"IMT-GT" กับการพัฒนา "อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอาเซียน"

07 พ.ค. 2564 | 08:56 น.

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย เขียนบทความ เรื่อง “IMT-GT” กับการพัฒนา“อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอาเซียน” มีมุมมองน่าสนใจยิ่ง

"IMT-GT" กับการพัฒนา  "อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอาเซียน"

การพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) หรือ “การพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ” ตั้งเมื่อปี 1993  โดยอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ อดีตนายกฯ ดร.มหาเธร์ และอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย ต่อมาในปี 1994 มีการตั้ง “สามเหลี่ยมเศรษฐกิจสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย : IMS-GT” ร่วมมือด้านการค้า เกษตร ท่องเที่ยว สื่อสารและอุตสาหกรรมเบา โดยมีสิงคโปร์สนับสนุนการเงินและเทคโนโลยี

 มาเลเซียกลายเป็น “ไข่แดงของเขตการพัฒนาเศรษฐกิจ” เพราะมาเลเซียอยู่ในทุกกรอบความร่วมมือและการพัฒนา นั่นคือมาเลเซียยังอยู่ใน “เขตพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียนด้านตะวันออก (Brunei Indonesia Malaysia Philippines : BIMP-EAGA)” ที่ตั้งเมื่อปี 1994 ประกอบด้วยบรูไน ซาราวัค ซาบาห์ และเกาะลาบวน กาลิมันตัน ซูลาเวซี อิเรียนจายา และหมู่เกาะมาลูกู ทางภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย และเกาะมินดาเนาและเกาะปาลาวัน ทางภาคใต้ฟิลิปฟินส์

วัตถุประสงค์หลักของ IMT-GT พูดถึงความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของ 14 จังหวัดภาคใต้ของไทย   ร่วมกับ 8 รัฐของมาเลเซีย  เป็นมาเลเซียฝั่งเพนนินซูล่าที่ไม่รวมรัฐยะโฮร์ ปาหัง และตรังกานู และ 10 จังหวัดทั้งหมดของเกาะสุมาตรา (เกาะใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย) ในปี 2563 ประชากร IMT-GT มี 87 ล้านคน (เกาะสุมาตรา 60 ล้านคน มาเลเซียเพนนินซูล่า 17 ล้านคน และภาคใต้ 10 ล้านคน) ถือได้ว่าเป็น “ตลาดใหญ่” ขนาดประชากรเท่ากับหนึ่งประเทศ

"IMT-GT" กับการพัฒนา  "อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอาเซียน"

ปี 2562 เกาะสุมาตรามีขนาดเศรษฐกิจ 21% ของ GDP อินโดนีเซีย (เกาะชวา 57%) (จังหวัดสุมาตราเหนือใหญ่สุดตามด้วยจังหวัดเรียว) 8 รัฐมาเลเซียมีขนาด 47% ของ GDP มาเลเซีย (รัฐสลังงอร์ใหญ่สุด ตามด้วยปีนัง) ในขณะที่ภาคใต้มีขนาดเศรษฐกิจสัดส่วน 8% ของ GDP ไทย (ภูเก็ตใหญ่สุดตามด้วยสงขลา) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือใน IMT-GT ผมขอใช้คำว่ายุทธศาสตร์ “7 x 5” ซึ่ง 7 คือ “ความร่วมมือ 7 ด้าน” คือ เกษตรและเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ฮาลาล การขนส่งและไอที การอำนวยความสะดวกการค้าและลงทุน สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรมนุษย์  

ส่วน 5 คือ “5 ระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor : EC)” ประกอบด้วย 1. EC1 (สงขลา-ปีนัง-เมดาน) ที่เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต 2.EC2 (ตรัง-สตูล-ปะลิส-ปีนัง-ปอร์ตกลาง-มะละกา) ที่เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต เน้นความเป็นศูนย์กลางอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร  3. EC3 (บันดาอาเจห์-เมดาน-เปกันบารู-ปาเล็มบัง) ที่เชื่อมโยงภูมิภาค 4.EC4 (มะละกา-ดูไม) ที่เชื่อมโยงทางทะเล และ EC5 (ระนอง-ภูเก็ต-อาเจห์) ที่เชื่อมโยงทางทะเล เช่นกัน

ผมขอยกตัวอย่างการเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายใต้ IMT-GT เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มผ่านทาง “ระเบียงเศรษฐกิจที่ 1” ผมมีข้อเสนอแนะ 10 ข้อดังนี้ 1.เชื่อมโยงเขตอุตสาหกรรม ปัจจุบันภาคใต้มีนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ และเขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ในขณะที่ฝั่งมาเลเซียประกอบ 1.เขตเศรษฐกิจพิเศษโกตาเปอร์ดานา (Kota Perdana Special Border Economic Zone) ติดกับด่านชายแดนบูกิต กายูฮิตัม รัฐเคดะห์ 2. ระเบียงเศรษฐกิจตอนเหนือ  (North Corridor Economic Region : NCER) ประกอบด้วยรัฐเคดะห์ เปอร์ลิส ปีนัง เปรัก  3.เขตอุตสาหกรรมชูปิงแวลลีย์ (Chuping Valley Industry Area) ในเมืองชูปิง รัฐปะลิส (แผนงาน)

"IMT-GT" กับการพัฒนา  "อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอาเซียน"

2.เชื่อมโยงท่าเรือ  ท่าเรือสงขลา ท่าเรือปีนัง (ท่าเรืออันดับสามของมาเลเซียตามหลังท่าเรือกลังและท่าเรือ Tanjung Pelapas) และท่าเรือ Belawan (อันดับสองรองจากท่าเรือ Tanjung Priok ในจาการ์ตา) เมืองเมดาน จ.สุมาตราเหนือ 3.เชื่อมโยงอุตสาหกรรม ในรัฐเคดะห์ภายใต้ “North Corridor Economic Region” มีอุตสาหกรรมเกษตร เครื่องบิน รถยนต์ เครื่องมือทางการแพทย์  อุตสาหกรรมสีเชียว อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก ปิโตรเคมี และ Kedah Rubber City ในขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลาเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร ประมง อุตสาหกรรมสิ่งทอ  อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องเรือน อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

 

4.เชื่อมโยงด่านชายแดน ไทยกับมาเลเซียมีการเชื่อมโยงชายแดน 9 ด่าน แต่ด่านที่มีมูลค่ามากสุดคือด่านในจังหวัดสงขลา (สะเดาและปาดังเปซาร์) IMT-GT จะทำให้มีการอำนวยความสะดวกตรงชายแดนมากขึ้น 5.เชื่อมโยงน้ำมันปาล์มยั่งยืน เมเลเซียเพนนินซูล่ามีสัดส่วนผลผลิตร้อยละ 45% ของทั้งประเทศ ที่เหลือปลูกในซาราวักและซาบาร์ โดยรัฐเปรักมีสัดส่วน 7% เคดะห์ 1.5% ในขณะที่ภาคใต้ สัดส่วนผลผลิต 85% (สงขลาและพัทลุง 3%  สุราษฎร์ธานี 22% กระบี่ 21% และชุมพร 18%)

"IMT-GT" กับการพัฒนา  "อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอาเซียน"

การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมปาล์มใน EC1 เกษตรกร 3 ประเทศสามารถสร้างมาตรฐานปาล์มยั่งยืนเดียวกันภายใต้ชื่อใหม่  “IMTSPO (Indonesia Malaysia Thailand Sustainable Palm Oil)” ที่ปัจจุบันสวนปาล์มไทยได้มาตรฐานเพียง  1% ในขณะมาเลเซียได้มาตรฐานปาล์มยั่งยืนมาเลเซีย (MSPO) ครบ 100% เมื่อปี 2020 และมาตรปาล์มยั่งยืนอินโดนีเซีย (ISPO) ปี 2022 จะครบ 100%

6.เชื่อมโยง พลังงานชีวมวล (Biomass) เพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี่ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากของเหลือใช้จากปาล์มและแนวทางปฎิบัติที่ดี (Best Practice) ของมาเลเซีย 7.เชื่อมโยงผลผลิตปาล์ม (CPO) เพื่อ “อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัล” 8.เชื่อมโยง โอเลโอเคมีคัลขั้นพื้นฐาน เพื่อ"อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัล"ที่ประเทศไทยผลักดัน 9.เชื่อมโยงสารหล่อลื่นชีวภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และ 10. เชื่อมแนวคิดของ BCG เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาปาล์มของ 3 ประเทศ