กฎเกณฑ์การรวมธุรกิจของไทย เปรียบเทียบกับสหรัฐฯ

20 พ.ค. 2564 | 12:20 น.

กฎเกณฑ์การรวมธุรกิจของไทย เปรียบเทียบกับสหรัฐฯ : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย... ผศ.ดร.จันทร์ทิพย์ บุญประกายแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,680 หน้า 5 วันที่ 20 - 22 พฤษภาคม 2564

ตามหลักเศรษฐศาสตร์ พื้นฐานนั้น ตลาดที่มีการกระจุกตัวสูง มักจะทำให้เกิดการแข่งขันตํ่า ซึ่งจะทำให้ประโยชน์ที่สังคมโดยรวมได้รับตํ่า เนื่องจากสินค้าจะมีราคาสูงและการบริโภคสินค้าจะมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับกรณีที่ตลาดทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น ระดับการกระจุกตัวจึงถูกนำมาใช้เป็นตัวบ่งชี้ในการพิจารณาเกี่ยวกับการรวมธุรกิจ หากตลาดมีการกระจุกตัวสูงอยู่แล้ว หรือหากการ รวมธุรกิจจะทำให้การกระจุกตัวสูงเกินไป บริษัทก็อาจไม่ได้รับอนุญาตให้รวมธุรกิจในตลาดสินค้าดังกล่าว 

ทั้งนี้ ดัชนีที่ใช้วัดระดับการ กระจุกตัวซึ่งเป็นที่นิยม คือ Concen tration Ratio (CR) และ Herfindahl- Hirschman Index (HHI) โดย CR เป็นการรวมเปอร์เซ็นส่วนแบ่งตลาดของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดจำนวนหนึ่ง เช่น CR3 คือเปอร์เซ็นส่วนแบ่งตลาดของบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 3 บริษัทรวมกัน ส่วน HHI นั้นจะเป็นการรวมเปอร์เซ็นส่วนแบ่งตลาดยกกำลังสองของทุกษริษัท

ตัวอย่างเช่น หากในตลาดสินค้าหนึ่ง 3 บริษัทแรกมีส่วนแบ่งตลาด 25% เท่ากัน และบริษัทที่เหลืออีก 25 บริษัทมีส่วนแบ่งตลาด 1% เท่ากัน CR3 = 25+25+25 = 75 และ HHI = 3×252 + 25×12 = 1,900 ทั้งนี้

โดยปกติแล้ว HHI จะแปรผันกับการเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งตลาดสูงเมื่อเทียบกับ CR เช่น หากในอีกตลาด บริษัทหนึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 73% และบริษัทที่เหลืออีก 27 บริษัทมีส่วนแบ่งตลาด 1% เท่ากัน CR3 = 75 และ HHI = 5,356 จะเห็นว่าในขณะที่ CR3 ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ HHI เพิ่มขึ้นสูงมาก เมื่อพิจารณาทั้งสองตลาดแล้ว จะเห็นว่าในตลาดแรกน่าจะมีการแช่งขันระหว่างทั้งสามบริษัทแรกในระดับสูง ในขณะที่ในตลาดที่สองบริษัทแรกมีอำนาจตลาดสูงมากและน่าจะมีระดับการแข่งขันน้อย ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า HHI สะท้อนการกระจุกตัวได้มากกว่า CR

 

กฎเกณฑ์การรวมธุรกิจของไทย เปรียบเทียบกับสหรัฐฯ

 

สำหรับกฏเกณฑ์การรวมธุรกิจของไทยนั้น บริษัทจำเป็นจะต้องขออนุญาตรวมธุรกิจหากมียอดเงินขายของผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งหรือรวมกันตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด สำหรับการผูกขาดนั้นน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยในปัจจุบัน ส่วนผู้มีอำนาจเหนือตลาดนั้นต้องมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปและผู้ประกอบธุรกิจรายเดียว มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาของสินค้าหรือบริการหนึ่งตั้งแต่ 50% ขึ้นไป หรือผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกของตลาดสินค้าหรือบริการหนึ่ง มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกัน 75% ขึ้นไป (ยกเว้นผู้ประกอบธุรกิจที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาไม่ถึง 10%)

 

จะเห็นว่ากฏเกณฑ์ของไทยใช้การรวมเปอร์เซ็นส่วนแบ่งตลาดแบบ CR เป็นตัวบ่งชี้ ส่วนกฏเกณฑ์ของสหรัฐฯ ระบุว่า หากการรวมธุรกิจเป็นธุรกรรมที่มีค่ามากกว่า 92 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,800 ล้านบาท) บริษัทต้องแจ้งขออนุญาต โดยหากการรวมธุรกิจทำให้ค่า HHI อยู่ระหว่าง 1,000 ถึง 1,800 โดยมีค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 หรือหากการรวมธุรกิจทำให้ค่า HHI มากกว่า 1,800 โดยมีค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 50 แต่ไม่เกิน 100 ถือว่าการรวมธุรกิจนั้นอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อระดับการแข่งขันและจะต้องผ่านการพิจารณา

นอกจากนั้น หากการรวมธุรกิจทำให้ค่า HHI มากกว่า 1,800 โดยมีค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 จะคาดการณ์ว่าการรวมธุรกิจจะทำให้เกิดผลเสียต่อระดับการแข่งขัน ซึ่งโดยปกติน่าจะไม่ได้รับอนุญาตนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ทั้งกฏเกณฑ์ของไทยและสหรัฐฯ ก็เปิดโอกาสให้บริษัทได้โต้แย้งในแง่ต่างๆ เช่น การรวมธุรกิจนั้นจะไม่ก่อความเสียหายทั้งต่อการแข่งขันและผู้บริโภค มีความจำเป็นทางธุรกิจ เช่น บริษัทอาจล้มละลายหากไม่มีการรวมธุรกิจ เป็นต้น จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้น แม้ในตลาดที่มีค่า HHI ค่อนข้างสูง เช่น หาก 3 บริษัทแรกมีส่วนแบ่งตลาด 45% 20% และ 5% ทำให้ค่า HHI จะสูงกว่า 2,450 ซึ่งตามกฎเกณฑ์ของสหรัฐถือว่าเป็นตลาดที่มีการกระจุกตัวสูง แต่ตามกฎเกณฑ์ของไทยจะไม่ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด

 

นอกจากนั้น จากกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวล ลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งในตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็ก เซเว่น อีเลฟเว่น (ซี.พี.) และ เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส มีส่วนแบ่งตลาด 73.60% และ 9.45% ตามลำดับ ดังนั้น เซเว่น อีเลฟเว่น จึงมีอำนาจเหนือตลาด

อย่างไรก็ตาม กรรมการการแข่งขันทางการค้าได้ลงความเห็นด้วยเสียง 4 ต่อ 3 อนุญาตให้มีการรวมธุรกิจได้ แม้ว่าจะทำให้ HHI เพิ่มจาก 5,553.19 เป็น 6944.09 โดยพิจารณาตามประเด็นต่างๆ เช่น ความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ การไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง การไม่กระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม ทั้งนี้ได้มี การกำหนดเงื่อนไขเพื่อลดผลกระทบในด้านต่างๆ ประกอบด้วย (รายละเอียดดังผลคำวินิจฉัยของ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าในกรณีดังกล่าว)