นแม้แต่เจ้าพ่อชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ที่ร่วมขบวนอยู่ในวันนั้นด้วยยังเงียบกริ๊บ

3.นายธีรทัย เจริญวงศ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เขาเคยเป็นหัวหน้าคณะผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครปฐาม และเป็นเลขานุการแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เป็น 1 ในคณะทำงานที่ร่วบรวมข้อมูลต่างๆในการพิจารณาคดีประวัติศาสตร์คือการฟ้องคดีอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว

4.นายสัญชัย ผลฉาย ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา อดีตรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้

ตุลากรทั้ง 4 คนนี้คือ มือพระกาฬในการติดตามข้อมูลเอกสาร เส้นทางการเงิน

แว่วมาว่าตอนนี้เอกสารรายงานการประชุมใหญ่ของศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ แผนกคดีภาษีอากร ที่มีมติให้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แพ้คดีภาษีพรีอุส 1.1 หมื่นล้านบาท อยู่ในมือ 4 คนนี้แล้ว เห็นว่าทนายความอินเฮ้าส์ และเอาต์ซอร์สบางคนก็อยู่ในมือ

อีกาบอกว่า มีการประสานงานไปยัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้วด้วย

ประเด็นที่ชวนติดตามคือ การทำงานของตุลาการทั้ง 4 คนนั้น พรายกระซิบบอกว่า เถรตรงยิ่ง แถมมีการประสานงานตรวจสอบลึกลงไปในทนาย ทะแนะร่วม 8 คน เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรราว 20 คน ที่อาจมีบทบาทเกี่ยวข้องกับคดีภาษีรถพรีอุส ในช่วงเวลาที่บริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลไทยหรือไม่

อันนี้แหละที่ระทึกในฤทัยกันในหมู่ข้าราชการและศาลยุติธรรมไทย